editorial note: บทความนี้คือบทความพิเศษ (ที่เราเรียกว่า Guest Post) จาก @Jimmy_Live (ที่เจ้าตัวออกปากว่ามันคือบทวิพากษ์ปากหมา) โดยส่งมาให้กองบรรณาธิการ thumbsup อัพโหลดขึ้นให้ชาว thumbsup โดยเฉพาะ สิ่งที่ @Jimmy_LIVE เขียน ไม่สะท้อนแนวคิดของกองบรรณาธิการ thumbsup เป็นเพียงมุมมองของคนที่ชอบแทนตัวเองอย่างถ่อมตัวว่า “โปรแกรมเมอร์” คนหนึ่ง แต่เราเชื่อว่าแฟนๆ หลายคนของเขาทราบดีว่าเขาคือใคร และเราก็อยากจะบอกว่าความเห็นของเขาเป็นความเห็นที่น่าสนใจและมีสไตล์ขวนติดตามเป็นอย่างยิ่ง ว่าแล้วก็อ่านกันได้โดยพลัน
– – – – –
ข้อตกลงในการอ่าน
บทความของ @Jimmy_LIVE ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัว เป็นบทวิพากษ์ จะถูกจะผิดก็เป็นความเห็นส่วนตัว และทุกความเห็นก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต เพราะโลกของเทคโนโลยีย่อมเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป ไม่แน่นอน ศาสดาก็ป่วยไข้ไปผ่าตัดได้ ดังนั้นโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน หากอ่านแล้วไม่สบายใจวิธีแก้มีทางเดียวคือเลิกอ่าน เพราะแม้ท่านจะเขียนหรือโทรกลับมาด่า ความเห็นก็ยังคงเป็นความเห็นของ? ณ เวลานั้นๆ ไม่เปลี่ยนแปลง…โปรดอย่าเสียเวลาของทั้งสองฝ่ายไปกับการโต้เถียง…
อะไรคือ Smart Devices (ฟะ)
มันก็เป็นแค่คำเรียกรวมๆ ของ Smartphone กับ Tablet นั่นแหละ จะได้ไม่ต้องเรียกสองคำ เคยมีตา ฟิลิปส์ คานส์ คนดังได้บัญญัติคำว่า “Connected Information Device” ไว้เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งผมชอบคำนี้มาก แต่ไม่มีใครใช้ ก็เลยขอเรียกตามๆ กันไปว่า “Smart Devices” แปลง่ายๆ ก็คือ เครื่องโทรศัพท์ที่มันฉลาดๆ กว่าโทรศัพท์ทั่วไป ถ้าจอเล็กกว่า 5 นิ้ว ก็เรียกว่าสมาร์ทโฟน ถ้าจอใหญ่กว่า 5 นิ้ว ก็เรียกว่า Tablet (ถ้าจอ 5 นิ้วเป๊ะๆ เรียก Dell Streak เพราะบ้าทำมาเจ้าเดียว)
ยุคมืดของสมาร์ทโฟน
ขอเริ่มก่อนว่า Smartphone เนี่ย มันเริ่มขึ้นก็ตอนที่คนคิดว่า โทรศัพท์มือถือนี่มันควรมีซอฟต์แวร์ที่ใส่เพิ่มเข้าไปได้ แล้วสักวันหนึ่งมันก็จะเก่งเท่าๆ กับคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ตัวใดสามารถรันซอฟต์แวร์ได้ ก็เรียกว่าสมาร์ทโฟน… ตอนแรกๆ มันก็ใช้ซอฟต์แวร์ได้จำกัดแค่ตัวเล็กๆ นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ สองเจ้าที่ดูจะมีภาษีกว่าเพื่อนในยุคนี้คือ โนเกีย กับ ไมโครซอฟต์ ต่างก็มีข้อดีของตน
โนเกีย ดีตรงที่มีจำนวนโทรศัพท์ที่ขายออกไปเยอะ และมี OS ของโทรศัพท์ชั้นเทพที่เรียกว่า Symbian เป็น OS ที่ออกแบบมาอย่างดี ใช้ไฟน้อย ซีพียูต่ำ ทำงานได้เสถียร แต่มีข้อเสียตรงที่เขียนโปรแกรมยากมาก โปรแกรมเมอร์คนใดอุทิศตัวให้ Symbian ในยุคนั้น ต้องเฆี่ยนตัวเองก่อนทำงาน เพราะการเขียน Symbian มันคือการทำร้ายตัวเองดีๆ นี่เอง…
อีกเจ้าคือไมโครซอฟต์ เจ้านี้มีข้อดีคือเขียนโปรแกรมง่าย คนเขียนออกมาเยอะแยะ แต่ระบบผูกขาดการขายของเว็บซอฟต์แวร์ใน Windows Mobile ของไมโครซอฟต์ไม่เอื้อต่อนักพัฒนา ไม่นานก็เต็มไปด้วยโปรแกรมห่วย ที่คอยแต่ปรับหน้าตาของ home screen บ้าบอเต็มไปหมด
คนใช้สมาร์ทโฟนยุคแรกๆ ก็ไม่ได้ใช้ซอฟต์แวร์อะไรมากมาย เล่นเกมก็นิดๆ หน่อยๆ โปรแกรมก็โหลดๆ มา ดูสองสามที แล้วก็ใช้สมาร์ทโฟนแบบโฟนธรรมดาไป
ยุคใหม่อันสว่างไสวของสมาร์ทโฟนเริ่มที่ไอโฟน
จู่ๆ อีตาสตีฟ จ๊อบส์ ศาสดาของใครหลายคน ก็ออกไอโฟนออกมา แหกข้อจำกัดของสมาร์ทโฟนทั้งหมดไป ใช้จอใหญ่ มีมัลติทัช มีความสามารถสูงเทียบเท่าคอมพิวเตอร์จริงๆ ตอนแรกทั้งโนเกียและไมโครซอฟต์และบรรดาลิ่วล้อก็กระแนะกระแหนว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้หรอก” เพราะมันเปลืองแบตเตอรี่ แต่แล้วบรรดาผู้ใช้ก็ตัดสินให้ว่า ไอโฟน นี่แหละคือสมาร์ทโฟนที่คนทั้งโลกรอคอย
ยุคใหม่ก็ เริ่มขึ้น อย่างที่เราๆ ท่านๆ ทราบดีอยู่แล้ว… ทีนี้เมื่อมีผู้นำ ก็ต้องมีผู้ตาม และการแข่งขันเสมอ เมื่อศาสดาไม่ยอม License ไอโฟนให้คนอื่นผลิต แน่นอนว่าคนอื่นก็อยากมีส่วนในตลาดนี้ เพราะเห็นชัดว่าเป็นตลาดที่กำลังจะโต ก็เลยเกิดคู่แข่งขึ้นมากหน้าหลายตา ทั้งรายเก่ารายใหม่ เต็มไปหมด
อนาคตของสมาร์ทโฟนจะเป็นยังไง
เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก และเป็นหัวข้อของบทความนี้ สมาร์ทโฟนแต่ละเจ้าก็มีสาวกของตัวเอง ถกเถียงกันอยู่ทุกวัน ไม่มีใครยอมใคร ต่างก็หาเหตุผลเข้าข้างตัวเองไปว่าของตัวเองดี ของคนอื่นน่ะมีแต่จะเจ๊งกับเจ๊ง เถียงกันไม่สิ้นสุด
ผมเป็นคนชอบวิพากษ์ปากหมามันเรื่อยไป ก็เลยอดรนทนไม่ได้ ต้องเขียนบทความนี้ขึ้นมา เผื่อว่าจะได้เป็น “กูรู้” ไปกับเขาบ้าง…
Apps คืออนาคต?
หลายคนบอกว่า Apps คืออนาคตของสมาร์ทโฟน สมาร์ทโฟนก็คืออนาคตของ Apps เพราะความสำเร็จของไอโฟนนั้นหลายคนมองว่ามาจาก Apps ล้วนๆ แน่นอนว่าต้องตีความแบบนั้น เพราะไอโฟนได้ก่อให้เกิดตลาดของ App ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยมีมา เป็นตลาดที่ไม่เคยมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์หน้าไหนเคยจินตนาการมาก่อน อยู่ๆ ก็กลายเป็นตลาดขนาดใหญ่บิ๊กเบิ้ม ทุกคนก็แห่กันเข้ามาขุดทอง พัฒนา App กันขนานใหญ่ จำนวนซอฟต์แวร์หลายแสน กับยอดดาวน์โหลดแตะหมื่นล้านครั้ง
สมาร์ทโฟนหลายเจ้าก็พยายามแข่ง ทั้งจ้างทั้งผลักดัน ให้นักพัฒนาเร่งพัฒนา App เข้าไปใน platform ของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ตรงนี้มันก็ถูกที่ว่าถ้าสมาร์ทโฟนใดไม่มี App เลยก็คงเจ๊งแน่ แต่การมีมากๆ อาจไม่ใช่คำตอบของการแข่งขันเสมอไป…
สิ่งที่ทุกคนใช้ในสมาร์ทโฟนที่นอกเหนือจากเกมแล้ว คือ “Service” ซึ่งมันเป็นซอฟต์แวร์บวกกับบริการ โดยมีมุมการใช้ที่แตกต่างกันไปตาม App เช่น Facebook ถ้าใช้ในเว็บจะมีมุมการใช้อยู่มุมเดียว แต่ปัจจุบันมีการใช้ Facebook ผ่าน App ต่างๆในหลายมุม จำนวน App ที่ทำงานเป็น Facebook ไม่ใช่คำตอบ แต่จำนวน Service ที่ App สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับ Facebook ต่างหากที่เป็นคำตอบ…
เจ้าไหนจะครองตลาด
ใครๆ ก็อยากรู้ว่าเจ้าไหนในอนาคตจะครองตลาด ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผมขอให้ดูหน่อยว่าแต่ละเจ้ามีอะไรในมือบ้าง
* Apple มี iPhone, iPad, Mac Book Pro, iMac, Apple TV
* Google มี Android Phone, Android Tablet, Chrome Netbook, Google TV
* Microsoft มี Windows Phone 7, Windows 7 Tablet, Windows 7 PC, Xbox
* RIM มี BB, Playbook
* Nokia มี Symbian Phone, Maemo Tablet ซึ่งกำลังจะกลายเป็น MeeGo Tablet, MeeGo Netbook
* HP มี WebOS phone, WebOS tablet
จะเห็นได้ว่าทุกเจ้าเล่นมากกว่าสมาร์ทโฟน ทุกเจ้าอย่างน้อยต้องมีทั้ง สมาร์ทโฟน และ แท็บเล็ต หลายเจ้ามี เน็ตบุ๊ก โน๊ตบุ๊ก พีซี เรื่อยไปจนถึง Set-top Box และ เครื่องเล่นเกม และทุกๆ เครื่องที่กล่าวมากำลังจะใช้สูตรสำเร็จสูตรเดียวกันคือ “App”
ส่ิงที่ทำให้ตลาด Smart Devices ต่างจากพีซีคือ คงไม่มีทางที่จะมี platform ใดที่ครองตลาดได้แบบ Windows อีกแล้ว เพราะสมัยก่อน Microsoft เล่นวิธีที่ทำให้ ซอฟต์แวร์ นั้นไม่สามารถ share ข้อมูลข้าม platform ได้ง่าย ใครจะไปใช้ Linux ก็ปวดหัวทุกครั้งที่เจ้านายส่งไฟล์ Word มาให้
ซอฟต์แวร์ของ Smart Devices นั้น ส่วนใหญ่ผูกกับ services บน cloud ซึ่งไม่จำกัดว่า Client ต้องเป็นอะไร การผูกขาดซอฟต์แวร์ด้วย platform จึงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแต่ละ platform สามารถเติบโตได้อย่างอิสระ ต่างจากตลาดพีซีไปโดยสิ้นเชิง
นอกจากนี้บรรดาผู้ผลิตซอฟต์แวร์เองก็ไม่รังเกียจที่จะพัฒนาพร้อมกันไปหลาย platform เพราะเครื่องมือพัฒนาในปัจจุบันนี้ดีขึ้นมาก เกมดังๆ ซอฟต์แวร์ดังๆ แทบทุกตัว ในเวลานี้ต่างก็สามารถรันได้หมดทุก platform
ดังนั้นการเติบโตของสมาร์ทโฟนจึงไม่ได้ถูกจำกัดด้วยซอฟต์แวร์…ทุกเจ้าต่างก็มีโอกาสไม่น้อยไปกว่ากัน
ทิศทางการพัฒนาสมาร์ทโฟน
จะเห็นได้ว่าการพัฒนาสมาร์ทโฟน (และแท็บเล็ต) ในสามปีที่ผ่านมานั้น ทุกเจ้าใช้ Apple เป็นตัวนำ เรียกง่ายๆว่าตามลอกมันไปนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็น Multi-touch screen, Accelerometer, Compass, รูปแบบซอฟต์แวร์, หน้าตา, Features จนเกิดการฟ้องร้องกันนัวเนียไปหมด
Apple นั้นมีข้อได้เปรียบคือ iOS นั้นพัฒนาจาก OS X โดยตรง เป็น OS ที่มีความเสถียรสูง และพัฒนาส่วน UI มาอย่างดี Cocoa Touch นั้น มีความสมบูรณ์มาก ทำให้ Native apps ของ iOS นั้นวิ่งได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเจ้าอื่น
แต่ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย การที่ Apple fix ขนาดหน้าจอมานาน จะทำให้ขยับยากมาก เพราะซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ในตลาดไม่ได้ทำ Layout manager ที่ดีพอ การเปลี่ยนขนาดจอแต่ละครั้งจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในตลาดซอฟต์แวร์ได้มาก ยกเว้นใช้ double resolution แบบที่ใช้ใน retina display ของ iPhone 4
หลายๆ เจ้าได้เปรียบตรงที่มีหน้าจอหลายขนาดมาก่อน หรือมุ่งไปทาง web layout เลย เช่น Qt Quick ของ Nokia การปรับขนาดหน้าจอจะทำได้ง่าย ซอฟต์แวร์ไม่เดือดร้อนมาก ดังนั้นทุกฝ่ายจะชู Tablet 7 นิ้ว เพราะเชื่อกันว่าเป็นจุดอ่อนของ Apple ซึ่ง Apple เองก็แก้ตัวขุ่นๆ ว่าวิจัยมาแล้ว ต้อง 9 นิ้วเท่านั้นถึงจะเวิร์ค
จุดนี้เป็นจุดที่ชัดที่สุดที่ไม่มีใครยอมตาม Apple เพราะทุกเจ้าออกขนาดหน้าจอของ Tablet ออกมาแทบทุกขนาดที่เป็นไปได้ ขณะที่ Apple ไม่ยอมขยับ
ปัญหาตอนนี้ที่หนักหนาคือการที่ อีตาจ๊อบส์ ศาสดาของสาวกแอ๊บเปิ้ล เกิดลาป่วยแบบไม่มีกำหนด หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมสูง เพราะแนวโน้มการ “แหกคอก” จากแนวทางของ Apple ในการพัฒนา Smart Device จะสูงขึ้นอย่างมากในอนาคตอันใกล้
การพัฒนา Smart Device จะเริ่มขาดทิศทางแน่นอน จะเห็นเครื่องใหม่ๆแปลกๆ ทั้งดีทั้งห่วยออกมาอีกมาก และทุก platform จะเติบโตขึ้นพร้อมๆ กัน การแข่งขันจะเป็นแบบใครดีใครอยู่ ทุกคนกำลังแย่งชิงในตลาดที่กำลังจะโต โดยตลาดแย่งส่วนแบ่งมาจากทั้งตลาดโฟน และตลาดพีซีเดิม
เรื่องนี้กำลังเป็นเรื่องที่นักพัฒนากำลังสนใจ….
จบดื้อๆ นะครับ เพราะจบไม่เป็น…สัปดาห์หน้าเจอกันใหม่