ผมชักสนุกกับการแนะนำบริษัท startup ในเมืองไทยแล้วสิครับ ช่วงนี้มีมาเรื่อยๆ เลย เป็นเรื่องที่น่ายินดีจริงๆ
ใครที่เคยเห็นเว็บไซต์ threadless.com ชุมชนคนออกแบบเสื้อยืดชื่อดังของอเมริกา ที่เปิดให้ผู้ใช้ในเว็บไซต์เข้าไปออกแบบเสื้อยืดลายของตัวเอง จากนั้นก็ให้สมาชิกในเว็บไซต์โหวตกันว่าอันไหนที่ควรจะผลิตออกมาขาย ล่าสุดเมืองไทยมีคนนำเอาคอนเซ็ปต์คล้ายๆ กันมาทำเป็นบริการในภาษาไทยแล้ว นั่นก็คือ Wearcase.com เว็บไซต์ที่เกิดมา เพื่อเป็นสถานที่สร้างสรรค์เสื้อยืดที่มีเอกลักษณ์และมีคุณค่าที่แตกต่างจากปกติทั่วไป ทางทีมงานระบุว่า “อยากให้เพื่อนๆ ที่มองหาความไม่เหมือนใคร ได้ใส่เสื้อยืดที่โดดเด่นและมีจำนวนจำกัดกันในราคาที่สมเหตุสมผล”
Wearcase.com เพิ่งคลอดวานนี้ จากฝีมือของ 3 หนุ่ม อรรถพร ชาญประโคน (ออฟ) นัฐพล หทัยนิรมล (ออฟ) และ ณัฐพล กิตติสุพัฒน์ (ฮอน)
เนื่องจาก Wearcase เป็นคอนเซ็ปต์ที่ค่อนข้างใหม่ในเมืองไทย เราจึงอยากจะใช้คำอธิบายจากทางเว็บไซต์ระบุไว้ตรงนี้ อาจจะดูเป็นโฆษณาสักนิด แต่ก็อ่านเข้าใจชัดเจน
“Wearcase เป็นพื้นที่แห่งจินตนาการและความเป็นเอกลักษณ์ เพื่อนๆ นักออกแบบสามารถสร้างสรรค์ผลงานลายเสื้อส่งเข้ามาได้ และผลงานของเพื่อนๆที่โดดเด่นจะกลายเป็นเสื้อที่จะได้วางขายจริงๆ นอกจากเรื่องของความสวยงามที่โดนใจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญคือ เสื้อยืดแต่ละผลงานจะขายในเวลาจำกัด ถ้าหากพลาดช่วงนั้นไปแล้วก็ยากที่จะหาซื้ออีกได้”
ประโยชน์ที่ชัดเจนของ Wearcase ก็คือมันจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดเสื้อยืดมากมายที่ชุมชนร่วมกันออกแบบ คุณก็ซื้อไปใส่ได้ไม่ต้องกลัวว่าจะโหล และสร้างรายได้ให้กับกราฟฟิกดีไซเนอร์ได้ในเวลาเดียวกัน
เราได้สอบถาม อรรถพร ชาญประโคร (ออฟ) ถึงรายละเอียดว่ามันแตกต่างจาก Threadless อย่างไร
มันต่างกับ Threadless อย่างไร?
Threadless ปกติจะเป็นประกวดหา winners แล้วให้เงินรางวัล แต่ตอนนี้ที่ผมใช้คือแค่จำนวน Facebook like ถึงที่กำหนดไว้ก็มีสิทธิ์ถูกเลือกมาทำเป็นสินค้าได้ แล้วเรื่องผลตอบแทนให้ศิลปินผมให้เป็น % จากกำไรหลังหักค่าใช้จ่าย 40% แทนที่จะให้เงินรางวัล แล้วก็เพิ่มเรื่อง Time limited ของสินค้าเพื่อให้เสื้อไม่เกร่อมากครับ (ส่วนแบ่ง 40% จากกำไรในการขายภายใน 7 วัน หลังจากหมดเวลาขาย)
ลายเสื้อที่ได้รับการโหวตถึง 50 like ทางเราจะทยอยนำมาทำเป็นเสื้อจริงๆ ให้ เป็นช่องทางขายให้ แล้วหลังจากหมดเวลาการขายของเสื้อลายนั้นๆ แล้วก็จะแบ่งผลตอบแทนให้กับเจ้า ของลายครับ 40% เจ้าของลายได้ไปครับ ทางผม 60%
ศิลปินน่าจะได้มากกว่าคุณนะ 60 สำหรับศิลปิน คุณเอาไปแค่ 40 น่าจะเหมาะกว่าไหม?
ทางผมทดเรื่องค่าความเสี่ยงนิดนึงครับ แล้วก็จริงๆ ผมมองว่าถ้าเทียบกับการคัดหาผู้ชนะเลิศสองคนแล้วสองคนได้เงิน รางวัลแล้วจบกันไป กับการที่ผู้ใช้ส่งลายมาถ้ามีคนถูกใจก็มีสิทธื์รับส่วนแบ่งได้เรื่อยๆ หลังการขาย ผมคิดว่าแบบหลังน่าจะเข้าถึงง่ายมากกว่า ถือว่าเยอะกว่าการให้รางวัลเป็นเงินทีเดียวจบนะครับ
นอกจากนี้ก็ยังมีการเอาดีไซเนอร์ที่ได้ลองส่งลายเข้าไปและเริ่มขายแล้วมาสัมภาษณ์ให้เกิดแรงบันดาลใจ ณ ตอนนี้เราเข้าไปดูยังไม่มีลายเสื้อเข้ามาเยอะมากนัก แต่ทางทีมงานบอกกับเราว่ากำลังส่งกันเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ และคนที่ไม่ได้เป็นนักออกแบบก็ยังสามารถร่วมโหวตได้