อย่างที่เราเคยรายงานไปแล้วว่ายอดขาย ebook ในปัจจุบันสูงจนแซงหน้าหนังสือจริงไปแล้วบน Amazon ล่าสุดที่เราทราบเพิ่มเติมมาก็คือเริ่มมี “นักเขียนอิสระ” ซึ่งไม่มีสังกัด ไม่มีสำนักพิมพ์คอยช่วยขายบางคนขายอีบุ๊คได้เกิน 1 ล้านเล่มแล้ว หรือว่าธุรกิจสำนักพิมพ์อาจจะต้องจับตาความเปลี่ยนแปลงนี้?
ใน Amazon จะมีการเรียกขานนักเขียนที่ขาย ebook ได้สูงเกินล้านเล่มว่า “Kindle Million Club” ซึ่งจะรวมนักเขียนอเมริกันที่มีชื่อเสียงอย่าง Stieg Larsson, James Patterson, และ Nora Roberts แต่นักเขียนเหล่านี้ก็จะมีต้นสังกัดคอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลังอยู่แล้ว ล่าสุดพบว่า มีไร้สังกัดที่ชื่อว่า “John Locke” อายุ 60 ปีอดีตพนักงานขายประกันจากเคนตั๊กกี้? เขาไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อนเลย แต่ John ก็ขายหนังสือผ่าน Amazon ได้ถึง 1 ล้านชุดแล้ว เรื่องนี้ไม่ธรรมดา เพราะนักเขียนมักจะได้รับแรงหนุนจากสำนักพิมพ์ในการทำการตลาดช่วยให้ขายได้ แต่ John ไม่มีแรงหนุนดังกล่าวก็สามารถขายได้เกินล้านชุด
แทนที่จะพิมพ์และจ่ายค่าต๋งให้สำนักพิมพ์ใหญ่ เพื่อทำการตลาด ออกทัวร์โปรโมทหนังสือ หาทางวางหนังสือในจุดเด่นๆ ของร้าน John ก็ขาย ebook ผ่าน Amazon ไปได้ 1,010,370 ชุด โดยใช้ระบบ Kindle Direct Publishing เข้าไปขายใน Amazon store ได้ตรงๆ ไม่ต้องทำการตลาดและหาสำนักพิมพ์ใดๆ
หนังสือของนักเขียนรายนี้เป็นเรื่องอาชญากรรมและผจญภัย อย่างเรื่อง Vegas Moon, Wish List, รวมถึงหนังสือที่ขายดีติดอันดับ the New York Times E-Book Bestseller อย่าง Saving Rachel โดยสนนราคาเล่มละ 99 เซนต์ หรือราว 30 บาท โดยเจ้าตัวออกมาบอกว่าเขาทำรายได้เน็ตๆ เนื้อๆ เข้าตัวเองเล่มละ 35 เซนต์ (ประมาณ 10 บาท) จากหนังสือทุกๆ เล่ม ซึ่งรายได้แบบนี้สำนักพิมพ์อาจไม่มีใครทำ
Locke เลยชักสนุกออกหนังสือ How I Sold 1 Million E-Books in 5 Months ออกมาเสียเลย แม้ว่าชื่อหนังสือพวก “รวยด้วย Google” “สู้แล้วรวย” อะไรพวกนี้อาจจะไม่ได้ใหม่อะไร แต่มันก็น่าสนใจตรงที่นักเขียนคนนี้ไม่ได้มีต้นสังกัด แถมทำได้ในระยะเวลาเพียง 5 เดือน สิ่งเหล่านี้มันกำลังจะบอกอะไร หรือมันกำลังจะบอกว่า Amazon กำลังกินและรุกเข้าไปในตลาดสำนักพิมพ์? แล้วระบบบรรณาธิการล่ะ จะมีต่อไปหรือไม่?
ในความสำเร็จครั้งนี้ก็มีหลายคนออกมาให้ความเห็น อย่าง Amanda Hocking และ Mathew Ingram ว่านี่เป็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงทางด้านธุรกิจสิ่งพิมพ์ และการทำ “self-publishing” จะเป็นที่นิยมมากขึ้นหากความสำเร็จนี้เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก
ในความเห็นของผู้แปล เรื่องนี้ก็น่าสนใจไม่ใช่น้อยเลย เพราะที่จริงทุกวันนี้นักเขียนจำนวนมากต้องอยู่ในระบบธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่มีต้นทุนทางธุรกรรมสูงมาก ลองนึกภาพดูว่าเมื่อนักเขียนเขียนต้นฉบับเสร็จแล้ว ต้องส่งไปเข้ากระบวนการบรรณาธิกร ต้องออกแบบปก ขอ ISBN เข้าเล่ม ตีพิมพ์ จ่ายค่าขนส่ง (ซึ่งตรงนี้ล่ะที่ว่ากินเงินไปถึง 60-70%) แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณมีต้นฉบับ ตรวจเอง แล้วสามารถขายได้เองเลยโดยไม่ต้องผ่านสำนักพิมพ์? สิ่งที่เราต้องการคือเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากเพียงพอที่จะช่วยให้นักเขียนขายหนังสือได้ ในเมืองไทยผมลองสืบๆ ดูแล้วก็เริ่มมีหนังสือไทยของ “นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์” ไปขายใน Amazon บ้างแล้วแต่รู้สึกว่ายังไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้
ที่มา: ReadWriteWeb