เห็นระยะหลังมีโฆษณาบินว่อนอยู่บน Twitter ไทยค่อนข้างมาก ทำให้ผมแอบคิดดังๆ ว่าโลกนี้มีการกำกับดูแลเรื่องแนวนี้หรือไม่ สืบๆ ไปก็พบว่ามีครับ! เมื่อ Federal Trade Commission (FTC) ในอเมริกา และ Office of Fair Trading (OFT) ในอังกฤษ ซึ่งเป็นคณะกรรมการการค้าของรัฐบาลที่ทำหน้าที่พิจารณากฏหมายและควบคุมการแข่งขันทางการค้าที่ไม่ยุติธรรม ได้ออกมานำเสนอแนวทางเกี่ยวกับการรับจ้างเชียร์สินค้าและบริการต่างๆ ผ่านทาง Twitter ของเหล่าบรรดาเซเล็บฯ ทั้งหลาย มาดูกันก่อนว่าเมืองนอกเขามีความเคลื่อนไหวอย่างไรในเรื่องนี้
“โฆษณาออนไลน์และการตลาดที่ไม่เปิดเผยว่าคนทวีตได้รับเงินเป็นการตอบแทนสำหรับการประชาสัมพันธ์ถือว่าเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค ภายใต้กฏหมายการค้าที่เป็นธรรม (fair trading laws) และยังรวมไปถึงการออกความเห็นเกี่ยวกับสินค้าและบริการบนเว็บไซต์ บล็อก และบริการ Microblog อย่าง Twitter ด้วย… เรามองว่ากิจกรรมโปรโมทออนไลน์ก็เหมือนกับกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องมีการทำให้ชัดเจนว่าอันไหนเป็นความเห็นเชิงบรรณาธิกร และอันไหนที่รับเงินมา ผู้บริโภคจะได้ไม่หลงผิด? โฆษกของทาง OFT กล่าว
ในรายงานข่าวได้ระบุว่ามีกรณีที่นักแสดงและนางแบบชื่อดัง Elizabeth Hurley และนักออกแบบแฟชั่นอย่าง Henry Holland ทวีตออกความเห็นเกี่ยวกับสินค้า แต่พอนักข่าวถามลึกๆ เข้า ทางโฆษกของ OFT ก็กล่าวว่า ?เราไม่ได้มาคอยตามดูตลอดทั้งอินเทอร์เน็ตว่าบล็อกเกอร์แต่ละคนทำอะไร” เข้าทำนองว่าไม่ได้ทำอะไรเป็นกิจจะลักษณะถึงขั้นทำเป็นกฏหมายออกมานั่นเอง
แต่ถึงจะไม่ทำเป็นกฏหมาย ในปี 2553 ทาง OFT เองก็เคยสืบสวนบริษัท Handpicked Media Limited ซึ่งเป็นเอเยนซี่โฆษณารายหนึ่งที่ดูแลบล็อกที่นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งท้ายสุด Handpicked Media ก็ยอมที่จะใส่คำเตือนให้ผู้อ่านทราบว่าเนื้อหาทั้งหมดได้รับการสนับสนุนเป็นเงินจากสปอนเซอร์? แต่กระนั้นมันก็ไม่เวิร์คสำหรับเหล่าเซเล็บฯ คนดัง และทาง Handpicked Media ก็ยังให้ความเห็นอีกว่าทาง OFT ควรจะออกมาให้แนวทางที่ชัดเจนและเหมาะสมกว่านี้ และออกความเห็นว่ามันอาจจะยากไปสักหน่อยที่ OFT จะมาออกกฏเกณฑ์อะไรในการที่เหล่าเซเล็บจะทวีตโฆษณาบน Twitter? ก่อนจะกล่าวปิดท้ายว่า “คุณจะคอยมอนิเตอร์ Justin Bieber หรือยังไง? มันควบคุมไม่ได้หรอก”
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ OFT ออกมาขยับ ผลที่ออกตามมาก็คือ ผู้ใช้ Twitter บางคนเริ่มที่จะใส่ hash tag #spon เมื่อจะทวีตข้อความใดๆ ที่รับเงินเขามา หรือบางคนก็เริ่มใช้ #paid เมื่อได้เงินจากทวีตนั้น และใช้ #samp เมื่อได้รับตัวอย่างผลิตภัณฑ์ (sample product) มาให้เราทดลองใช้แลกกับการทวีต
งานนี้ดูเหมือนจะไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสักเท่าไหร่ ส่วนตัวผมคิดว่าเมืองไทยเองก็คงยังไม่มีคำตอบอะไรที่ชัดเจนในเรื่องนี้ แล้วคุณล่ะครับ คิดว่าเมืองไทยควรจะมีการควบคุมการทวีตของเหล่าเซเล็บฯ หรือไม่ ถ้าใช่ควรจะเป็นใคร เพราะถ้าควบคุมมันก็จะช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่าอะไรเป็นโฆษณา อะไรเป็นความเห็นของบรรณาธิการ หรือคุณว่าตอนนี้มันไม่มีใครคุมอะไรได้ ก็ปล่อยมันต่อไป? แชร์กับเรานะครับ
ที่มา: Wall Street Journal
ภาพ: Cultureandcommunication.org