ข่าวฝากประชาสัมพันธ์จาก “สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย” ที่คิดว่าชาวดิจิตอลทุกคนควรทราบ จึงนำมาเรียน thumbsuper ในที่นี้…
สืบเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดในประเทศไทย ส่งผลทำให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก มีการเร่งระดมความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย ท่ามกลางกระแสการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมาก ผ่านทางอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย สมาคมฯ เห็นว่า แม้สื่ออินเทอร์เน็ตจะเป็นสื่อที่ทำให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ถูกส่งต่อ แพร่กระจายได้รวดเร็ว กว้างขวาง เหมาะสมกับการใช้งานในช่วงสถานการณ์ที่ต้องการความเร่งด่วนเช่นนี้ แต่ด้วยคุณลักษณะของสื่อเอง ที่มีการสื่อสารหลายทาง และผู้ใช้งานมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูล จึงมีความจำเป็นที่ผู้ใช้งาน และผู้ดูแลเว็บ จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ อนึ่ง สมาคมฯ ขอความร่วมมือจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และผู้ดูแลเว็บ ดังต่อไปนี้
สำหรับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไป
1. การรับข้อมูลข่าวสาร – เมื่อได้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต และ/ หรือโซเชียลมีเดีย ควรใช้วิจารณญาณ และตรวจสอบที่มาของข้อมูลข่าวสาร ให้แน่ใจ โดยไม่ตื่นตระหนก
2. การส่งต่อข้อมูลข่าวสาร – เลือกส่งต่อเฉพาะข้อมูลข่าวสาร ที่ได้ตรวจสอบแล้วว่าเป็นความจริง ทราบที่มาของข้อมูลข่าวสารอย่างแน่นอนแล้วเท่านั้น การส่งต่อข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นถือเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550) มาตรา14 มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. การส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ? ควรระบุ เวลา สถานที่ แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารอย่างชัดเจน ภายใต้สถานการณ์ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ การระบุเวลาของเหตุการณ์ต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้รับสาร เพื่อให้ผู้รับสารได้เข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้องเป็นปัจจุบัน
4. การส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ? ไม่ควรส่งต่อข้อมูลการรับบริจาคผ่านทาง โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เนื่องจากเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพ บิดเบือนข้อความ เช่นเลขบัญชีรับบริจาคแล้วทำการส่งต่อได้ง่าย หากมีความประสงค์จะเผยแพร่เลขบัญชีรับบริจาค ควรใช้วิธีการเผยแพร่ลิงค์ของหน้าเว็บเพจของหน่วยงานรับบริจาคที่เชื่อถือได้ ซึ่งมีข้อมูลเลขบัญชีรับบริจาคอยู่
5. การแจ้งเบาะแส ? หากพบเห็น หรือทราบเบาะแสการหลอกลวงเงินบริจาค ควรรีบแจ้งเบาะแสต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยทันที
6. การเตรียมความพร้อม ? หมั่นดูแลระดับพลังงานแบตเตอรี่ของอุปกรณ์สื่อสารให้อยู่ในระดับสูงสุดเสมอ เพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารได้อย่างอิสระ เป็นระยะเวลานาน ในกรณีที่ระบบไฟฟ้าถูกตัด หรือดับ
สำหรับผู้ดูแลเว็บ / Facebook page / Twitter ที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก
นอกเหนือจากการทำตามแนวปฏิบัติข้างต้นในฐานะผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไปแล้ว เนื่องจากข้อมูลข่าวสารที่ท่านเผยแพร่จะมีผู้ติดตามและอาจนำไปขยายผลส่งต่อเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ดังต่อไปนี้
1. การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางหน้าเว็บไซต์ / Facebook Page / Twitter ของท่าน ต้องตรวจสอบความถูกต้อง เวลา สถานที่ และเผยแพร่ข้อมูลอย่างมีความครบถ้วน ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งรายงานสถานการณ์และข้อมูลการรับบริจาค
2. ในกรณีที่เว็บไซต์มีเว็บบอร์ด กระดานสนทนาอยู่ในเว็บไซต์ ในฐานะผู้ดูแลเว็บควรหมั่นตรวจสอบการสนทนาเหล่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่า การนำข้อมูลข่าวสารมาเผยแพร่ผ่านระบบกระดานสนทนา ภายในเว็บไซต์ หรือ Facebook page ของเราให้มีความถูกต้องตามหลักการข้างต้น
3. ร่วมประชาสัมพันธ์ข้อมูล หรือเว็บไซต์อันเป็นประโยชน์ เพื่อช่วยให้ข้อมูลที่มาจากแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้กระจายไปสู่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง
ที่มา: สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย