สุดสัปดาห์ คงเป็นวันสบาย ๆ สำหรับการพักผ่อนของมนุษย์เงินเดือน (รวมทั้งผมด้วย) แต่สำหรับ thumbsup ไม่มีวันหยุดในการนำเสนอข่าวและบทความเพื่อนำมาให้ thumbsuper ได้อ่านกันเหมือนเดิม สำหรับวันนี้จะพูดถึงแอพพลิเคชันถ่ายรูปบนสมาร์ทโฟนที่ใครๆ ก็ต้องรู้จัก นั่นคือ Instagram?ที่ตอนนี้เจ้าของคือ Facebook?โดยจะพูดถึงการนำไปใช้งานทางธุรกิจด้วยแอพพลิเคชันตัวนี้ที่สามารถทำตามได้ไม่ยาก อยากให้อ่านและลองทำตามกันครับ
Instagram สำหรับการใช้งานของคนทั่วไปนั้นก็คือการเอามาถ่ายรูปสวย ๆ เพื่ออัพโหลดไว้อวดเพื่อน อวดคนบนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค ให้คนกด Like เยอะ ๆ หรือเข้ามาเขียนคอมเมนต์ในภาพ?แต่สำหรับในทางธุรกิจนั้นได้มีแบรนด์ระดับโลกหยิบเอา Instagram มาใช้ในการทำการตลาดและโปรโมทด้วยเช่นกัน คำถามพื้นฐานแต่สำคัญที่สุด สำหรับผู้ที่เริ่มเปลี่ยนจากการเล็งไปถ่ายรูป,ถ่ายวิว มาถ่ายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ นั่นคือ จะเพิ่มจำนวนคนเพื่อให้มาติดตามคุณได้เป็นจำนวนมาก ๆ ได้อย่างไร วันนี้เลยมี 7+1 ขั้นตอนหรือช่องทางในการเพิ่มจำนวนผู้ติดตาม (Follower) บน Instagram ครับ (ทำไมต้องบวกหนึ่ง ต้องติดตามครับ)
1. โปรโมท Instagram ช่องทางที่คุณมีอยู่แล้ว
Facebook, Twitter หรือ E-mail น่าจะเป็นช่องทางที่เจ้าของธุรกิจใช้เป็นช่องทางแรกๆ ที่ถูกใช้ในการโปรโมทสินค้าหรือบริการของคุณมาก่อนแล้ว ในเมื่อเราต้องการจะเพิ่ม Instagram เป็นอีก 1 ช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลสินค้าและบริการผ่านรูปภาพ เราจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือที่ใช้อยู่ก่อนหน้าช่วยในการโปรโมทอีกแรง ด้วยการแจ้ง username ที่เราทำไว้เฉพาะธุรกิจของเราใช้งานบน Instagram ไปยังช่องทางที่มีได้ ไม่ว่าจะบอกบน status หรือบนลายเซ็นต์ใน Email เป็นต้น ถือเป็นการใช้รายชื่อที่เรามีอยู่หลายช่องทาง มาเพิ่มในช่องทางใหม่ได้อย่างง่ายดาย
2. เอาใส่ใจเนื้อหาและหาคนดูแลโดยเฉพาะ
การโพสต์รูปแต่ละรูปบน Instagram ย่อมมีผลต่อผู้ติดตามที่รอชมภาพของเรา และส่งผลต่อความสนใจและการเข้ามาใช้บริการและสินค้าจากผู้ติดตามได้อีกด้วย ดังนั้นการจัดหาคนที่มาดูแลส่วนของ Instagram นั้นจะแตกต่างจากผู้ดูแลโซเชียลเน็ตเวิร์คทั่วไป เพราะนอกจากจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางด้านการจัดการในสังคมออนไลน์แล้ว ยังต้องมีความรู้และสนใจเกี่ยวกับการถ่ายภาพหรืออาจเป็นคนชอบถ่ายภาพด้วย เพราะการเลือกรูปโพสต์ลง Instagram?จากผู้ที่ดูแลต้อง “เตะตา” ผู้ที่ชมได้ทันทีที่ได้เห็น รวมทั้งให้รายละเอียดสิ่งที่เราต้องการสื่อสารและสอดคล้องกับภาพอย่างเหมาะสมและสามารถตอบคำถามแก่ผู้ทีเข้ามาถามได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย
3. วางแผนการโพสต์รูปหรือเนื้อหา
การโพสต์รูปส่วนตัวกับทางธุรกิจนั้นต่างกันครับ เพราะโดยปกติที่เราใช้งาน Instagram เราใช้ด้วยความเป็นส่วนตัว เราสามารถจะโพสต์ทุกๆ อย่างได้ที่เราต้องการอย่างไม่จำกัด แต่ในทางธุรกิจนั้นเราจำเป็นจะต้องวางแผนเพื่อให้คนที่ติดตามเราใน Instagram รู้สึกอยากติดตามไปเรื่อยๆ และสิ่งที่สำคัญคือความถี่ในการโพสต์รูปที่ไม่ควรทำรวดเดียวเป็นสิบสิบรูป แต่ควรวางแผนกำหนดเวลาที่ต้องการให้รูปขึ้นโดยดูตามเวลาที่จะมีคนใช้งานมากที่สุด และจำนวนรูปที่เหมาะสมในการโพสต์ไม่ควรเกิน 3-4 รูปต่อวัน
4. ใช้ Hashtag
ค้นหา hashtag ผ่านหน้าจอนี้เลย
หากคุณเคยใช้งาน Twitter มาบ้างจะคุ้นเคย Hashtag หรือ # ซึ่งประโยชน์ของมันคือสะดวกในการค้นหา รวมทั้งสามารถสื่อถึงแบรนด์หรือสิ่งที่เราต้องการได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องตั้งชื่อหลัง # ให้สื่อได้ถูกต้องรวมทั้งไม่ยาวจนเกินไปซึ่งจะง่ายต่อการจดจำและค้นหา เช่น ถ้าอยากทำแคมเปญอนุรักษ์โลก ก็อาจจะใช้ #<ชื่อbrand>saveworld ในคำอธิบายของภาพได้ เป็นต้น
5. สร้าง Event แจกรางวัลผ่านการแชร์รูป
การเล่นเกมชิงรางวัลหรือแข่งขันผ่าน Instagram จะคล้ายๆ กับที่มีกันอยู่บน Facebook และ Twitter ซึ่งอาศัยหลักการเดียวกันคือ ง่ายต่อการเข้าใจและเข้าร่วมเล่นเกมจากคนทั่วไปด้วยการถ่ายรูปสินค้าหรือสิ่งต่าง ๆ ตามที่เรากำหนด เพื่อกระตุ้นให้คนอยากที่จะเข้ามาเล่นโดยใช้ #hashtag มาช่วยในการค้นหา และสิ่งที่สำคัญ อย่าลืมตรวจสอบ?hashtag ที่จะเริ่มการชิงรางวัลว่าไปซ้ำกับคนอื่น ๆ หรือไม่ เพื่อที่จะให้ง่ายต่อการตรวจสอบและหาผู้ชนะนั่นเอง และอย่าลืมที่จะโปรโมทการชิงรางวัลในช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์คอื่นๆ ด้วยครับ เพื่อการบอกต่อ
6. หาผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ (Influencer) มาช่วยโปรโมท
สำหรับธุรกิจเริ่มต้น ในหัวข้อนี้อาจจะยากสักเล็กน้อยครับ แต่สำหรับแบรนด์ใหญ่ๆ ที่มีทุนหนาพอ สามารถว่าจ้างดาราหรือหาผู้ที่มีอิทธิพลบนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คที่สามารถจะบอกต่อว่ามี Instagram ของเราอยู่ หรือเรากำลังทำแคมเปญอะไรอยู่ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับคนทั่วๆ ไป
7. ใช้หน้าเว็บไซต์เพื่อเปิดดูภาพบนคอมพิวเตอร์
โดยปกติเราจะโพสต์รูปผ่านแอพพลิเคชัน Instagram ที่มีอยู่ทั้งบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต แต่หากเราจะติดตามดูความเคลื่อนไหวของภาพหรือ Hashtag ที่เราใช้ ทั้ง 2 ทางนั้นอาจจะไม่สะดวกนัก ดังนั้นหากเราจะดูผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์น่าจะสะดวกกว่ากันมาก ซึ่งเว็บไซต์ที่สามารถเข้าไปดูผ่านหน้า Browser เช่น Statigram, Followgram,?Instagrid?และ Webstagram เป็นต้น
7+1 (ข้อแถม)
สิ่งที่เราอาจจะละเลยแต่สำคัญอย่างยิ่งในการไปมีอีก 2 อย่างคือรูปภาพที่ใช้แทนแบรนด์ ควรจะสื่อกับแบรนด์โดยตรงซึ่งอาจเป็นโลโก้สินค้าที่สามารถเห็นได้ชัดเจน อีกสิ่งคือการเลือกชื่อที่จะเป็น Account ของเรา ควรที่จะมีชื่อที่ตรงกับแบรนด์และถ้าจะให้ดีควรใช้ชื่อเดียวกันกับที่เคยตั้งในโซเชียลมีเดียอื่นๆ เลย เพื่อความสะดวกต่อผู้ใช้งานและผู้ติดตามนั่นเอง
ตัวอย่างธุรกิจในเมืองไทยที่ใช้ Instagram
จากที่ได้ติดตามดูธุรกิจในเมืองไทยที่นำเอา Instagram มาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมากได้แก่ @club21thailand ซึ่งมีการนำขั้นตอนแทบทั้งหมดมาใช้งาน จะสังเกตเห็นได้ว่ามีการระบุช่องทางในการติดต่อกับทางร้านได้อย่างละเอียดและกระชับ และรูปภาพที่โพสต์ไว้ล้วนเป็นสิ่งที่ทางร้านต้องการจะบอกให้ผู้ติดตามได้รับรู้
ทั้งหมดนี้จะเป็นแนวทางและตัวอย่างในการใช้งาน Instagram สำหรับธุรกิจที่สามารถทำตามได้ไม่ยาก อยากให้ผู้ที่ทำธุรกิจลองหันมาใช้อีก 1 ช่องทางที่จะช่วยในการสื่อสารบอกต่อแบรนด์ของคุณด้วยรูปภาพและรูปถ่าย หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ
ที่มา: Social Fresh