เครื่องมือแปลภาษาบนโลกออนไลน์นั้นมีอยู่มากมาย ที่เรารู้จักกันดีก็เช่น Google Translate, Bing Translator เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ใช้ โปรแกรมในการช่วยแปล?และเมื่่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้รับคำแนะนำจากเพื่อนชาวญี่ปุ่นให้ลองใช้บริการที่นำแนวคิดของพลังมวลชน หรือ Crowd Sourcing มาช่วยในการแปลภาษา อันมีชื่อว่า conyac
conyac เน้นงานแปลประเภทที่สื่อสารกันสั้นๆ เป็นครั้งๆ ไป เช่น การติดต่อเพื่อซื้อขายของ, การส่งอีเมล เป็นต้น ฟังดูแล้วน่าสนใจไม่น้อย เลยถือโอกาสไปสัมภาษณ์เจ้าของบริกานี้ Tomohiro Onuma จาก anydooR Inc.
thumbsup: ได้ไอเดียนี้มาจากไหน
Tomohiro: Conyac เป็นบริการแปลภาษาครับโดยอาศัย Crowd Sourcing คือให้ผู้ใช้เข้ามาร่วมช่วยกันแปล ไอเดียนี้มาจากประสบการณ์โดยตรงที่ผมพบเจอเองหน่ะครับ โดยปกติแล้วใครๆ ก็อยากได้ผลของการแปลที่รวดเร็ว ราคาที่เหมาะสม พร้อมกับงานที่มีคุณภาพ ดังนั้นการนำ Crowd Sourcing มาใช้จึงเป็น สิ่งที่ช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ได้
thumbsup: กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่มาจากประเทศไหน
Tomohiro: นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว ลูกค้าของเราก็มีมาจากสหรัฐอเมริกา และจีน ครับ
thumbsup: ตอนนี้มีผู้แปล และลูกค้ากี่รายแล้ว และเป็นประเทศอะไรบ้าง
Tomohiro: ตอนนี้เรามีผู้แปลกว่า 7,000 รายและมีผู้ใช้บริการ 5,000 กว่ารายในระบบของเรา โดยแบ่งออกเป็น
ญี่ปุ่น 45%
จีน (รวมฮ่องกงและไต้หวัน) 18%
อินโดนีเซีย 15%
ไทย 10%
สิงคโปร์ 2%
อื่นๆ 10%
thumbsup: โมเดลธุรกิจการหารายได้ของคุณเป็นอย่างไร
Tomohiro: อธิบายเป็นลำดับขั้นตอนดังนี้ครับ ลูกค้าเริ่มเข้ามาซื้อเครดิตก่อน และใช้เครดิตนั้นในการส่งคำขอในการแปลงาน ซึ่งคำขอดังกล่าวจะถูกโพสในหน้าของผู้แปล โดยจะมีผู้แปลเข้ามาเลือกงานไป งานไหนที่แปลเสร็จแล้วจะมีการส่งเมลไปแจ้งยังลูกค้าผู้ขอ หลังจากผู้แปลได้รับเงิน Conyac จะได้รับค่า commission จากงานนั้นๆ
thumbsup: ปัจจุบันคุณทำการโปรโมตในต่างประเทศอย่างไรบ้าง
Tomohiro: เราอาศัยการโปรโมตผ่านทางสื่อออนไลน์ครับ ซึ่งเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ ทั้งการใช้ Facebook Ads, Google AdWords และ Social Media
thumbsup: ภาษาอะไรที่ได้รับความนิยมในการแปล
Tomohiro: ก็มี อังกฤษ <-> ญี่ปุ่น อังกฤษ <-> จีน อังกฤษ <-> อินโด ในขณะที่ อังกฤษ <-> ไทย ตอนนี้ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นครับ
thumbsup: ตอนนี้มีคนไทยใช้บริการนี้แล้วกี่คน
Tomohiro: ตอนนี้มีคนไทยที่ลงทะเบียนกับระบบของเราถึง 130 รายแล้ว และแนวโน้มก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ?ด้วย
thumbsup: คุณควบคุมคุณภาพในการแปลอย่างไร
Tomohiro: สำหรับใครที่ต้องการจะเข้ามาเป็นผู้แปลต้องแสดงตัวตนด้วย Facebook Account เรามีการจัดทำระบบและให้ผู้ใช้ร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องของคนอื่นๆ ด้วยครับ
thumbsup: ปัจจุบันได้รับเงินทุนจากที่ไหนบ้าง
Tomohiro: เราได้รับเงินทุนจาก Samurai Incubate ครับ และตอนนี้ก็กำลังขอระดุมทุนเพิ่มด้วยเช่นเดียวกัน
thumbsup: ใครคือคู่แข่งของคุณ
Tomohiro: จริงๆ บางคนก็คิดว่าไม่อยากจะจ่าย ก็ใช้บริการฟรีอย่าง Google Translate แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้มองเป็นคู่แข่งครับ เราพยายามที่จะแข่งกับตัวเองและทำบริการออกมาให้ดีที่สุดเพื่อลูกค้าของเรามากกว่า
thumbsup: อยากฝากคำแนะนำอะไรให้กับ Startup ไทยบ้าง
Tomohiro: ผมอยากเห็น Startup ไทยมาเปิดตลาดที่ญี่ปุ่นนะครับ ถ้ามีโอกาสน่าจะลองมาพูดคุยกันร่วมกันพัฒนาบริการกับทาง Conyac
~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~
Conyac ถือเป็นหนึ่งบริการที่นำแนวคิดด้าน Crowd Sourcing มาใช้ได้อย่างดี การวางตัวเป็นแพลตฟอร์มและอาศัยการหารายได้จากผู้ใช้บริการนั้นเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่หัวใจสำคัญที่จะทำให้ Conyac ยืนหยัดได้นาน คือ การรักษาคุณภาพของบริการเอาไว้ให้ดีที่สุด การมีระบบและกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนจะช่วยให้ส่วนรวมช่วยกันตรวจสอบและพัฒนาให้บริการแห่งนี้เติบโตและน่าเชื่อถือต่อไป
ว่าแล้วจะไปลองใช้บริการนี้ดูเสียหน่อย แล้วคุณหล่ะ สนใจเป็นผู้แปล หรืออยากเป็นผู้ใช้บริการนี้ดูบ้าง?