กลับมาพบกับบทความสัมภาษณ์ Startup กันอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งครั้งที่พิเศษมากๆ เพราะเป็น Startup ไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนโดย Y Combinator ซึ่งเป็น Accelerator ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่สนับสนุนเงินลงทุนแรกเริ่ม (Seed funding) ให้แก่เหล่าบรรดา Startup ปัจจุบันให้การสนับสนุนด้านเงินทุนมากกว่า 500 บริษัท อาทิเช่น Dropbox, Airbnb, Scribd, Reddit, Social Cam
เราไปพูดคุยกับเขาดีกว่าว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรถึงได้สามารถเข้าร่วมโครงการสนับสนุนกับ Accelerator ชื่อดังในสหรัฐอเมริกาได้
thumbsup: ก่อนอื่นช่วยแนะนำตัวเองสักหน่อย และที่มาที่ไปอย่างไรถึงไปอยู่ที่สหรัฐฯได้
ปรัชญา: สวัสดีครับ ชื่อ แบดด์ ครับ ปรัชญา ไพศาลวิภัชพงศ์ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในประเทศไทยจนมาถึงตอนเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงก่อนเรียนจบ ผมและเพื่อนในทีมได้ชนะรางวัลที่หนึ่งโลก Software Design ในงาน Microsoft Imagine Cup ปี 2007 ที่ประเทศเกาหลีใต้ ตอนนั้น Microsoft ประเทศไทยให้รางวัลด้วยการส่งไปดูงานที่ Microsoft สำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เผอิญพวกผมเอา Resume ติดมือกันไปด้วย เลยมีโอกาสได้สัมภาษณ์งานและทำงานที่ Microsoft ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมากครับ
ภายหลังจากนั้นอยากเห็นโลกกว้างมากขึ้น ก็ได้ย้ายไปที่ Google สำนักงานใหญ่ในซิลิคอนแวลลีย์ ฟีเจอร์ที่ผมพัฒนาใน Google คือ Media Ads เป็นโฆษณาในรูปแบบของวีดีทัศน์ ภูมิใจกับฟีเจอร์นี้เพราะเป็นโฆษณาที่บันเทิงมากผู้ใช้ชอบคลิกดูกัน และมันสร้างรายได้ให้ Google อย่างดี (ลิงค์ตัวอย่าง) ผมพึ่งออกจาก Google มาทำบริษัทของตัวเองได้ยังไม่ถึงปี ถ้าเทียบกับพี่ๆ เพื่อนๆ ที่อยู่ในไทย Startup ของผมก็ถือว่ายังอายุน้อย ยังไงถ้ามีอะไรอยากแนะนำก็เชิญแนะนำกันเข้ามาได้นะครับ
thumbsup: แล้วอะไรเป็นตัวตัดสินใจที่ทำให้ก้าวออกจากบริษัทใหญ่มั่นคงขนาดนั้น มามี Startup ของตัวเอง
ปรัชญา: ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ผมใฝ่ฝันอยากใช้ความรู้ความสามารถที่ตัวเองมีพัฒนาบริษัทซอฟท์แวร์เป็นของตัวเองมาตลอด ผมคิดว่าบริษัทของตัวเอง ถ้าไปได้ดีจะมีพลังในการสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคม และสามารถาควบคุมให้เป็นแบบที่เราอยากจะเป็นได้
การอยู่ใน Google ให้ความสะดวกสบายกับชีวิตดี แต่การสร้างบริษัทตัวเองต้องใช้เวลาและมีเรื่องภายนอกบริษัทอีกมากมายที่ต้องค้นหา Google เหมือนโรงเรียนสำหรับผม เราอยู่เพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในเวลาที่เรายังใหม่ในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเราพร้อมและมีโอกาสก็ต้องออกมาข้างนอกและมุ่งสู่เป้าหมายของเราต่อไป
thumbsup: Ready Graph คือบริการเกี่ยวกับอะไร? รูปแบบธุรกิจ? และอะไรคือจุดแข็ง
ปรัชญา: Ready Graph เป็นเครื่องมือทำ User acquisition และ engagement ผ่านทางโซเชียลสำเร็จรูป ถ้าใครจำตอนสมัคร Facebook Instagram ครั้งแรกได้ โปรแกรมจะให้ผู้ใช้ค้นหาเพื่อนๆ จากอีเมลลหรือโซเชียลอื่นๆ เพื่อดูว่าเพื่อนเราคนไหนใช้แอพฯ นี้อยู่บ้าง และสร้างเครือข่ายระหว่างเพื่อนๆ เหล่านั้นเพื่อใช้ในแอพฯ ต่อไป หลังจากนั้นก็ดึงคนกลับเข้ามาด้วยการส่งอีเมลลไปบอกเวลามีอะไรใหม่ๆ ReadyGraph ทำระบบทั้งหมดตรงนี้ให้เว็บไซต์สามารถนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาเขียนโค้ดเอง
จุดแข็งคือความง่ายในการติดตั้ง แค่ก๊อปสคริปไปแปะบนเว็บก็ได้ฟีเจอร์ที่มีประโยชน์ในการติดต่อกับผู้ใช้เข้ามาทันที ไม่ว่าจะเป็นการส่งอีเมลลต้อนรับ ค้นหาเพื่อนและชวนเพื่อนเข้าเว็บฯ แถบโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือกล่องส่งข้อความแจ้งข่าวสารทางอีเมลลให้กับผู้ใช้ทุกคนในเว็บฯ นั้น ซึ่งของทั้งหมดนี้เจ้าของเว็บฯ สามารถปรับแต่งข้อความให้เข้ากับเว็บฯ ของตนได้
ปัจจุบันเราเปิดให้ใช้ ReadyGraph ได้ฟรี แต่มีเครดิตเว็บไซต์ Ready Graph ติดไปด้วย หลังจากเริ่มทดลองให้คนเข้ามาใช้จริงตอนปีใหม่ ปัจจุบันมีเว็บฯ นำไปใช้จำนวนหลักพันและมีลูกค้าบางรายเซ็นต์สัญญาจ่ายเงินเพื่อเอาระบบไปใช้ โดยขอความสามารถในการดัดแปลงหน้าตาใหม่อีกด้วย ในแง่ Business Model อื่นๆ ในอนาคตมีความเป็นไปได้หลายแบบไม่ว่าจะเป็น การซื้อเพื่อลบเครดิต, ได้ความสามารถพิเศษ, ได้ช่องทางติดต่อผู้ใช้มากขึ้น ฯลฯ
thumbsup: มีวิธีสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานอย่างไร
ปรัชญา: ทีมหลักตอนนี้มีสามคน นอกจากนี้เป็น Part-time และฝึกงาน เพื่อนที่มาช่วยเคยทำงานแข่งขันด้วยกันตั้งแต่สมัยเรียน คุ้นเคยกับการสร้างผลิตภัณฑ์จากไอเดียใหม่กันดี เลยไม่ต้องใช้วิธีพิเศษในการสร้างขวัญกำลังใจอะไรกันมาก ตัวขับเคลื่อนเราจริงๆ คือ งานท้าทายที่เรามีอิสระในการสร้างสรรค์ สนุกไปกับมันได้ และมีคนเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง
thumbsup: ที่นั่นแม้จะมีช่องทางและโอกาสในการเข้าหาผู้สนับสนุนมากมาย แต่ก็แข่งขันสูงด้วยเช่นกัน สำหรับแบตต์แล้วอะไรคือความท้าทายของการเป็น Startup
ปรัชญา: Early Startup ที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ได้ตายเพราะถูกคู่แข่งทำร้ายโดยตรง แต่เป็นเพราะหาทางขยายผู้ใช้หรือผู้ซื้อของตัวเองไม่ได้และเงินทุนดันหมดไปเสียก่อน ความท้าทายหลักของ Startup ที่นี่จึงเป็นการขยายฐานผู้ใช้ให้โตขึ้นอย่างยั่งยืน โดยปกติผู้ใช้อยู่ดีๆ จะไม่โตเอง มันต้องมีเหตุผลให้เขาใช้เป็นประจำจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา ซึ่งผลิตภัณฑ์หน้าใหม่ที่เข้ามาไม่มีอะไรรับประกันว่าจะเข้าไปอยู่ในชีวิตเขาได้อย่างยั่งยืน บริษัท Startup ที่นี่จึงต้องทดสอบผลิตภัณฑ์ตนเองอย่างสม่ำเสมอและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเมื่อพบว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองยังไม่ถึงจุดนั้น
thumbsup: และคุณก้าวข้ามผ่านมันมาได้อย่างไร
ปรัชญา: ReadyGraph เองก็ยังเป็น Early Startup เหมือนกันครับ ยอมรับว่ายังไม่ได้ก้าวข้ามผ่านมาได้ซะทีเดียว
thumbsup:ได้ยินว่าได้เข้าโครงการที่ Y Combinator ด้วย เชื่อว่าเพื่อนๆ คนไทยหลายคนอยากรู้รายละเอียดตรงนี้มาก เขาใช้เกณฑ์อะไรในการวัดเข้าร่วมโครงการ
ปรัชญา: ReadyGraph ได้รับเงินทุนจาก Y Combinator และ Angel Investors อีกสี่รายที่อยู่ในซิลิคอนแวลลีย์ Y Combinator นั้นเลือกบริษัทสองแบบหลักๆ เข้าไป แบบแรกคือบริษัททำผลิตภัณฑ์น่าสนใจ มีฐานผู้ใช้แข็งแกร่ง ส่วนแบบที่สองคือบริษัทที่ฐานผู้ใช้ยังเล็กหรือไอเดียยังไม่สุดแต่มีทีมที่น่าสนใจ เขาเห็นว่า Startup ส่วนใหญ่ที่เข้าโปรแกรม Y Combinator ไปมีการเปลี่ยนไอเดียใน ณ จุดหนึ่งเสมอ ทำให้เขาใส่ใจเรื่องของทีมมากกว่าเรื่องของไอเดียในบางกรณี
ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจคือ ผลิตภัณฑ์ที่กำลังโตและมีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้นำในตลาดที่ยังไม่มีใครยึดครอง ส่วนตัวอย่างของทีมที่น่าสนใจคือ มีบุคลากรที่มีประสบการณ์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เองสำเร็จมาก่อนแล้ว วิธีการคัดรอบแรกใช้การส่งใบสมัครและพูด Pitch ในวีดีโอแนะนำตัว ถ้าผ่าน ต้องบินมาที่ซิลิคอนแวลลีย์เพื่อสัมภาษณ์ ถ้าได้รับเลือกเย็นวันนั้นเขาจะโทรมาบอกผลพร้อมตกลงกันเรื่องหุ้นทันที การคัดเลือก เขาจะคัดเลือกปีละสองครั้ง รายละเอียดอื่นๆอ่านได้ที่นี่ครับ http://ycombinator.com/apply.html
thumbsup: เข้าไปสมัครได้อย่างไร และเราผ่านเข้าไปได้อย่างไร
ปรัชญา: ผมรู้จักกับ Co-Founder ชาวอเมริกันผ่านเพื่อนคนไทยของผมคนหนึ่ง ในตอนนั้นผมสร้าง Facebook App ที่มีผู้ใช้จำนวนล้านที่ผมอยากขาย เลยติดต่อเขาไป ปรากฎว่าสุดท้ายเขาไม่ได้ซื้อไป แต่เขาสนใจในความเร็วของการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ที่ผมเคยทำมาก่อน ก็เลยทำให้ได้ลองทำงานด้วยกันต่อหลังจากนั้น
ปีที่ผมสมัคร Y Combinator มีรับทีมที่ยังไม่มีไอเดียเข้าสัมภาษณ์ด้วย ผมกับ Co-Founder จึงได้สมัครไปพร้อมกับเพื่อนชาวตุรกีอีกคนหนึ่ง ในรอบแรกเนื่องจากเรายังไม่มีไอเดียจึงกรอกใบสมัครพร้อมอัดวีดีโอในเชิงแนะนำตัวและอธิบายว่าเราเคยทำอะไรมาบ้าง พอผ่านเข้าไปรอบสัมภาษณ์ หนึ่งสัปดาห์ก่อนสัมภาษณ์ อยู่ดีๆ ก็ได้รับอีเมลลกระชากใจฉบับหนึ่ง บอกว่า เนื่องจากคุณสมัครโดยไม่มีไอเดีย เลยอยากให้ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ที่มี ทำโปรแกรมอะไรก็ได้เจ๋งๆ ไปโชว์ให้เขาดูตอนสัมภาษณ์ บังเอิญในช่วงนั้นมีบริษัทจาก Y Combinator อันหนึ่งชื่อ OMGPOP ทำเกม Draw Something ซึ่งเป็นเกมวาดรูปบนมือถือแล้วส่งไปให้เพื่อนทาย บริษัทนั้นถูกซื้อไปโดย Zynga ในราคา 180 ล้านเหรียญพอดี ทีมเราเลยคิดว่าจะทำเกมเหมือน Draw Something แต่ใช้อัดวีดีโอส่งไปให้เพื่อนทายแทน ภายในหนึ่งสัปดาห์เรามีทั้งเกมทั้งบนมือถือและบนเว็บไซต์เอาไปโชว์ให้ดู การสัมภาษณ์ที่เหลือเป็นไปอย่างราบรื่น ทำให้เราเข้าโครงการ Y Combinator ได้
thumbsup: เอาจริงๆ ถ้า Startup จากที่ไทยเลย สมัครเข้า Y Combinator บ้างจะมีโอกาสไหม? หรือจำเป็นต้องเป็น Startup ที่นั่นอยู่ก่อนหรือเปล่า
ปรัชญา: ไม่จำเป็นต้องเป็น Startup ที่ตั้งในสหรัฐอเมริกา บริษัทจำนวนหนึ่งมาจากนอกประเทศ ประเทศที่ผมจำได้ก็เช่น อังกฤษ แคนาดา ไต้หวัน อินเดีย เขาจะเลือกจากทีมและผลิตภัณฑ์โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ส่วนคนที่ถูกรับเข้าไปใน Y Combinator มีตั้งแต่จบแค่มัธยมไปจนถึงมหาลัย Computer Science อันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ส่วนประสบการณ์ทำงานมีตั้งแต่ไม่เคยทำงานบริษัทเลยไปจนถึง Product Manager ใน Google Facebook
ผมคิดว่า Startup ที่มาจากไทยมีโอกาสเข้าไปได้ แต่ต้องผ่านเกณฑ์ที่เขามองหา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มาจากมหาวิทยาลัยหรือบริษัทแฟนซี แต่ถ้าผลิตภัณฑ์มีผู้ใช้ปริมาณหนึี่งก็อาจเข้าไปได้ง่ายกว่าคนที่นี่ ตัวอย่างเช่น 9GAG ที่เข้า Y Combinator batch เดียวกับผม ประจำอยู่ที่ Hong Kong แต่ก็เข้ามา Raise Fund ในอเมริกาได้ก่อนเพื่อนร่วม batch โดยใช้ปริมาณผู้ใช้ 65 ล้านในตอนนั้นเป็นจุดดึงดูด นอกเหนือจากนี้ก็น่าจะต้องมีการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดีพอระดับหนึ่งเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสามารถเป็นผู้นำที่พาบริษัทไปสู่ระดับ Global ได้
thumbsup: Y combinator ช่วยเราได้มากน้อยแค่ไหน?
ปรัชญา: หากได้รับ Funding จาก Y-Combinator จะมี Angel Investors อีกสองเจ้าให้ Funding ตามทันที นอกจากนี้เขายังช่วยทุ่นแรงด้วยการจัด Demo Days โดยเชิญนักลงทุนในพื้นที่เข้ามานั่งรวมกันแล้วให้บริษัทในโครงการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นไป Pitch เพื่อสร้างความรู้จักในด้านผลิตภัณฑ์ Y Combinator เป็นที่ปรึกษาที่เราสามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือเวลาเจอปัญหาทั้งในด้านธุรกิจและผลิตภัณฑ์
ด้านสังคม โครงการ Y-Combinator ได้ทำให้เราพบปะกับ Startup ในหลายๆ stage มีการเชิญ CEO ของ Startup ที่ประสบความสำเร็จ เช่น Instragram, Pinterest, Airbnb หรือนักลงทุนดังๆ เช่น Ron Conway, Peter Thiel มาเล่าเรื่องให้ฟัง ทำให้เราเห็นตัวอย่างที่ดี และมีเครือข่ายศิษย์เก่าที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
thumbsup: คุณมองเรื่องการขอเงินทุนมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน สำหรับ startup
ปรัชญา: ในแง่กฎหมาย ถ้าอยู่ในบ้านเกิดตัวเอง การขอเงินทุนขนาดใหญ่อาจไม่มีความจำเป็นเพราะไม่มีข้อกฎหมายบังคับ กล่าวคือเราสามารถนั่งอยู่กับทีมสร้างสรรค์งานเราเองได้โดยไม่มีตำรวจมาไล่ แต่ถ้ามาจากนอกสหรัฐอเมริกาและอยากทำงานในนี้อย่างน้อยต้องมีเงินทุนพอในการสนับสนุนเรื่องวีซ่า เพื่อให้ตัวเองอาศัยอยู่ในประเทศได้และจ่ายค่าแรงในอัตราของแรงงานที่มีทักษะในสหรัฐอเมริกาซึ่งสูงกว่าค่าแรงโดยเฉลี่ยของคนทั่วไปมาก
สมมุติว่าถ้าเราไม่นับเรื่องกฎหมาย เงินทุนมีประโยชน์ในการซื้อทรัพยากร เช่น นำมาขยายทีม ซื้อเครื่องมือ ลงเงินทำการตลาด ฯลฯ เงินทุนช่วยทำให้บริษัทมีพลังในการสร้างสรรค์มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมันไม่ได้การันตีความสำเร็จของ Startup เพราะสุดท้ายแล้วการมีเงินมาให้ใช้มากๆ ไม่ได้หมายความว่าผลิตภัณฑ์จะออกมามีคนอยากได้จริงเสมอไป ผมคิดว่าการขอเงินทุน ถ้าขอได้ก็ดี แต่ถ้าขอไม่ได้ก็ไม่เป็นไร จะต้องใช้ความอดทนในการทำ Startup มากขึ้นแน่ แต่มันก็ไม่ได้หมายถึงจุดจบ ถ้าให้เลือกระหว่าง Startup ยาจกที่มีผู้ใช้หลงรักมากขึ้นทุกวัน กับ Startup มีทุนแต่ไร้ผู้ใช้ ผมคิดว่าระยะยาวแบบแรกน่าจะไปได้ดีกว่า เพราะผลงานเด็ดนำไปใช้เรียกทุนได้ แต่ทุนหนาไม่ได้การันตีว่าจะผลงานจะเด็ด และถ้าผลงานไปไม่ได้ สุดท้ายบริษัทก็มีแต่ค่าใช้จ่ายและก็ตายอยู่ดี
thumbsup: จากมุมมองของคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะโซนที่เรียกว่ามี Startup Ecosystem พร้อมที่สุดของโลก อยากถามความคิดเห็นของแบตต์ว่ามองอย่างไรกับ Startup ecosystem ในไทยที่กำลังตื่นตัวมากในเวลานี้
ปรัชญา: ดีใจมากครับ เทียบกับสองสามปีที่แล้ว startup ecosystem ใน South East Asia และประเทศไทยตื่นตัวขึ้นอย่างมาก คิดว่าเป็นเวลาที่ดีสำหรับธุรกิจไฮเทคหน้าใหม่ครับ ตลาดไม่โล่งเกินไปและไม่อิ่มตัวเกินไป
thumbsup: วางแผนอนาคตกับ Readygraph ไว้อย่างไร มอง exit strategy ไว้อย่างไร?
ปรัชญา: Exit strategy ยังไม่แน่นอนครับ ตอนนี้เน้นแค่ทำอะไรที่มีคนอยากใช้ไว้ก่อน
thumbsup: คิดจะกลับมาทำธุรกิจในไทยต่อไหม?
ปรัชญา: กลับครับ เพราะท้ายที่สุดแล้วอยากกลับมาช่วยบ้านเกิดตัวเอง
thumbsup: อยากให้ฝากอะไรทิ้งท้ายถึง Startup ไทยเวลานี้
ปรัชญา: การทำ Tech Startup มีความเสี่ยงสูง แต่ผมคิดว่าถ้าสำเร็จ ผลตอบแทนคุ้มค่า หลายคนก็คงอยากจะให้มีบิลเกตต์, แลรรี่, มาร์ก ที่มาจากประเทศไทยบ้าง ผมเองก็หวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนวัตกรรมจากคนไทย ถ้ารุ่นพี่หรือรุ่นผมไปไม่ถึง อย่างน้อยก็ยังเป็นแนวทางให้รุ่นน้องได้ ผมเองอยากเห็นอุตสาหกรรมไฮเทคของนักพัฒนาไทยรุ่งเรือง คาดว่าหลายคนในที่นี่ก็คงอยากเห็น พวกเราที่มีความสนใจเหมือนกันควรเกาะกลุ่มกันเข้าไว้ การช่วยเหลือ ร่วมมือกัน นอกเหนือจะทำให้มีพลังมากกว่าแล้ว ยังสนุกมากกว่าอีกด้วย
สำหรับใครที่ต้องการพูดคุยติดต่อสามารถอีเมลมาได้ที่ badd.th [at] gmail.com หรือ facebook.com/baddth