thumbsup เคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์คนไทยที่ไปใช้ชีวิตในต่างแดน เพื่อตามความฝันที่ตัวเองได้ตั้งเป้าหมายไว้ สำหรับครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันเราจะไปพูดคุยกับ ปู อภิสิฐษ์ ทุมภักดี นักพัฒนาไทย ที่เดินทางไปใช้ชีวิตในซานฟรานซิสโก และเป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Jupiter เราไปทำความรู้จักและฟังมุมมองของ Startup ไทยที่่ตัดสินใจไปตามล่าฝันกันที่นั่นกัน
thumbsup: ช่วยแนะนำตัวเองหน่อย และมีที่มาที่ไปอย่างไร ถึงมาอยู่ที่ซานฟรานซิสโก มาอยู่นานแค่ไหนแล้ว
อภิสิฐษ์ : สวัสดีครับ ชื่อ ปู อภิสิฐษ์ ทุมภักดี ครับ เคยทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ ศรีราชา ชลบุรี ได้ 6 ปี ก็ตัดสินใจลาออกมาหาประสบการณ์ใหม่ๆที่ สหรัฐอเมริกา ความตั้งใจที่มาคือจะเรียนต่อที่ Software Engineering Institute Carnegie Mellon Silicon Valley Campus เพราะว่าตอนอยู่ที่ไทย ได้มีโอกาสเข้าร่วมในกระบวนการ CMMi Level 3, Enterprise Software Architect และได้ implement Agile (Scrum) ภายในบริษัทเก่าด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นต้นกำหนดหลักสูตร รู้สึกชอบก็เลยเลือกที่นี่ครับ ก่อนมาก็ไม่ค่อยได้เตรียมตัวอะไรมากและก็คิดว่าจะต้องเรียนภาษาเพิ่ม ก็เลยตัดสินใจเลือกมาเรียนภาษาก่อน ที่ ซานฟรานซิสโกครับ ช่วงระหว่างที่เรียนภาษา ก็ลองสมัครงานไปด้วย ได้ลองงานหลายๆ อย่าง รวมทั้งได้ไปลองทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารไทยด้วย ช่วงเดือนแรกที่มาก็หางาน Freelance ตามเวปต่างๆ จำได้ว่างานแรกที่ได้คือ งานวาด 3D จากแบบกระดาษของลูกค้าคนนึง ได้มาชั่วโมงละ $25 ก็จำได้ว่าเป็นเงินจำนวนแรกๆ ที่หาได้ใน อเมริกา
สมัครงานไปหลายบริษัท ตอบกลับมาไม่เยอะ ส่วนใหญ่จะสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ จนไปได้สัมภาษณ์งานกับบริษัท Startup แห่งนึง สัมภาษณ์ทั้งทางโทรศัพท์, อีเมล แล้วก็วันสุดท้ายเข้าไปสัมภาษณ์ที่บริษัท โดยรวมแล้ว Skill set ผมค่อนข้างตรงกับที่ทางเค้าต้องการ เค้าก็เลยให้ไปลองฝึกงานก่อน ฝึกไปเรื่อยๆ ก็เซ็นต์สัญญา ทำเรื่องออกวีซ่าทำงานให้ครับแต่กว่าจะได้วีซ่าก็ใช้เวลาสักพักนึงเหมือนกันครับ ปัจจุบันก็ยังทำงานอยู่ในบริษัท Startup เดิม ตำแหน่ง Lead iOS Engineer/ Assistant Software Architect รับผิดชอบส่วนของ iPad app ของบริษัทครับ สิ้นเดือนหน้านี้ผมก็อยู่ที่นี่ครบ 3 ปีครับ (ขออนุญาต ไม่บอกชื่อบริษัทนะครับ 🙂 )
thumbsup: ได้ยินว่าปัจจุบันก็เป็น Startup มีพัฒนาแอพพลิเคชั่นเองด้วย
อภิสิฐษ์ : เพิ่งจะเปิดตัวแอพชื่อ Jupiter Messenger (TapJupiter.com) ครับ เวอร์ชั่นแรกชื่อว่า Tap Jupiter เพิ่งจะ rebrand ตอน v1.1 ครับ ทำกันสองคนก็มีผมและเพื่อนชาว Irish อีกคนนึงซึ่งจะดูแลส่วนงานออกแบบและผมจะดูแลส่วนเทคโนโลยี
ผมและ Youssef (@ys) เจอกันบน Twitter ด้วยความที่ช่วงนั้นผมค่อนข้างเบื่อๆ ไม่มีอะไรทำ เจอคนนี้เค้าบอกว่ามีไอเดียทำอะไรสั้นๆ ก็เลย tweet ไปหาเค้า ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้มาทำงานด้วยกัน จาก tweet นั้นจนถึงวันนี้ ก็ประมาณ 1 ปีนิดๆ ครับ Jupiter จุดเริ่มต้นของไอเดียการทำ Jupiter นั้นเน้นตัวเองเป็น Messaging app ที่เน้น UX/UI ที่ง่ายและจะไม่มี Speech bubble ครับ
ทำไปเรื่อยๆ ปรับไปหลายเวอร์ชั่น มีไอเดียใหม่ๆ กันมาตลอด lose focus ไปบ้าง ทำไปเรื่อยๆ จนมาจบสุดท้ายที่การส่งรูปอย่างเดียว จุดขายของแอพฯ นั้นคือจะลดขั้นตอนก่อนการส่งรูปให้เหลือสั้นที่สุดนั่นคือ เลือก คนที่จะส่งให้กดถ่ายแล้วแอพฯ ก็จะส่งรูปให้เลยแอพฯ เน้น Gesture เป็นหลักครับ ผมขอเล่าประสบการณ์ระหว่างการทำ Jupiter นะครับ ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ ผมและเพื่อน ไมได้นั่งทำงานอยู่ด้วยกัน อยู่คนละซีกโลกเหมือนกัน เพื่อนผมอยู่ Ireland ผมอยู่ San Francisco เราคุยกันผ่าน Google Talk ( เป็นhangout แล้ว ) แล้วก็ อีเมลงานกันไปมา และเราก็ใช้ Jupiter ในระหว่างการพัฒนาด้วยครับ เลือกใช้ระบบจัดการงานอย่าง Trello ซึ่งฟรี แล้วก็แชร์ไฟล์กันผ่าน Dropbox ครับ
Feedback หลังจากการเปิดตัวไปแล้วค่อนข้างดีครับ จำนวนผู้ใช้งานไม่มาก แต่ Engagement อยู่ในระดับที่ถือว่าน่าพอใจครับ Daily Active user ประมาณ 40% ของผู้ใช้งานทั้งหมด การดึงให้คนมาใช้ของเรานั้น เริ่มจาก Twitter ครับ โพสไป ก็มี Follower ให้ความสนใจ มีเพื่อนๆ ที่ทำงานบริษัทต่างๆ ช่วย retweet และ Endorse ให้เช่น Vibhu ซึ่งเป็น founder ของ Origami.com
แล้วจากนั้นก็จะเป็นแนวๆ เพื่อนชวนเพื่อน เป็นหลักครับ ในเวอร์ชั่นแรกที่ปล่อยออกไป ยังไม่มีระบบการ Invite ผ่าน Facebook ผู้ใช้งานส่วนแรกๆของเราก็จะเป็นทั้ง เพื่อนของผม เพื่อนของเพื่อนผม เพื่อนก็ชวนแฟน เพื่อนของเพื่อนก็ไปชวนแม่ อะไรแบบนี้ ก็ชวนต่อกันไปเรื่อยๆ โดยเจอกันจริงๆแล้วก็โชว์แอพให้ดู
ซึ่งวิธีการแบบนี้ โดยส่วนตัวผมคิดว่าเป็นการเพิ่มฐานผู้ใช้และรักษาการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่งครับ หลังจากที่ออกมาได้ประมาณ 1 เดือนเต็ม ตอนนี้มีการส่งรูประหว่างกันไปกว่า 10,000 รูปครับ
และตอนนี้ก็กำลัง Bootstrap startup ของตัวเองอยู่ด้วยครับ คือไม่ได้มาลาออกมาทำเต็มตัว แต่ก็ค่อนข้างที่จะให้เวลากับโปรเจคนี้เต็มที่ คือ วันธรรมดาจันทร์ – ศุกร์ก็ไปทำงานประจำ 9 โมงเช้า ถึงหนึ่งทุ่ม กลับมาก็ทานข้าวเย็น เริ่มก็ประมาณ สองทุ่มสามทุ่มแล้วก็ทำจนถึง ประมาณ ตีหนึ่งตีสอง เพราะว่าต้องคุยกับ co-founder ที่ไทยครับ เป็นช่วงเวลาที่ตรงกันพอดี วันเสาร์อาทิตย์มีเวลาก็ทำอย่างต่ำๆวันละ 6-8 ชั่วโมงครับ สาเหตุที่ไม่ได้ออกมาทำเต็มตัวก็เนื่องจาก ผมไม่ได้เป็นพลเมืองของที่นี่ ถ้าไม่ได้ถือวีซ่าทำงานหรือนักเรียนก็อยู่ไม่ได้ต้องกลับครับ แล้วโปรเจคนี้ก็เป็น self-funded ด้วย ถึงจุดนึงก็ต้องออกมาทำเต็มตัวแน่นอนครับ
thumbsup: มองอนาคตของ แอพฯ ตัวเองไว้อย่างไร การหารายได้ แผนพัฒนาต่อยอด?
อภิสิฐษ์ : เริ่มต้นนั้น Jupiter Messenger เป็นแอพฯ ที่เราสองคนนั้น อยากที่จะใช้ครับ เมื่อนึกถึงเวลาที่อยากจะส่งรูปไปหาเพื่อนนั้นแอพฯ ส่วนมาก ก็จะต้องกดถ่ายรูป เลือกรูป แล้วกดส่ง ประมาณ 5-6 tap บนหน้าจอ แต่ใน Jupiter นั้นเมื่อคุณกดถ่ายรูปแล้วรูปนั้นก็จะถูกส่งไปหาเพื่อนเลย (Snap&Send) ก็จะมีหลายๆ สถานการณ์ที่คุณอยากจะใช้ ฟีเจอร์นี้เราก็เลยทำให้เป็นฟีเจอร์หลักของแอพฯ ในระหว่างพัฒนาเราเองก็ใช้ Jupiter ส่งภาพไปมา ยิ่งใช้ก็ชอบและเราก็คิดกันว่านี่แหล่ะอย่างน้อยจะต้องมีคนชอบเหมือนเราครับ ก็เลยทำออกมา โดยที่เปิดให้ใช้ฟรีในเวอร์ชั่นแรกเพราะผมและเพื่อนมีแนวคิดเดียวกันเรื่องโฆษณามีส่วนทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้แย่ลง ก็เลยตัดสินใจที่จะไม่ใส่โฆษณาในแอพฯครับ การต่อยอดก็ทำกันเรื่อยๆ มีไอเดียใหม่ตลอดเวลาในการพัฒนา ตอนนี้ในเวอร์ชั่น 1.2 ก็กำลังจะเพิ่มส่วน ของ Group messaging และก็จะปรับส่วนของ UX/UI ให้ง่ายขึ้นและมีเอกลักษณ์มากขึ้น ตอนนี้ก็เป็นการลงทุนด้วยตัวเองทั้งหมดครับ ในอนาคตต่อๆไปฟีเจอร์ต่างๆ ที่จะใส่เข้าไป เราคิดว่าจะมีผู้ใช้ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อใช้แอพตัวนี้ครับ
thumbsup: ความท้าทายของการทำธุรกิจ tech startup ของที่นั่นคืออะไร จากประสบการณ์ที่พบเจอ
อภิสิฐษ์ : ถ้าจากประสบการณ์ของบริษัทที่ผมทำงานอยู่ ผมค่อนข้างโชคดีที่ได้ไปมีส่วนรวมในเกือบทั้งกระบวนการของการพัฒนา แอพฯ ความท้าทาย ส่วนมาก จะเป็นที่กระบวนการหลังการพัฒนาไปแล้วครับ นั่นก็คือการขาย บริษัทเองมี product/market fit ที่ดีอยู่แล้ว งานหลักก็คือการรักษาฐานลูกค้าและหาลูกค้าใหม่ครับ
thumbsup: มองอย่างไรกับโอกาสของ startup ต่างชาติที่จะไปอยู่ใน Startup Ecosystem ของประเทศที่เรียกว่ามีความพร้อมมากที่สุดในโลกอย่างอเมริกา นอกจากโอกาสที่ดีแล้ว แต่การแข่งขันก็สูงด้วยเช่นกัน เมื่อเทียบกับ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันๆ นึงมีคนที่จะ pitch ไอเดียกับนักลงทุนมากมาย
อภิสิฐษ์ : โอกาสมีครับและก็เป็นเรื่องที่ดี ที่ได้มาเรียนรู้แล้วก็น่าจะสามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับที่ไทย อย่างที่ทุกคนคงทราบ ซานฟรานซิสโก เป็นเมืองที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง Startup/App เกิดใหม่ทุกวัน มาตราฐานสูงขึ้นทุกๆ วันครับ ซึ่งตอนนี้ในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ด้วยครับ การที่จะทำให้ตัวเองโดดเด่นออกมาต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่าง มากกว่า product ที่พอใช้ได้ครับ (Good enough isn’t good enough) บางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น product, business model ที่น่าจะเวิร์คสำหรับในเอเชีย ก็อาจจะไม่เวิร์คในฝั่งตะวันตกหรือยุโรป และในทางกลับกันด้วย ความเข้าใจวัฒนธรรมของกลุ่มผู้ใช้งานของตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดครับ สรุปคือ ถ้ามีความพร้อม, ฐานผู้ใช้งาน และ Resource อยู่ที่นี่ ก็ควรจะมาครับ สร้างโอกาสให้กับตัวเองด้วย Be where your customers are.
thumbsup: เจอ startup รายไหนที่เป็น Rising star ที่พบเจอที่นั่นและ product น่าสนใจ
อภิสิฐษ์ : Product ที่น่าสนใจตอนนี้สำหรับตัวผมเอง ก็จะเป็นบริษัทประเภทอุปกรณ์เชื่อมต่อครับ ทั้ง bluetooth 4.0 หรือ wifi-enabled device โดยส่วนตัวผมมองว่าโลกของอุปกรณ์เชื่อมต่อภายนอกนั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลังๆมานี้ เนื่องจากเรามีทั้ง smartphone และ tablet เราก็อยากให้มันทำอะไรได้มากขึ้นกว่าที่จะจ้องอยู่แค่ที่หน้าจอ ส่วนตัวผมคิดว่าต่อๆไป แทบทุก device ก็จะกลายเป็น Internet-enabled device ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่นหลอดไฟยี่ห้อนึงที่เปลี่ยนสีได้จาก iPhone, google glass, หรือพวก Activity tracker ต่างๆ อีกหนึ่งโปรเจคที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษ และผมเองก็เป็นหนึ่งใน Early backer ด้วย ก็คือ https://www.thalmic.com/myo/ ครับ และล่าสุดที่เพิ่งจบไปกับ keynote งาน WWDC 2013 ถ้าใครสังเกตในสไลด์จะมีฟีเจอร์นึงที่ชื่อ iBeacons ถ้าพูดง่ายๆก็คือ ต่อไป iOS device ก็จะมีส่วนความสามารถในการหาพิกัดของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อผ่าน bluetooth 4.0 ครับ และเรียกได้ว่าพิกัดในระดับเซนติเมตรเลยครับ
thumbsup: มองย้อนกลับมาที่ไทยเรา ช่วงนี้กำลังเป็นช่วงที่ startup ถูกพูดถึงกันอย่างมาก อะไรคิดว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่คิดว่าทำให้ startup ไทยเติบโตได้
อภิสิฐษ์ : การลงมือทำและความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองจะทำครับ
thumbsup: อยากให้ฝากอะไรถึง startup ไทย
อภิสิฐษ์ : ผมขอพูดในฐานะของพนักงานประจำที่กำลังเริ่มทำ Startup แล้วกันนะครับ
ก็อยากจะฝากถึงคนที่ ”กำลัง” ลังเลคิดว่าจะทำอะไรดี ให้ ”เริ่ม” ลงมือทำครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นโปรเจคที่ใหญ่หรือจะต้องเป็นคำว่า Startup ครับ เพียงแต่หาให้ได้ว่าตัวเองชอบอะไร มีความสุขกับการทำอะไร ทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองอยากใช้อยากให้มันมีอยู่จริง ถึงทำออกมาแล้วไม่มีใครชอบ อย่างน้อยก็ยังมีตัวคุณเองที่ยังรักและชอบสิ่งที่คุณทำ บริษัทที่ประสบความสำเร็จหลายๆ บริษัทก็เกิดจากไอเดียเล็กๆที่ทำในเวลาว่างครับ ลองผิดลองถูกกันอยู่นานถึงจะประสบความสำเร็จได้ อาจจะไม่จำเป็นต้องไอเดียที่แปลกใหม่หวือหวา เพียงแต่ต้องทำให้มันดีกว่าเดิม ผมว่าที่ไทยตอนนี้เราอยู่ในจุดที่พร้อมที่สุดจุดนึงแล้วครับ ทั้งเครื่องมือและการสนับสนุนต่างๆจากหลายหน่วยงาน ผมว่าหลายๆ คนก็อยากเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่พัฒนาโดยคนไทยและประสบความสำเร็จออกมาเยอะๆครับ สุดท้ายก็ต้องขอบคุณ Thumbsup.in.th ด้วยที่ได้เปิดโอกาสให้ผมได้แสดงความคิดเห็นครับ หากใครต้องการพูดคุยก็ติดต่อได้ทาง
อีเมล apisit@tapjupiter.com
twitter @imapisit ,@tapjupiter
หรือหากใครดาวน์โหลด Jupiter messenger ไปแล้วอยากส่งรูปมาหาผมก็ส่งมาได้ที่ @ap ครับ