editorial note: บทความนี้คือบทความพิเศษ (ที่เราเรียกว่า Guest Post) จากเดชอุดม เข็มแดง Associate Director of Online Media Relations ของ GTH ผู้สร้างภาพยนตร์พี่มาก..พระโขนง โดยเดชอุดมส่งบทความนี้มาให้กองบรรณาธิการ thumbsup อัพโหลดขึ้นเพื่อเอาประสบการณ์ตรงมาเล่าขยายความกรณีศึกษาเรื่อง Social Media Marketing ที่เราได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ให้ชาว thumbsup โดยเฉพาะ ว่าแล้วก็อ่านกันได้โดยพลัน
บทความนี้คงจะมาขยายความเล่าสู่กันฟังใน case ของพี่มาก..พระโขนงครับ
โจทย์การทำออนไลน์เรื่องนี้มาจากมีคลิปจำนวนมากร่วมๆ 30 คลิปที่มาจากความสนุกของทีมงานล้วนๆ เพราะปกติหนังเรื่องๆ หนึ่งเราก็มีคลิปกันไม่เกิน 10 กว่าคลิป แต่เรื่องนี้ตั้งแต่การเตรียมงานและบรรยากาศการทำงานเบื้องหลังมันมีเรื่องสนุกๆ ที่น่าเล่าเต็มไปหมด จึงเป็นที่มาของสารพัดคลิปที่เห็นๆ กัน ทีนี้หลังจากที่มีโจทย์จากคลิปที่มีแล้ว ก็นำมาวางแผนการทำงานช่วงเวลาต่างๆ ในการปล่อยคลิปแต่ละตัว
สิ่งที่เป็นโจทย์และเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดคือการทำให้คนดูเข้าใจและเห็นภาพรวมของหนังว่าเค้าจะเข้าดูหนังอะไรยังไง ด้วยความที่เรื่องขอแม่นาคพระโขนงเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างอยู่แล้วส่วนนี้เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียไปพร้อมๆ กัน
ข้อดีคือเราไม่ต้องอธิบายละเอียดในเรื่องของเรื่องราวเกี่ยวกับใครอะไรอย่างไร
แต่ข้อเสียคือด้วยการที่มันถูกเล่ามาซ้ำมาครั้งแล้วครั้งเล่าจึงเป็นคำถามว่าแล้วทำไมต้องออกมาดูเวอร์ชั่นนี้
โชคนี้ที่ประเด็นนี้เป็นโจทย์ตั้งแต่ทำโปรเจ็คต์เรื่องนี้อยู่แล้วจึงเป็นที่มาของชื่อพี่มาก..พระโขนงเพื่อจะบอกว่าคราวนี้เราจะมาโฟกัสและเล่าในมุมของพี่มาก ซึ่งไม่เคยมีการเล่นกันประเด็นนี้
หน้าที่ของออนไลน์เราจึงวางไว้เป็นก้อนกลมๆ สองส่วนคือ
ส่วนแรกการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่รอชมและผู้ที่สนใจในช่วงก่อนหนังฉาย เพราะในเรื่องพี่มากฯ หลายคนที่ได้ดูกันมาแล้วจะเป็นเห็นว่าเวอร์ชั่นนี้เป็นการตีความใหม่ในหลายๆ ส่วนทั้งตัวละคร ทั้งโลก และมิติของตัวละครที่มีทั้งความเก่าและใหม่ปนกัน เราจึงมีหน้าที่เตรียมความพร้อมของคนดูเพื่อให้เค้าเข้าใจและพร้อมที่กับเชื่อไปกับโลกของตัวละคร จึงเป็นที่มาของคลิป พระโขนง Shake
ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับว่าเราโชคดีมากๆ เป็นคลิปที่ไม่ได้อยู่ในแผนเลยแต่บังเอิญทีช่วงนั้นกระแสของ Harlem Shake มาพอดีและมันเป็นอะไรที่เข้ากับลักษณะนิสัยของตัวละครในเรื่องนี้มากๆ ที่จะทำอะไรแผลงๆ แบบนี้ ซึ่งมันทำให้เกิดคลิปที่ลงตัวมากๆระหว่างความเกรียนของตัวละคร และความขัดแย้งกับภาพยุคสมัยของเครื่องแต่งกายและที่อยู่อาศัยของตัวละคร ซึ่งถือเป็นคลิปที่ทำทั้งหน้าที่สร้าง viral ขยายกลุ่มผู้สนใจหนัง และช่วยอธิบายดีกรีความเกรียนของภาพยนตร์ต่อยอดมาจากตัวทีเซอร์ มุก Mark ซึ่งถือเป็นคลิปแรกที่สร้างความฮือฮาและความสนใจกับภาพยนตร์เรื่องนี้
และหลังจากนั้นคลิปที่ถือว่าช่วยเพิ่มและขยายฐานความสนใจให้กับคนในวงกว้างคือคลิปแนะนำตัวละครที่เรียกได้ว่าเป็นตัวไขก๊อกความสนุกสนานให้กับผู้ชมให้พร้อมกับการชมภาพยนตร์ทั้งเรื่อง และหลังจากนั้นก็มี MV
และตัวอย่างตามออกมาเพื่อต่อยอดขยายภาพของภาพยนตร์ทั้งเรื่องให้ผู้ชมเข้าใจภาพรวมของสิ่งที่เค้ากำลังจะเข้าไปชมให้มากขึ้น
ส่วนที่สองก็คือ follow up สิ่งที่คนสนใจพาร์ทนี้ก็คือในช่วงที่หนังเริ่มฉายแล้วคลิปก็จะเป็นการเล่าถึงฉากที่ประทับใจต่างๆ ในเรื่องประมาณเป็นการชวนคุยกันหลังดูหนังจบ ในส่วนนี้ที่เป็นที่ได้รับความนิยมมากสุดก็คงเป็นคลิปท่าเต้นเพลงกองพัน
ต้องบอกว่าพาร์ทท่าเต้นกองพันนี้อยู่ในบทตั้งแต่แรกเป็นการดีไซน์เพื่อปูไปยังมุกหรือเหตุการณ์อื่นในเรื่องเป็นหลัก แต่เมื่อเราดูกันแล้วจากประสบการณ์เรื่องก่อนๆมันมีโอกาสที่คนจะชอบจึงมีการทำคลิปสอนเต้นเตรียมไว้ และปล่อยมันออกมาในเวลาและจังหวะที่คนสนใจและพูดถึงกัน และหลังจากนั้นเราก็ปล่อยให้ content มันไปต่อด้วยตัวของมันเอง
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ “พี่มาก..พระโขนง” ไม่มากก็น้อยครับ