ทุกคนรู้จัก Facebook ในฐานะ Social Network อันดับ 1 อยู่แล้ว วันนี้เราเลยขอเปลี่ยนบรรยากาศมาพูดคุยกันถึง Social Network “พระรอง” อย่าง Twitter, LinkedIn, Instagram และ Google+ กันบ้างดีกว่า เพราะปัญหาหนึ่งที่นักการตลาดดิจิตอลไทยมักจะเจอก็คือ คนใช้ Facebook เยอะมากเสียจนนักการตลาดแทบไม่สนใจ Social Network อื่นๆ เลย แต่ถึงอย่างนั้น บรรดาพระรองก็ยังคงมีความแตกต่าง และใช้ได้ในวาระที่แตกต่างกันไปครับ
Twitter – แชร์ได้เร็วในแบบบทสนทนา real-time เหมาะแก่การฟังลูกค้าแบบ Social listening
จำนวนผู้ใช้ในไทย – 2 ล้านคน active (ภายใน 1 เดือน) เมื่อเทียบกับ Facebook 22 ล้านคน
ทำไมยังควรใช้ Twitter – ตอบได้สั้นๆ ว่า Twitter เป็นเครื่องมือการทำ Engagement ที่ดีมากครับ เพราะมันเป็นพื้นที่การสนทนาแบบสั้นๆ ที่นักการตลาดสามารถใช้ทำ Social listening หรือเข้าไปฟังลูกค้าได้ตลอดเวลา อาทิ ผมเข้าไปที่ Twitter Search แล้วค้นหาคำที่ลูกค้าอาจจะพูดถึงแบรนด์ของเราโดยระบุเจาะจงลงไปในภาษาไทยโดยเฉพาะก็จะทำได้ ดังนั้น Twitter จึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบกระแสการบอกปากต่อปากได้ดีที่สุดสื่อหนึ่ง
ยกตัวอย่างนะครับ เช่น ใส่คำว่า Toyota lang:th เราก็จะได้คำที่คนพูดถึงแบรนด์โตโยต้าในภาษาไทย ในขณะที่ Social Network ตัวอื่นๆ ทำแบบนี้ไม่ค่อยได้ครับ จะทำได้ก็ต้องผ่าน Social Monitoring tool ต่างๆ
นอกจากนี้ Twitter เป็น Social Network ที่มีโครงสร้างแบบ One to many ที่เจ้าของ account พร้อมที่จะเปิดทำ Social Broadcast ตลอดเวลา เพราะ Twitter แชร์ง่าย เพียงแค่พิมพ์ข้อความไม่เกิน 140 ตัวอักษรก็แชร์สิ่งที่คิดได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องภาพหรือวิดีโอมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม Twitter ยังไม่เปิด Self-service ad ในเมืองไทยแบบ Facebook จะซื้อโฆษณาผ่าน Twitter เลยต้องผ่านเอเยนซี่ทำให้ยากเย็นสักหน่อย ในประเทศไทย แบรนด์ที่สนใจทำการตลาดผ่าน Twitter ติดต่อ Komli ได้ แต่ผมแนะนำว่าควรจะต่อราคาให้มากกว่าที่เป็นอยู่ครับ ส่วนตัวผมคิดว่าแพงไปหน่อย
Instagram – มันเป็นเรื่องของการเล่าเรื่องด้วยภาพ และกระแสเห่อดาราและความบันเทิงของคนไทย
จำนวนผู้ใช้ในไทย – มีคนใช้ราวๆ 874,000 คน นับว่าน้อย เมื่อเทียบกับ Facebook 22 ล้านคน และน้อยกว่า Social พระรองอื่นๆ เสียอีก แต่ Instagram มักจะได้รับความนิยมจากนักการตลาดไทย เพราะนักการตลาดไทยมักจะมองว่า Instagram นั้นอยู่ในกระแสมากกว่า Social ตัวอื่น ทั้งหมดเป็นเพราะดารานักร้องเซเลบฯ ไฮโซทั้งหลายต่างแห่กันใช้ Instagram ดังนั้นการทำการตลาดประเภทเอาสินค้าไป tie-in เนียนๆ กับชีวิตประจำวันของเซเลบจึงเป็นที่นิยม ถึงแม้ว่าจะวัดผลได้ยากสักหน่อยหนึ่งก็ตาม
ทำไมยังควรใช้ Instagram – คนที่ใช้ Instagram เป็นกลุ่มที่มี Social status สูงและมีอิทธิพลต่อความคิดความรู้สึกของคนอื่นๆ ในสังคม แม้ว่าจำนวนผู้ใช้จะมีไม่ถึงล้านคน แต่เมื่อนำมาใช้ผสมกับ Facebook ก็ถือว่าเป็น Social Network ที่สร้างกระแสบอกต่อในวงกว้างได้ อย่างกรณีของไอศกรีมแมกนั่ม ที่ทุกคนต้องพากันเลียนแบบอาการ “ฟิน” ของ ชมพู่ อารยา, อนันดา เอเวอริ่งแฮม, เต๋อ ฉันทวิชช์, โอปอลล์ ปรณิสรา และ ชวพร เลาหพงศ์ชนะ ในกรณีของยูนิลีเวอร์อันนี้ต้องบอกว่า Instagram นั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือผลิตเนื้อหา เพราะดาราทั้งหลายใช้ถ่ายรูปตัวเองแล้วแชร์ไป โดยมีทีมงานคอยเอาภาพเหล่านี้ไปปล่อยบน Facebook อีกทีนั่นเอง
และที่สำคัญ ชาวเน็ตทั่วไปได้จดจำว่า Instagram เป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพไปแล้วนั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากพระรองตัวอื่นๆ
LinkedIn
จำนวนผู้ใช้ในไทย – 695,000 คน เพราะ LinkedIn จำกัดเฉพาะคนที่เป็นมืออาชีพ เน้นเรื่องหน้าที่การงานเท่านั้น อาจจะขัดธรรมชาติคนไทยที่มีอารมณ์ขี้เล่นมากกว่าชาติอื่นสักหน่อย อย่างสิงคโปร์ที่คนทำงานเยอะ มีคนใช้ถึง 1 ล้านคนแล้ว
ทำไมยังควรใช้ LinkedIn – LinkedIn ค่อนข้างเน้นไปเรื่องการทำงาน การใช้ LinkedIn ในการทำการตลาดจะใช้ได้เฉพาะกับกลุ่มนักธุรกิจและคนทำงาน และส่วนใหญ่จะใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น ดังนั้นจะเหมาะกับการเข้าถึงกลุ่มคนทำงานที่มีความรู้ ผลิตภัณฑ์ก็ควรจะเป็นเรื่องการทำงาน การลงทุน รวมถึงการหาคนร่วมงาน อาจจะไม่เกี่ยวกับ Consumer product ต่างๆ มากนัก เท่าที่ผมเจอมามักจะเป็นเรื่องการหาเงินหางานมากกว่า แต่ก็อาจใช้ได้ดีกับธุรกิจแนว B2B หรือ Business to Business
Google+
จำนวนผู้ใช้ในไทย – ทาง Google ไม่เคยเผยอย่างชัดเจน แต่มีการคาดการณ์ของแหล่งข่าวเราว่าอยู่ที่ราวๆ 5 – 6 ล้านคน แต่อย่างไรก็ตามทาง Google บอกว่า Google+ ไม่ใช่ Social Network เสียทีเดียว หากแต่เป็น Social Layer ที่เปิดให้ผู้ใช้งาน Google สามารถใช้ Google+ ในการเพิ่มประสบการณ์การใช้งาน Social กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Google เช่น แชร์ Google Doc, กด Plus 1 หรือ +1 เพื่อทำให้แสดงผลบน Search Engine
ทำไมยังควรใช้ Google+ – ผมว่าสิ่งที่ดีที่สุดในการใช้ Google+ คือเหตุผลในการทำ SEO เช่น ถ้าเรากดแชร์ลิงก์ใดๆ บน Google+ เวลามีคนค้นหาข้อมูลบน Google Search มันก็จะปรากฏว่าเราเคยแนะนำลิงก์นั้นเอาไว้ ส่งผลให้ลิงก์นั้นๆ น่ากดมากยิ่งขึ้น
ทั้งหมดนี้คือสิ่งควรรู้คร่าวๆ เกี่ยวกับการใช้ Social Network พระรองทั้งหลาย แต่บรรดาพระรองเหล่านี้จะมีบทบาทมากขึ้น หากนำเอาพระเอกอย่าง Facebook มาใช้ด้วย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำการตลาดบน Social ก็คือการทำเนื้อหาที่เหมาะสมกับ Social Network แต่ละตัว ซึ่งหวังว่าคำอธิบาย Social Network แต่ละตัวด้านบนนี้จะทำให้คุณสามารถทำงานต่อได้นะครับ ใครมีคำถามอะไรก็โพสต์ถามไว้ด้านล่างได้เลย