3 ปีที่เขียน thumbsup มา ผมไม่เคยมีคอลัมน์ของตัวเองเป็นเรื่องเป็นราวแบบ “So Now You Know” ของ @chyutopia เลยครับ ว่าจะเขียนแต่ก็ผัดวันประกันพรุ่งเรื่อยมา วันนี้เลยได้ฤกษ์เปิดคอลัมน์รายสะดวกของตัวเองสักที ตั้งชื่อมันว่า “หมายเหตุดิจิตอล” ประเดิมด้วยเรื่องของธุรกิจดนตรีดิจิตอลไทยกันครับ
“เรือเล็กควรออกจากฝั่ง” เป็นชื่อซิงเกิลแรกใน “dharmajāti ( ดัม-มะ-ชา-ติ )” อัลบั้มใหม่หมาดของ Bodyslam ที่ปล่อยมาให้ฟังเพลงเดียวโดดๆ โดยยังไม่มีกำหนดว่าเพลงที่เหลือในอัลบั้มจะมีมาให้ฟังกันเมื่อไหร่ ได้แต่คาดว่าทาง Genie Records ต้นสังกัดน่าจะทยอยปล่อยออกมาทีละเพลงๆ เพื่อดึงให้วงจรชีวิตของอัลบั้มยาวนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ (ต่างกับการขายทีเดียวทั้งอัลบั้มแบบเมื่อก่อนที่ทุกอย่างจะหายไปในเวลาไม่กี่เดือน) คล้ายเป็นการย้ำเตือนให้เราเห็นถึงแนวทางที่เปลี่ยนแปลงไปของแวดวงธุรกิจดนตรีดิจิตอลล่าสุดด้วย
อย่างไร? มาย้อนอดีตกันก่อน
อดีต
ถ้าย้อนกลับไปดูรูปแบบของธุรกิจดนตรีสมัยก่อน ค่ายเพลงมักจะเน้นการประชาสัมพันธ์อัดยิงโฆษณาทางโทรทัศน์-วิทยุ เดินสายทัวร์สนับสนุนอัลบั้ม จนเกิด awareness และผลักดันให้ผู้บริโภคตามไปซื้อซีดี ดีวีดีตามร้านขายปลีก จำนวนของศิลปินยุคก่อนจึงมีออกมาเยอะมาก แต่สัก 10 ปีหลังนี้ก็ต้องยอมรับว่าโครงสร้างธุรกิจแบบเดิมมันค่อยๆ ตายลงไป เพราะทุกคนเริ่มมีทางเลือกในการเสพย์สื่อออนไลน์ จำนวนของศิลปินก็ลดลง เรียกภาษาบ้านๆ ว่าออกอัลบั้มมาก็ขายไม่ได้ ก็ไม่รู้จะเหนื่อยทำมันไปทำไมนั่นแหละครับ
ปัจจุบัน
เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ค่ายเพลงก็ต้องหันไปหารายได้ทางอื่นเพิ่ม เช่น ขายโชว์ ขายโฆษณา ขายของพรีเมี่ยม ส่งซีดีถึงบ้าน รวมถึงอะไรก็ตามที่ค่ายเพลงคาดว่าจะปกป้องผลประโยชน์ตัวอย่างได้ดีที่สุด (เครดิต @somchartlee) ทำแล้วได้เงินชัดๆ อย่างการไล่เก็บค่าลิขสิทธิ์กับรายการวิทยุ กับร้านคาราโอเกะ ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำทั้งสิ้น ต่างกับสมัยก่อนที่ “หยวนๆ กันได้” กับรายได้เสริมเหล่านี้เสมอมา
แต่ไม่ว่าธุรกิจดนตรีจะมีช่องทางหลากหลายแค่ไหนก็ตาม รายได้หลักก็ยังคงเป็นช่องทางดิจิตอล เช่น การขายดาวน์โหลดผ่านช่องทาง smartphone ในรูปแบบเพลงรอสาย, เพลงเต็มเพลง, มิวสิกวิดีโอ, E-Commerce บนเว็บไซต์, การเปิดให้ฟังผ่านบริการ Music Streaming แล้วจัดเก็บค่าฟังแบบเหมาเป็นรายเดือน ฯลฯ
การทำธุรกิจดนตรีดิจิตอลหลักๆ จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องไปทำงานร่วมกับผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ หรือที่ชอบเรียกทับศัพท์กันไปว่า operator (อย่างในบ้านเรา 3 ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง AIS, dtac, truemove H ที่เข้าถึงผู้ใช้โทรศัพท์มือถือถึง 90 ล้านเลขหมาย) โดย operator น่าจะคาดหวังรายได้จากรูปแบบ Music Streaming ที่ผู้บริโภคจำเป็นจะต้องฟังผ่านสัญญาณดาต้า 3G เป็นหลัก
อนาคต ดนตรีดิจิตอลกับบทบาทของ 3 ค่าย operator
ด้วยเหตุผลที่เล่ามาทั้งหมด เราจึงเริ่มเห็น “งานแต่งงาน” เหล่านี้ออกมาเรื่อยๆ
AIS จับมือกับ KKBOX สร้าง AIS Music Store
dtac จับมือกับ deezer สร้าง dtac deezer
ส่วนทางฟากฝั่ง truemove H ก็มี true music ของตัวเองอยู่ แต่ก็มีร่ำลือกันในวงการดิจิตอลว่า truemove H กำลังพูดคุยอยู่กับ Music Streaming รายใหญ่ของโลกอย่าง Spotify และก็ลือกันไปอีกว่าขณะนี้น่าจะปิดดีลกันได้แล้วหลังจากที่ไล่เก็บลิขสิทธิ์จากค่ายเพลงไทยกันมานาน (แต่คาดว่าไม่มี GMM Grammy เพราะในรายงานบริษัทได้ระบุว่าทาง GMM จะทำแพลตฟอร์ม Music Streaming ของตัวเอง เปิดให้บริการภายในธันวาคมนี้) ซึ่งถ้าเป็นเรื่องจริง ก็นับว่าธุรกิจดนตรีดิจิตอลบ้านเราปี 2014 จะมีโต้โผหลักเป็น operator ทั้ง 3 ค่าย
อย่างไรก็ดี ดนตรีดิจิตอลถึงจะเป็นช่องทางที่สร้างรายได้ให้ค่ายเพลงได้มากที่สุด แต่มันก็ไม่อาจทดแทน “อาการบาดเจ็บ” จากการสูญเสียรายได้จากรูปแบบธุรกิจซีดีในร้านค้าปลีกไปได้ อย่างรูปด้านล่างนี้เป็นตัวเลขในสหรัฐฯ ที่บรรดาคนในวงการดนตรีดิจิตอลหลายคนก็เห็นด้วยว่ามีความคล้ายคลึงกับบ้านเราคือ ดนตรีดิจิตอลมียอดเติบโต แต่เมื่อเทียบกับอัตราสูญเสียของเก่าแล้ว มันเทียบกันไม่ได้เลย
ภาพจาก theatlantic.com
ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะต้นทุนของค่ายเพลงแบบเดิมมีต้นทุนที่แบกรับไว้เยอะมากครับ ไม่ว่า จะต้องออกเงินค่าอัดเสียง ค่ามิกซ์เพลง สร้างผลิตภัณฑ์ออกมาในรูปแบบไฟล์ดิจิตอลหรือซีดี จัดจำหน่ายทุกๆ ช่องทาง ทำการตลาด รวมทั้งให้ยืมเงิน ออกเงินล่วงหน้าสำหรับค่าใช้จ่ายจิปาถะที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการทัวร์ของศิลปิน การถ่ายวิดีโอ แต่งหน้าทำผม ให้คำแนะนำศิลปินในเรื่องภาพลักษณ์ ต้องลดความอ้วนไหม ต้องมีลายสักไหมจะได้เข้ากับอิมเมจร็อกๆ รวมถึงคอยจัดการเรื่องคิว เรื่องเงิน เรื่องค่าลิขสิทธิ์ที่จะต้องจ่ายให้ค่ายอื่นๆ ถ้าในกรณีที่ศิลปินไปออกคอนเสิร์ตแล้วเล่นเพลงค่ายอื่นเพราะอารมณ์พาไป อีกร้อยแปดพันเก้า
แต่ต้องขอบคุณเทคโนโลยีดิจิตอลที่ยังเปิดทางให้ศิลปินรุ่นใหม่ เพราะถ้าจะคิดๆ ไปต้นทุนหลายอย่างก็ลดลงฮวบฮาบ ไม่ว่าจะเป็นการอัดเสียงที่สมัยนี้ใช้โปรแกรมในแล็บท็อปทำก็ได้ การเผยแพร่เพลงก็ทำผ่านดิจิตอลทำให้เข้าถึงคนจำนวนมากได้ในทันทีแทบไม่มีค่าจัดจำหน่ายกันอีกต่อไป
สรุปในภาพรวมในฐานะผู้สังเกตการณ์
ผมคิดว่า ปี 2014 น่าจะเป็นปีที่สนุกสนานสุดๆ อีกปี เพราะแวดวงธุรกิจดิจิตอลจะมีสีสันมากขึ้น เพราะแพลตฟอร์มที่จะทำให้ผู้ใช้ได้สนุกสนานกับเนื้อหาดิจิตอลที่จากทั้งในและต่างประเทศจะเดินขบวนกันจับมือกับผู้ให้บริการทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ สัญญาณ ในขณะที่ช่องทางการจ่ายเงินแบบ Online Wallets ก็พร้อมมากขึ้น อย่าง AIS ก็มี mPAY dtac ก็มี PaySbuy ส่วน truemove H ก็มี True Money หรือถ้าไม่ผ่านบัตรเครดิต ก็อาจทำผ่าน Direct Operator Billing ได้อีก นี่ยังไม่นับ Instant Messaging หรือ IM ดังๆ อย่าง LINE ที่กำลังมาแรงด้วยจำนวนผู้ใช้กว่า 20 ล้านคนอาจเข้ามามีส่วนในการเปิดบริการดนตรีด้วยก็เป็นได้
และท้ายสุด อีกช่องทางหนึ่งที่น่าจับตามอง แต่คงจะต้องมองกันไปอีกนาน นั่นก็คือ YouTube ที่มีการแบ่งรายได้ให้กับศิลปินในต่างประเทศ แต่ตราบใดที่ภาครัฐไม่เล่นด้วยก็คงลำบาก เพราะถ้าตัวบทกฏหมายบ้านเรายังไม่มีการปรับ อย่างที่ Google เคยให้ความเห็นไว้ ก็คงต้องรอกันไปอีกนาน
ลองคิดดูครับว่าอย่างเพลงดังอย่าง “เรือเล็กควรออกจากฝั่ง” ที่ทำยอดวิวทะลุ 16 ล้านครั้งไปแล้ว จะสร้างรายได้ขนาดไหนหากมีการแบ่งรายได้ขึ้นมาจริง ธุรกิจดนตรีดิจิตอลบ้านเราจะเติบโตขึ้นแค่ไหนอย่างไร
แต่ตอนนี้พวกเราก็ฟังเพลงรอกันไปก่อนแล้วกันครับ หวังว่าศิลปินจะมีสิทธิ์ได้รับรางวัลจากผลงานของพวกเขามากขึ้นบ้างในปี 2014!