ใครชอบดูโครงการต่างๆ จากเว็บไซต์ Kickstarter (แหล่ง Crowd Funding ขนาดใหญ่) บ้าง? แล้วคุณให้ความสนใจจนลงเงินสนับสนุนหรือไม่คะ? จากที่นั่นคุณจะได้เห็นโครงการที่น่าตื่นเต้นจาก Startup มากมาย เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก Hardware เต็มไปหมด มี Wearable Device แบบหลากหลาย อุปกรณ์แบบแปลกๆ ที่ใช้เชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ตได้ (Internet of Things) เพื่อใช้หาของหายบ้าง, ติดตั้งให้บ้านเราเป็น Smart Home บ้าง, เอามาใช้ในเชิิงธุรกิจบ้าง และอีกมากมายตามแต่จินตนาการจะพาไป
ฟังดูแล้วหลายคนอาจรู้สึกว่า Startup เหล่านี้น่าจะไกลตัวพอสมควร แต่จริงๆ แล้วไ่ม่ใช่ว่าบ้านเราจะไม่มีเลย กลุ่ม Hardware Startup ในไทยกำลังค่อยๆ เริ่มก่อตัวขึ้น โดยวันนี้เราจะไปพูดคุยกับ Startup 2 บริษัท นั่นคือ จักรกฤษณ์ ทัฬหชาติโยธิน CEO และ ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ จาก Dolphin และ อรรถพงศ์ ลิมศุภนาค ผู้ก่อตั้ง DriveBot
(จากซ้ายไปขวา – จักรกฤษณ์ ทัฬหชาติโยธิน, ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ จาก Dolphin และ อรรถพงศ์ ลิมศุภนาค จาก DriveBot)
มองทิศทางของ Hardware Startup ในตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้อย่างไร
ทีมงาน Dolphin กล่าวว่า – ปีนี้เป็นปีที่ Hardware Startup เริ่มมีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ เนื่องด้วยเทรนท์ที่ใครๆ ก็มองว่าการทำ Hardware ขึ้นมามัน Sexy มากๆ แต่อย่างไรก็ตามถ้ามองแค่ในส่วน Hardware startup ในภูมิภาคนี้ก็ยังถือว่าห่างไกลจากสหรัฐฯ ที่มักจะเป็น Trend Setter ในเรื่องของ Category ของ Product อยู่ครับ คือมีความหลากหลายในตัวผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นตัวช่วยชี้ความต้องการของ Product และความสนใจของผู้บริโภคที่ดีมาก
ในแง่อุปสรรคของ Hardware Startup ในภูมิภาคนี้คือเงินทุนและ Barreir of Entry ของการพัฒนา Hardware ยังสูง รวมถึงบุคลากรกลุ่มนี้มักจะอยู่ในภาคผลิตเสียมากกว่า ทำให้ Maker หรือ นักประดิษฐ์ จริงๆ ค่อนข้างมีน้อย แต่ในไม่ช้าเราจะเริ่มเห็น Maker ออกมาทำ Startup แนวนี้มากขึ้นเนื่องจากจุดเด่นต่างๆ ของภูมิภาคนี้คือ ฝีมือด้านการออกแบบเราไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร รวมถึงฐานการผลิตที่จีนที่เข้าถึงง่ายขึ้น
อีกเรื่องที่ผมมองว่าสิ่งที่เราน่าจะเริ่มเห็นจาก Hardware Startup คือเรื่องของ Smart Things หรือที่เรามักจะเรียกกันว่า Gadget เกิดขึ้นใหม่ๆมากมาย โดยน่าจะอยู่ในรูปแบบ Hardware Mashup หรือการผสมผสานของฟีเจอร์ของ Hardware สองหรือสามประเภทเข้าด้วยกันออกมาเป็น Gadget ใหม่ ซึ่ง Category ที่น่าสนใจก็มีมากมายเช่น Home, Automotive, Health, Wearable เป็นต้น หรืออีกประเภทของ Hardware startup ที่น่าจะเกิดขึ้นเยอะจะอยู่ในรูปแบบของการนำ hardware มาเพิ่ม value ของบริการของ Startup อีกที
ส่วนอรรถพงศ์จาก DriveBot กล่าวว่า – ในมุมมองของผม Hardware เป็นตัวช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาที่เดิมใช้ Software อย่างเดียวแก้ไม่ได้ หรือว่าช่วยทำให้มีวิธีแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิมดีขึ้น ง่ายขึ้น จากเดิมเราต้องคิดว่าทำยังไงถึงจะเอา Software ที่เราใช้ไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้ได้ ก็มาคิดว่าเราจะทำยังไงให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์จากของรอบตัว หรือของที่เขาต้องใช้ทุกวันได้ดีขึ้นโดยนำ Hardware ไปช่วย สำหรับผมแล้วเหมือนมีเครื่องมือแก้ปัญหาเพิ่มขึ้น พอมองไปรอบตัวก็เจอโจทย์สนุกๆ ให้เล่นเยอะขึ้นครับ
โดยตอนนี้เทรนด์ Wearable Technology กำลังมาแรงมาก มี Facebook มาเสริมความแรงของเทรนด์อีกโดยการซื้อ Oculus Rift ไปในราคาที่สูงมาก ประกอบกับมี Crowdfunding Platform อย่าง Kickstarter และ Indiegogo ที่ช่วยให้นักพัฒนามีทุนไปสร้าง Product เราน่าจะได้เห็น Startup แนว Hardware มากขึ้น ไม่ใช่แค่ฟากตะวันตก แต่จะเริ่มขยายตัวมาภูมิภาคนี้ด้วย
ข้อได้เปรียบเสียเปรียบและโอกาสของ Startup กลุ่มนี้ในไทย
ทีมงาน Dolphin กล่าวว่า – ในไทยเองเรามีข้อได้เปรียบค่อนข้างมากในเชิงการพัฒนานะครับ ในหนึ่งปีเรามีบุคลากรที่จบด้าน Engineering ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญของ Hardware Startup ที่จะเกิดขึ้นมาได้ และรวมถึงบุคลากรที่จบด้านการออกแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Product Design, Fashion Design อีกข้อได้เปรียบของไทยคือเรื่องของตำแหน่งที่อยู่ใกล้ประเทศจีนซึ่งทำให้เราสามารถเข้าถึงผู้ผลิต OEM / ODM ต่างๆ หรือ Supplier ได้ค่อนข้างสะดวก แต่เรายังคงเสียเปรียบเรื่อง language barrier ที่ทำให้การติดต่อกับผู้ผลิตยังคงยากอยู่ อีกทั้งเงินทุนในการผลิตยังถือว่าสูงซึ่งอาจจะทำให้ Hardware Startup ที่ยังไม่มีเงินทุนไม่สามารถผลิตต้นแบบหรือสินค้าออกมาได้
ประเทศเรายังขาดเรื่อง Ecosystem ที่จะมารองรับ Hardware Startup ใหม่ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านการวิจัยหรือ Incubator ที่จะมาช่วยพัฒนา Product ขึ้นมา รวมถึงการร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่จะช่วยให้ Hardware Startup มา Match Making กับ Manufacturer เพื่อสงเสริมการผลิตภายในประเทศ
ส่วนอรรถพงศ์จาก DriveBot กล่าวว่า – สำหรับผมแล้ว ผมมองว่าข้อดีของ Hardware Startup ก็คือยังมีมุมมองให้เล่นมากกว่า Software อย่างเดียวที่มีการแข่งขันสูงมากขึ้นทุกวัน แต่ข้อเสียก็คือเรื่องค่าใช้จ่ายในการผลิต (Fixed Cost) เพราะมีปริมาณขั้นต่ำที่สั่งผลิตได้ เช่น 100 ชิ้น 1000 ชิ้น ซึ่งตรงนี้ต่างจากการทำ Software อย่างเดียวเลย ที่ต้นทุนต่ำมาก อย่างล่าสุดผู้ให้บริการ Cloud ก็ลดราคาลงมาแรงมากเพื่อการแข่งขัน แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น เรายังโชคดีที่มีแพลตฟอร์ม Crowd funding ต่างๆ ทำให้ Startup สามารถนำ Product ไปทดสอบตลาด และหาทุนไปในตัว เป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่ดีอย่างหนึ่งครับ ถึงอยู่ไทยก็สามารถทำได้
ช่วยยกตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจในสหรัฐฯ Ecosystem ที่นั่นเป็นอย่างไร และอะไรคือปัจจัยความสำเร็จของตลาดนี้
ทีมงาน Dolphin กล่าวว่า – ในสหรัฐฯ Hardware Startup ที่น่าสนใจมีหลายเจ้าเลย และก็มีการขยาย Category เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Personal Transport เช่น URB-E
หรือ Human Interface Device เช่น Myo
Ecosystem ของอเมริกาสำหรับ Hardware Startup ก็คล้ายๆ Tech Startup ด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Incubator ที่ให้ความสนใจเรื่อง Hardware เว็บไซต์ Crowd funding อย่างเช่น Kickstarter ที่จะช่วยหลักดันสินค้าไปสู่ Early Adopter และแหล่งเงินทุนที่พร้อมจะลงกับ Startup ที่มาพร้อมกับ Mentor และ ประสบความสำเร็จแล้วในเชิง Hardware Startup ต่างๆ
ปัจจัยในความสำเร็จของตลาด Hardware Startup ยังคงคล้ายๆ กับ Tech Startup ทั่วไปอยู่เช่นกัน คือการเข้าใจลูกค้า ถ้าเราบอกว่าเรากำลังผลิตสินค้าสำหรับนักดำน้ำมือใหม่ สิ่งที่เราต้องทำคือเข้าใจนักดำน้ำมือใหม่จริงๆ จนเราสามารถสร้างต้นแบบสินค้าเราที่ตอบโจทกลุ่มลูกค้าเราได้ เพราะ Hardware แตกต่างจาก Software ตรงที่เราไม่สามารถกลับมาแก้มันได้หลังจากที่เราผลิตมันขึ้นมาแล้ว ทำให้กระบวนการในช่วงคิดต้นแบบเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ และสิ่งที่เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อมาคือ เรื่องของ Supply Chain ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตจนถึงทำยังไงให้สินค้าเราไปถึงมือผู้บริโภค นอกเหนือจากนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้ใน Hardware Startup คือความเป็นเอกลักษ์ของสินค้า ไม่ว่าจะเป็น Brand, Product Design หรือ Packaging ก็ตาม
ช่วยแนะนำ Product ของตัวเองหน่อยว่าตอนนี้ต่างคนต่างทำอะไรอยู่
ทีมงาน Dolphin – Dolphin เป็นหนึ่งใน Hardware Startup ในไทยที่นำ Hardware มาเพิ่ม Value เข้าไป และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคธุรกิจ โดยให้บริการด้าน Retail Customer Engagement ผ่านระบบ Cloud โดยมีตัว Beacon ที่เป็น Hardware มาส่งสัญญาณไปยัง แอปพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อส่งข้อความและวิเคราห์ Traffic ในสถานที่จริงต่างๆ
เราพบว่าระบบนำทางแบบเดิม เช่น GPS ไม่สามารถใช้ได้ในอาคารหรือสถานที่เล็กเช่นห้องประชุม ซึ่งทำให้แอปฯ ไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้ใช้กำลังเดินเข้าร้านค้าหรือเดินผ่านร้านค้ากันแน่ Dolphin เลยนำเทคโนโลยีเสียง Ultra-sonic และ Bluetooth 4.0 มาผสมผสานกันและผลิต Hardware ออกมาเพื่อช่วยให้ร้านค้าสามารถส่งข้อความ Engagement ไปยังผู้ใช้แอปฯ ของตนได้ รวมถึงการวัดผลแบบ Real-Time ที่สามารถบอกได้ถึงว่าคนใช้เวลาในร้านค้ากี่นาทีและสนใจส่วนไหนของร้านค้ามากที่สุดด้วยครับ
อรรถพงศ์ – ทีมผมกำลังพัฒนา Product ที่ชื่อว่า Drivebot เป็น Fitbit สำหรับรถครับ ก็คือ แอปฯ บนมือถือที่ช่วยให้ผู้ใช้รถสามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดูแลรถและการใช้น้ำมันได้ โดยใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์เชื่อมต่อกับรถที่เราพัฒนาครับ Drivebot มีฟีเจอร์ หลัก 2 ส่วน ส่วนแรกคือส่วนที่ช่วยให้ผู้ใช้รถปรับพฤติกรรมการขับรถของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการขับหรือว่าเวลาที่ออกจากบ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำมันครับ อีกส่วนช่วยให้ผู้ใช้สามารถดูแลรถตัวเองได้ดีขึ้น เช่น การแจ้งเตือนให้เอารถไปเข้าอู่ หรือว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถ ซึ่งปกติเราจะรู้ก็ตอนรถมีปัญหาหนักๆ แล้ว โดยรวมก็คือ Drivebot ช่วยให้ผู้ใช้รถขับรถได้ดีขึ้น ดูแลรักษารถได้ดีขึ้น ทำให้รถอยู่กับเรานานๆ ไม่ไปเสียกลายถนน หรือเสียค่าซ่อมแพงๆ นั่นเองครับ
ถือว่าน่าสนใจมากเลยสำหรับการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ เรายังได้ยินมาว่าทางทีมงาน Dolphin ก็กำลังเตรียมเปิด Incubator สำหรับ Hardware Startup กันโดยเฉพาะ ในนาม Startup Factory และเริ่มมี Meetup กันให้เห็นไปบ้างแล้วซึ่ง Drivebot ก็เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้การ Incubate นี้
จัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่ม Startup ไทยที่มีความตั้งใจจริงและน่าเอาใจช่วย ซึ่งทีมงาน thumbsup จะคอยอัพเดตให้ผู้อ่านได้ทราบถึงความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ กันต่อไปค่ะ