ห่างหายกันไปนานสำหรับคอลัมน์ “คำศัพท์น่ารู้” หรือ Beginner Series ที่เป็นการอธิบายความหมายแบบพื้นฐานของคำศัพท์ในวงการดิจิทัลครับ สำหรับวันนี้ขอเสนอคำว่า Call-to-Action
Call-to-Action แปลว่าอะไร?
คนที่ทำ Digital Marketing คงเคยได้ยินคำว่า Call-to-Action หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า CTA นะครับ คำว่า CTA นั้นหมายถึงปุ่ม หรือป้ายแบนเนอร์ หรือกราฟิกชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือจะเป็นตัวอักษรก็ได้ที่อยู่บนเว็บไซต์ที่พร้อมจะให้ผู้ใช้คลิก แล้วมันจะพาผู้ใช้ไปสู่หน้าเว็บไซต์อีกหน้าที่นักการตลาดมุ่งหวังไว้ในใจว่าอยากจะให้ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์เข้าไปดู เพื่อที่จะวัดผลว่ามีจำนวนคนคลิกไปทั้งหมดกี่ครั้ง
ตัวอย่างของ Call-to-Action มีหลายแบบครับ เช่น
- Sign Up (สมัคร)
- Read More on The Blog (อ่านต่อในบล็อก)
- Download the App (ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น)
- Buy Now (ซื้อเลย)
- Order Yours (สั่งเพื่อเป็นเจ้าของ)
- Compare Prices (เปรียบเทียบราคา)
CTA เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของการทำการตลาดแบบ Inbound Marketing หรือที่บางทีเราก็เรียกกันว่า Permission Marketing (เพราะมันเป็นการตลาดแบบไม่ยัดเยียด ไม่บังคับขืนใจผู้ใช้ ตรงกันข้ามกับ Interruption-based Marketing นั่นเอง) แต่มันเป็นปุ่มที่ล่อให้คนมากด หรือเป็น “ตัวกระตุ้นเร้า” ให้ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราทำอะไรสักอย่างกับเว็บ ในทางที่ว่ามันเป็นตัวที่จะ convert หรือเปลี่ยน “ผู้ใช้” (ที่เข้ามาดูเว็บคุณเฉยๆ) ไปสู่การเป็น lead หรือเป็น “ว่าที่ลูกค้า” ก่อนที่จะกลายเป็น “ลูกค้า” ที่จ่ายเงินให้เราจริงๆ ต่อไป
แต่สรุปสั้นๆ ได้ว่าเป้าหมายของ CTA หลักๆ ก็คือการคลิก ซึ่งนักการตลาดจะสามารถวัดผลจะเป็นการคำนวณจำนวนคลิก หารด้วยจำนวนที่ CTA ถูกมองเห็น แบบเดียวกับที่เราวัด Click Through Rate หรือ CTR นั่นเอง (CTR คือจำนวนการคลิกที่โฆษณาของคุณได้รับหารด้วยจำนวนครั้งที่โฆษณาของคุณปรากฏ (การแสดงผล) ตัวอย่างเช่น หากคุณได้รับคลิกห้าครั้งและมีการแสดงผล 1,000 ครั้ง CTR ของคุณจะเท่ากับ 0.5% CTR = จำนวนการคลิกโฆษณาของคุณ ÷ จำนวนการแสดงผล (การดูโฆษณา))
กรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ CTA ของ Mailchimp
Mailchimp นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ให้บริการ Email Marketing ที่ทำให้เราสามารถส่งอีเมลหาลูกค้าได้ถูกต้องตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ Mailchimp จะต้องทำอยู่เป็นประจำก็คือการหาลูกค้ามา Sign Up หรือมาสมัครใช้บริการ ลองดูที่รูปด้านบนนะครับ สิ่งที่ Mailchimp ทำก็คือการออกแบบให้หน้าตาดูน่าใช้ เป็นกันเอง และมี CTA ที่ดีมาก ในรูป จะมี ปุ่ม Sign Up Free 2 ปุ่ม คือสีดำด้านบน กับสีแดงด้านล่าง เหตุผลก็คือ เมื่อคนเข้ามาดูเว็บเพจนี้ สายตาจะเห็นลิงซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทก่อน จากนั้นก็จะเห็นปุ่มให้ Sign Up ถ้าหากว่าในหน้านั้นไม่มีอะไรจะให้ดูและน่าสนใจอีกต่อไปแล้ว เชื่อสิครับ 2-3 วินาทีคนก็จะออกจากหน้าเว็บเพจนี้ไป แต่เมื่อผู้ใช้พบว่ามีปุ่ม Sign Up เพิ่มมาอีกปุ่ม ก็จะไปตอกย้ำในใจอีกครั้งว่า “หน้าเว็บเพจนี้มันเรียกให้เราสมัครนะ”
เกี่ยวกับคอลัมน์ “ศัพท์น่ารู้” (Beginner Series)
สิ่งที่คุยกันบ่อยๆ ในกองบรรณาธิการ thumbsup ก็คือ ขณะที่เราทำงานกันในแต่ละวัน เราจะต้องไปเจอคนพูดภาษาธุรกิจ หรือบางทีก็เป็นศัพท์เฉพาะวงการ ที่ใช้กันอยู่บ่อยครั้ง ประเภท? “UU” “UIP” “ROI” “EBIDA” “ARPA” “ARPU” “Scrum” “ทำ Fease (Feasibility Study)” ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้เอาเข้าจริงๆ ไม่ได้ยากอะไร แต่ถ้าไม่ได้อ่านกันบ่อยๆ หรือหาต้นตอมันจริงๆ ก็ชวนสับสนอยู่ไม่น้อย
ทางกองบรรณาธิการ thumbsup ก็ต้องการนำเสนอข่าวและบทความเรื่องธุรกิจดิจิตอลอยู่แล้ว การที่เราพยายามไม่พูดถึงศัพท์เฉพาะ ศัพท์เทคนิคเหล่านี้ ก็เหมือนกับเรานำเสนอไม่ได้ครบถ้วน อย่ากระนั้นเลย ต่อไปนี้เราจะพยายาม “เสาะหา” “รวบรวม” “เรียบเรียง” ความหมายของคำศัพท์ที่ thumbsuper ควรทราบกันดีกว่า