วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์พิเศษจาก Startup ที่ได้เข้าร่วมโครงการ JFDI กันอีกราย โดย Startup แห่งนี้มีชื่อว่า… STYLHUNT วันนี้เราจะไปพูดคุยกับคุณสุรวัฒน์ พรหมโยธินหรือ แซม CEO จาก STYLHUNT ผู้ให้บริการค้นหาร้านค้าในโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็น Facebook และ Instagram ทำให้นักช้อปฯ ออนไลน์ค้นพบสินค้าที่ต้องการได้ง่ายยิ่งขึ้นนั่นเอง
thumbsup : รบกวนแนะนำตัวเองและประวัติคร่าวๆ ก่อนที่จะเริ่มธุรกิจ STYLHUNT
แซม: สุรวัฒน์ พรหมโยธินหรือ แซม ผมเป็นคนไทยครับแต่เกิดและโตในอเมริกาและด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่เป็นคนไทยแท้ๆ แต่ย้ายไปอยู่ที่ต่างประเทศในช่วงเวลาที่ผมเติบโต ผมจึงได้รับการเลี้ยงดูแบบลูกผสมระหว่างตะวันตกและตะวันออก ผมจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา ปริญญาโทสาขาวิชาบริหารธุรกิจ (นานาชาติ) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชีวิตการทำงานของผมแบ่งได้เป็น 2 ช่วงครับ ครึ่งแรกของชีวิตการทำงานคือที่ Silicon Valley ในตำแหน่งผู้จัดการผมมีโอกาสบริหารงานหลายด้าน ทั้งงานทางด้านเทคนิควิศวกรรม, งานขาย, การตลาด, การจัดการสินค้า และทรัพยากรบุคคล ที่ Silicon Valley ผมมีประสบการณ์ในการวางกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับองค์กรธุรกิจระดับโลกที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนั้นยังร่วมบุกเบิกในขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณท์ใหม่โดยในจำนวนนั้นมีสินค้าใหม่จำนวน 20 รายการซึ่งผ่านกระบวนการพัฒนาผลิตภัณท์และได้ออกจำหน่ายสู่ตลาดสากล ครึ่งที่ 2 ของชีวิตการทำงานเริ่มต้นในประเทศไทย ผมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Groupon Thailand และหลังจากนั้นผมได้เข้าทำงานที่บริษัท Lyreco (a European based company) ผลงานการทำงานของผมคือรางวัล Sales Director award ซึ่งชนะผู้เข้าแข่งขันจาก 27ประเทศทั่วโลก
thumbsup : อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการเริ่มธุรกิจของตัวเอง?
แซม: ผมชอบทำงานครับ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมหลงใหลในการทำงานคือ การได้เห็น “พัฒนาการ” ทั้งในด้านทรัพยากรบุคคล, ขั้นตอนการปฏิบัติงานและวัฒนธรรมองค์กร สำหรับผมแล้ว startup คือ การแสดงออกถึงความชื่นชอบในสิ่งเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
ตอนที่ผมทำงานอยู่ที่ Groupon ผมได้รับการติดต่อจากคุณพีระพล, คุณพิชญ์พล เพ็ญมาศ และคุณก้องเกียรติ ศุภกิจจงเจริญ (กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผู้ซึ่งมีประสบการณ์การขายของผ่าน eBay ในระดับ eBay Power Sellers) เพื่อขอคำปรึกษาในการจัดตั้งธุรกิจและหาผู้ลงทุน แม้ว่าขณะนั้นเราจะยังไม่ได้ร่วมงานกันแต่จากการพูดคุยในครั้งนั้นและหลายๆ ครั้งต่อๆ มา ผมคิดว่านี่คือทีมที่ผมอยากจะร่วมงานด้วย เพราะพวกเขามีทั้งทักษะในงาน, มีความมุ่งมั่น, สร้างสรรค์ และที่สำคัญ “มีความรัก” ในงานที่ทำ ในเวลาต่อมาเราได้คุณเมธี ตรีวิเชียร นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่มีความสามารถเข้ามาร่วมทีมด้วย ผมมีความเชื่อมั่นในทีมงานนี้เป็นอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อสิ้นปี 2556 ที่ผ่านมา ผมจึงตัดสินใจว่าตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2557นี้เป็นต้นไป ผมจะรับหน้าที่ในตำแหน่ง ซีอีโอ STYLHUNT อย่างเต็มตัว
thumbsup : STYLHUNT คืออะไร ? อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำธุรกิจนี้ ? และจุดเด่นที่แตกต่างจากบริการอื่นคืออะไร?
แซม: การจะอธิบาย STYLHUNT ผมว่าเราต้องทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในตะวันออกเฉียงใต้กันก่อน ความแตกต่างอยู่ตรงที่ผู้คนส่วนใหญ่ซื้อของจากร้านค้าใน Facebook และ Instagram ไม่ใช่ตามเว็บไซต์ e-commerce นอกจากนี้ร้านค้าออนไลน์กว่า 1000 ร้านที่มีอยู่นั้น ไม่ลงทุนในการทำ SEO ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะค้นพบร้านค้าออนไลน์เหล่านั้นผ่าน Search Engine เราทดสอบ โดยขอให้ผู้ซื้อค้นหาร้านค้าผ่าน Google และพบว่าผู้ซื้อต้องทำการคลิกมากกว่า 500 ครั้งจึงจะพบร้านค้าเพียง 1 ร้านเท่านั้น แม้ว่าร้านนั้นจะเป็นหนึ่งในร้านค้าที่มีชื่อเสียงติด 20 อันดับแรกบนเฟสบุคของประเทศไทยก็ตาม
STYLHUNT จะช่วยลดเวลาการค้นหาจากกว่า 500 เหลือเพียง 2 คลิกเท่านั้น พวกเรารวบรวมร้านค้าให้อยู่ในที่เดียว จัดเป็นหมวดหมู่ตามประเภท และเรียงลำดับตามจำนวนยอด Likes วิธีนี้ไม่เพียงบอกระดับความนิยมของร้านค้า ทั้งยังแสดงถึงความน่าเชื่อถือของร้านค้าได้อีกด้วย ความน่าเชื่อถือนั้นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับลูกค้าในการทำธุรกรรมทั้งการโอนเงินผ่านธนาคารและการส่งสินค้า เราเชื่อว่าบริการนี้จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรม e-commerce ในไทยโดยตรง เนื่องจากผู้ซื้อออนไลน์นับล้านคนจะสามารถค้นพบร้านค้าเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นความภูมิใจของเรา โดยกว่า 30 ร้านค้าบน Facebook (ในหมวดหมู่เสื้อผ้าเพียงอย่างเดียว) ที่เรารวบรวมได้ในขณะนี้มียอด Likes เป็นจำนวนสูงถึง 100,000 – 1,300,000 likes
thumbsup : ช่วยแชร์ Business Model ของคุณ ว่ามีลักษณะเช่นไร?
แซม: เรามีส่วนคล้าย Google ครับ เราคือ Search Engine สำหรับร้านค้าและแบรนด์สินค้าแฟชั่น จากมุมมองทางการตลาดแล้วช่องทางที่เรานำเสนอนั้นถือว่ามีประสิทธิภาพมากเนื่องจาก Users ของเราคือกลุ่มนักช้อปออนไลน์ที่มีความคุ้นเคยกับการสั่งซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว ดังนั้นการนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางของเราจึงเพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้า, สร้างระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) และทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น (brand awareness )
thumbsup : ในอีก 2 ปีข้างหน้า คุณวางแผนแนวทางอย่างไรกับบริการ STYLHUNT ?
แซม: แผนของเราคือ การเป็นทางเลือกอันดับ 1 สำหรับนักช้อปออนไลน์ทั้งในประเทศไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในการค้นหาสินค้าแทน Google วิสัยทัศน์ของเราก็คือ การรวมจุดเด่นต่างๆ ของ Google, Yelp, Pinterest, Tinder และ Alibaba ใน Stylhunt เพื่อให้เราเป็นศูนย์การค้าออนไลน์ที่ดีที่สุดไม่เพียงแต่ในประเทศไทยแต่ในต่างประเทศด้วย
thumbsup : อะไรคืออุปสรรคหรือความท้าทายที่คุณพบเจอ และมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร?
แซม: ความท้าทายของเรา คือ อุปสรรคในเรื่องการสื่อสารภาษาอังกฤษ แม้ว่าสมาชิกในทีมของผม ภาษาอังกฤษจะไม่แข็งแรง เราได้ใช้โอกาสในการเข้าร่วมโครงการ JFDI ในประเทศสิงคโปร์นี้ให้เป็นประโยชน์ สมาชิกในทีมของผมทุกคนจะผลัดกันนำเสนอธุรกิจ (pitching) เป็นภาษาอังกฤษต่อหน้าผู้ฟังที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพหรือแม้กระทั่งนักลงทุนต่างชาติ จากการฝึกซ้อมอย่างหนัก แม้จะมีอุปสรรคทางด้านภาษาพวกเขาทุกคนสามารถนำเสนอธุรกิจได้อย่างเป็นมืออาชีพ มีการนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นแบบแผน เนื้อหาครบถ้วนและชัดเจน ไม่ทำให้ผู้ฟังสับสน ซึ่งการนำเสนอที่มีคุณภาพนี้ทำให้ทีมของเราเป็นที่ยอมรับและได้รับการจดจำ
thumbsup : คุณเข้าร่วมโครงการ JFDI ได้อย่างไร และได้เรียนรู้อะไรบ้างจากที่นั่นบ้าง?
แซม: สมาชิกในทีมของผมรู้จัก JFDI อยู่แล้วในฐานะ Startup Accelerator อันดับ 1 ในเอเชีย เราใช้เวลาหลายวันในการสมัครเข้าร่วมโครงการผ่านทางเวปไซต์ จัดทำวิดีโอแนะนำทีมงาน และนำเสนอคอนเซ็ปต์ทางธุรกิจของเราให้คณะกรรมการตัดสินขั้นตอนการคัดเลือกจบลงด้วยการสัมภาษณ์สดเป็นภาษาอังกฤษผ่านทางวีดีโอออนไลน์ โดยคำถามในระหว่างการสัมภาษณ์เป็นคำถามที่ค่อนข้างละเอียดและเจาะลึกตั้งแต่ระดับองค์กร จริยธรรมการทำงาน และความเคารพซึ่งกันและกันในทีม โดยตลอดขั้นตอนการคัดเลือกเราได้ให้เห็นถึงคุณภาพของโปรแกรมนี้ได้เป็นอย่างดี
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาความรู้และประสบการณ์ที่เราได้รับจาก JFDI นั้นมีมากมาย โดยผมขอสรุปเป็นประเด็นสำคัญๆ บางส่วนไว้ดังนี้ :
– Pitch Workshop นั้น สอนโดยโค้ชมืออาชีพ
– Mentor Sessions นั้นมีเกือบทุกวัน ผู้ให้คำปรึกษาคือนักลงทุนจากทั่วโลกและผู้ประกอบการที่มีความรู้ในเนื้อหาดังตัวอย่างต่อไปนี้
- การจดทะเบียนและข้อตกลงทางกฎหมาย
- การพัฒนาลูกค้า
- สินค้า / ความเหมาะสมกับตลาด
- UX / UI Best Practices
- การวิเคราะห์
- การพัฒนาปรับขยายธุรกิจ
- การระดมทุน
- การวางแผนทางการเงิน
– โอกาสในการพูดคุยและแนะนำตัวกับเครือข่ายนักลงทุนและผู้ประกอบการที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 พันล้านดอลล่าร์ภายใต้การบริหารจัดการ
สำหรับผมแล้ว นี่จึงเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้อีกแล้วสำหรับเหล่า startup ภายในระยะเวลาเพียง 100 วัน
thumbsup : คุณมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับธุรกิจ e-commerce ในไทยอย่างไร?
แซม: ด้วยคำถามเดียวกันนี้ ถ้าถามผมเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมาผมเชื่อว่านักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกกับเงินลงทุนก้อนโตเท่านั้นจึงจะสามารถครองตลาด e-commerce ในประเทศไทยได้สำเร็จ แต่สำหรับทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าลักษณะเฉพาะของตลาด e-commerce ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้สร้างความได้เปรียบให้กับนักลงทุนระดับโลกที่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบสากลและคาดหวังความสำเร็จเดียวกันในตลาดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้ ในทางกลับกันการเป็นผู้นำที่จะประสบความสำเร็จได้ในตลาด e-commerce นี้นั้น จะต้องมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนรูปแบบกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคในภูมิภาคที่สนใจ ผมคิดว่าคำถามสำคัญคือ ผู้ประกอบย่อยรายไหนจะได้รับความสนใจและถูกซื้อ (acquisition) โดยผู้เล่นระดับโลกเหล่านี้ และการถูกซื้อที่จะไม่ทำลายคุณค่าของธุรกิจนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ซื้อเหล่านี้เขาใจและเคารพในคุณค่าและเอกลักษณ์ของตลาดที่เขาดำเนินธุรกิจอยู่นั่นเอง
thumbsup : สุดท้ายนี้มีอะไรจะฝากถึงเหล่า startups คนไทยบ้าง ?
แซม: ผมแนะนำให้อ่านหนังสือ “The Lean Startup” ของ Eric Ries ยิ่งอ่านครบสามครั้งได้ยิ่งดี คุณจะได้รับคำแนะนำที่สำคัญมากๆ สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ หลายคนเข้าใจประเด็นสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ต้องการจะสื่อผิด เนื่องจากพวกเขาไม่เคยอ่าน หลายคนที่อ่านแล้วก็ยังไม่สามารถหลุดกรอบและเปิดรับแนวความคิดของหนังสือเล่มนี้ได้โดยเฉพาะในหัวข้อที่เกี่ยวกับ MVP ประสบการณ์ในอดีตและการยึดติดในวิธีการเดิมๆ จะเป็นตัวปิดกั้นพวกเขาจากวงจร สร้าง-วัดผล-เรียนรู้ (Build-Measure-Learn cycle) ซึ่ง Eric Ries ได้ให้คำอธิบายว่าสิ่งเหล่านี่เป็นนักฆ่าของเหล่า startups
สำหรับผมแล้ว “The Lean Startup” มีความสำคัญมากถึงขนาดที่ว่าก้าวแรกของผมในการเป็น CEO ของ STYLHUNT คือการจัดเตรียม slide สรุปเนื้อจากหนังสือเล่มนี้เพื่อใช้ในการฝึกอบรมสมาชิกในวันแรกของการทำงานร่วมกันของเรา แนวคิดที่ว่านี้ทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ JFDI และมีผลลัพธ์จากการทำงานได้อย่างรวดเร็วและน่าประทับใจมากครับ