ในยุคที่ Startup Ecosystem ไทยกำลังเติบโต เราได้เห็นผู้สนับสนุนที่ช่วยสร้างเครือข่ายนี้ให้แข็งแรงมากขึ้นในขณะที่หลายๆ ประเทศต่างก็จับตาประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มี Startup ที่น่าสนใจและน่าลงทุนหลายบริษัท ก่อนหน้านี้ thumbsup เคยแนะนำไปทั้ง Startup และ นักลงทุน (Venture Capital, Angel) ครั้งนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ Incubator ที่เน้นโฟกัสกลุ่มธุรกิจ Startup ที่มีเทคโนโลยีเชิงลึก (ทรัพย์สินทางปัญญา) กันบ้าง ครั้งนี้เราจะไปพูดคุยรายละเอียดกับ กฤษฎ์ อักษรวงศ์ CEO ของ IPFund กัน
thumbsup: ช่วยเล่าที่มาของ IPFundPTE LTD.
กฤษฎ์: เริ่มต้นจากผมเขียนบทความ “ไม่กู้ก็ได้(วะ)” ลง ใน facebook Page เมื่อหลายปีก่อน โดยที่เน้นด้านการให้ Tech startups หัดทําแผนธุรกิจ, ทําแผน pitch, หัดออกไปหานักลงทุน และเจรจาจนปิดดีลด้วยตนเอง จนกระทั่ง Startups Ecosystem ในไทยเริ่มเกิดประมาณ ปี2012 ผมเลยได้ลองสอนและให้คําปรึกษาฟรี แก่ Tech Startups ในเมืองไทย โดยประกาศผ่านทาง page “ไม่กู้ก็ได้(วะ)” ตั้งแต่ สิงหาคม 2012 ถึง เมษายน 2014 ตาม Starbucks รายสัปดาห์และส่งการบ้านให้ผมในระหว่างอาทิตย์รวมทั้งสิ้นไปประมาณ 50 กว่าทีม โดยกว่า 70 – 80% เป็นด้าน Mobile และ Social แอปพลิเคชั่น
ผมเริ่มเห็นว่ามี 8 – 9 ทีมที่เริ่มได้หัดออกไปหา Angel Investors และ Secure Fund เองได้แต่ผลคือ area นี้ตอนนี้การแข่งขันสูงมากจริงๆ โอกาสที่จะหาผู้ชนะในตลาดนั้นค่อนข้างยาก บังเอิญช่วงนั้น ผมได้มีโอกาสเจอ ดร.รัฐภูมิ ตู้จินดา (คุณไปป์) ตามงาน Startup อีเว้นท์ต่างๆ คุณไปป์ หลังจากจบจาก MIT ได้ทํางานทางด้านสิทธิบัตรมามาก และปัจจุบันทํางานในองค์กร NECTEC แนะนําว่า สมองของคนไทย ฉลาดมากมีไอเดีย และสามารถประดิษฐ์เทคโนโลยีเชิงลึกได้มาก แต่ขาดองค์กรภาครัฐและเอกชนส่งเสริมอย่างจริงจัง เลยได้ไอเดียว่าถ้าจะทําอะไร เราน่าจะทําใน Segment ที่โฟกัสและช่วยส่งเสริมมันสมองของคนไทยอย่างแท้จริง
และช่วงนั้นได้มีโอกาส พูดคุยกับ คุณ พงศ์พีระ (คุณ Art) ที่เป็น Co-Founder ของทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศจากรายการStartup Weekendปี 2012 (ทีม Startup Infinite Closet) ซึ่งคุณ Art มีพื้นหลังมาทางด้านการตลาดและการขาย technology solutions ให้กับองค์กรใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและ High-Tech ต่างๆ มามากกว่า 10 ปีคุณ Art ได้แนะนําว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่ IP (Patent หรือ Trade Secret) น่าจะเป็นสิ่งที่โตในภูมิภาค Asia ในอนาคตอันใกล้ เราเลยได้ทําการประชุมกัน สามคนและได้ทําการจัดตั้ง IPFund PTE LTD ขึ้นที่ สิงคโปร์ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาในการที่จะช่วย project ที่มี IP ในประเทศไทยออกสู่ต่างประเทศ
thumbsup: ประเภทธุรกิจที่ IPFundโฟกัสและให้ความสนใจมีอะไรบ้าง? สามารถยกตัวอย่าง Startupsที่สนับสนุนอยู่ได้ไหม?
กฤษฎ์: เรา focus หลากหลายภาคธุรกิจ ที่มีเทคโนโลยีเชิงลึก มี IP (Intellectual Property) เช่น
- Medical Tech
- Bio Tech
- Nano Tech
- Hardware / Software เชิงลึก
- Robotics(พวกหุ่นยนต์)
- Internet of Things
อย่างตอนนี้มีทีมที่เกี่ยวกับ Medical Software Algorithm, Bio Tech และ Home Automation ที่เรา incubate อยู่
thumbsup: การให้การสนับสนุนของ IPFund มีอะไรบ้าง แตกต่างกับ incubator/VCs ทั่วไปอย่างไร?
กฤษฎ์: ใน2 ปีแรกเราจะ position ตนเองเป็น Incubator/ Accelerator ประเภทหนึ่ง คือ เราเตรียม seed fund (เงินทุนในระดับต้น) และเราเน้นสอนด้านการทํา IP โดยเฉพาะการตลาด ที่ต้องทดสอบจนกว่าจะผ่าน ที่สําคัญเป็นหน้าที่หลักของเรา ในการจัดหานักลงทุนในระดับ Series A ให้กับทีมที่เราดูแลและสนับสนุนทุกทีม และเราต้องดูแลทีมเหล่านี้จนโตและ Exit ได้
Incubator อื่นๆ อาจจัดการ incubate เป็น 1 รอบ batch มี 5-10 ทีม ระยะเวลาในการ incubate ประมาณ 3-4 เดือน และจะจัดวันทํา Demo Day ซึ่งเชิญ investors มาพิจารณาตัดสินใจลงทุน
ข้อแตกต่างคือ เราไม่ได้จัดตามรอบ แบบ incubator ทั่วไป เนื่องจากความหลากหลายของภาคธุรกิจของทีมที่ต้องใช้ lab ในประเภทที่แตกต่างกันรวมไปถึงระยะเวลาที่มีแนวโน้มมากกว่า 6 เดือน ในการจะทดสอบผลิตภัณฑ์และตลาด ส่วนทางด้านนักลงทุนสําหรับ Series A ที่จะพิจารณา incubate ทีม เราเน้น global corporate VCs เป็นหลัก คือเมื่อทางเค้าลงทุนให้แล้วสามารถการันตีการขายสินค้าและบริการของ startups ในเครือธุรกิจเค้าได้ทันที สําหรับในปีต่อๆ ไปเราจะจัดตั้ง กองทุนเพิ่มในระดับ Series A ครับ
thumbsup: มอง สถานการณ์ Startup ในไทยปัจจุบัน ไว้อย่างไร?
กฤษฎ์: สําหรับสถานการณ์นั้นฝั่ง Startup เริ่มบูมช่วง 2012 และ โตมากขึ้นตามภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนไทยมีความสามารถสูงแต่โอกาสยังถูกจํากัด การแข่งขันที่สูงมากขึ้น2014 – 2016 จะทําให้คนที่จะมาทํา Tech Startups ต้องปรับตัวอย่างมาก
ฝั่งนักลงทุนเอง จากปีที่แล้วผมได้ลองทําวิจัยกับ Angel Investors ประมาณ 100 คนที่เป็นชาวต่างชาติ อาศัยในประเทศไทย เค้ามีความเห็นโดยรวมที่อยากจะ ให้ seed fund ด้าน eComemrce, mCommerce, hardware, IP มากขึ้นกว่าเดิม ส่วนพวกmobile app/ social app อาจมีแนวโน้มลดลงเหตุผลของพวกเค้าคือรู้สึกว่าจับต้องได้มากกว่า ส่วนพวกบริษัท Venture Capital ที่ลงทุนในระดับ Series A ที่รู้จัก ยังมีการลงทุนที่หลากหลายเหมือนเดิม
thumbsup: ในมุมมองของคุณคิดว่าจะทําอย่างไรให้ Startup คิดสร้าง Core Value ที่มี IP ของตัวเองได้ เพราะมันคงไม่ใช่ง่ายๆ เริ่มต้นเรียนรู้จากตรงไหนดี?
กฤษฎ์: ต้องบอกก่อนว่าไม่ง่ายเลยครับ เพราะว่าสิทธิบัตรในต่างประเทศเป็นอุปกรณ์สําคัญในการปกป้องธุรกิจของตัวเอง เห็นได้จากกรณีของ Samsung กับ Apple ในปี 2012 ฟ้องกัน 50 เคสความอยู่รอดของบริษัทนั้นอาจขึ้นอยู่กับใจความสําคัญแค่ไม่กี่บรรทัดในสิทธิบัตร ดังนั้นโดยปกติเวลาจดสิทธิบัตรจึงต้องใช้คนที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งบริษัทที่ทางเรา Incubate เราจะดูตรงส่วนนี้เป็นพิเศษ ตั้งแต่สอนวิธีการมองว่าไอเดียไหนจะจดสิทธิบัตรได้ จนไปถึงการสืบค้น และการร่างสิทธิบัตร เพื่อปกป้องประโยชน์ของบริษัทเมื่อถึงเวลาที่ต้องออกไปทําการตลาดต่างประเทศในอนาคต ถึงแม้ IP จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญดูแล Startup ก็ควรจะเรียนรู้ไว้บ้าง เพราะว่าสิทธิบัตรที่จะจดออกมาได้รัดกุมนั้นต้องอาศัยการพูดคุยและร่วมมือกันระหว่างผู้ประดิษฐ์ กับ ผู้ร่างสิทธิบัตร ซึ่งข้อมูลสําหรับสิทธิบัตรไทยนั้นมีขั้นตอนและวิธีการ ที่เป็นระบบระเบียบ สามารถดูขั้นตอน วิธีการ และตัวอย่างได้ที่เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา (http://www.ipthailand.go.th/) เพื่อทําความเข้าใจเบื้องต้นได้
และสำหรับตัวอย่างบริษัทที่น่าสนใจในต่างประเทศที่เน้นแนว IP นะครับเช่น face.com ที่ถูกซื้อกิจการโดย Facebook , PrimeSense ที่ Apple ซื้อกิจการไป, กลุ่มธุรกิจสาย Robot ที่ Google ซื้อกิจการ เป็นต้น
thumbsup: มีคําแนะนําเกี่ยวกับ Tech Startups ไทยอย่างไรบ้าง?
กฤษฎ์: ผมและทีม IPFund อยากให้ startups ไทยพยายามที่จะโฟกัสการผลิตงานที่ได้ใช้ทักษะความรู้ของเรามากขึ้น ที่เจอมากับตัวช่วงสอนทีมเด็ก startups 2 ปีมานี้คือหลายคนมีทักษะความสามารถผลิตเทคโนโลยีระดับ หุ่นยนต์ แต่กลับมาทําโซเชียลแอพฯ ซึ่งน่าเสียดายโอกาส และอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการตามกระแส ต้องระวังให้มากด้วยครับ
สําหรับเรื่องนักลงทุนนั้นไม่ต้องห่วงครับถ้าเราทําผลิตภัณฑ์และตลาดที่ดีได้แล้วโอกาสที่จะดึงนักลงทุนให้สนใจ โครงการของเรานั่นไม่ยากเลย ผมยกตัวอย่าง ก่อนที่พวกเราจะเปิด IPFund มีน้องท่านหนึ่งมาหาผม และทํา algorithm เชิงลึกตัวหนึ่งที่สามารถเข้าไปอยู่ในบอร์ดของมือถือ เพื่อเป็นตัว enhance ด้านกราฟฟิกโดยเทคโนโลยีแบบนี้ ทั้งโลกสามารถทําได้ไม่กี่คนเท่านั้น เค้าไม่ต้องออกไปตามล่าหานักลงทุนเอง แต่นักลงทุนระดับใหญ่ๆของโลกกลับตามหาเค้ากันอยู่ครับ ผมไปช่วยเจรจา ให้เค้าบ้างบางครั้ง