Site icon Thumbsup

เมื่อ Uber สะท้อนปัญหาจราจรกรุงเทพฯ ด้วยโฆษณาสุดสร้างสรรค์ “Boxes”

เป็นโฆษณาที่ได้รับเสียงชื่นชมเยอะเลยทีเดียวสำหรับ Boxes จาก Uber ที่สะท้อนปัญหาจราจรติดขัดในเมืองใหญ่หลาย ๆ เมืองของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรวมถึงเมืองหลวงของไทยอย่างกรุงเทพฯ รวมอยู่ด้วย โดยมีตัวเลขจาก Uber เผยร่วมด้วยว่า ปัจจุบันคนกรุงเทพฯ เสียเวลากับรถติดไปโดยเฉลี่ยวันละ 72 นาที และอีก 24 นาทีในการวนหาที่จอดรถ หรือรวมแล้วเราเสียเวลาไปกับรถติด 24 วันต่อปีเลยทีเดียว  

แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะใช้กล่องกระดาษสื่อแทนรถยนต์ พร้อมด้วยดนตรีประกอบในเพลง “Bare Necessities” จากภาพยนตร์การ์ตูนสุดคลาสสิคขวัญใจเด็กๆ ยุค 60 เรื่อง “เมาคลีลูกหมาป่า (The Jungle Book)” ของ Walt Disney มาช่วยให้การถ่ายทอดเรื่องราวดูซอฟท์ลง แต่ก็สะท้อนถึงความจริงที่ว่าเมืองใหญ่ทุกวันนี้กำลังถูกกล่องจำนวนมหาศาลบุกยึดพื้นที่ ซึ่งในจุดนี้ คุณศิริภา จึงสวัสดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย Uber เผยว่า บริการร่วมเดินทาง (ridesharing) สามารถลดจำนวนรถบนถนนในเมืองได้ถึง 60% หรือเท่ากับ 3.5 ล้านคัน และได้พื้นที่คืนจากที่จอดรถคิดเป็นพื้นที่มากถึง 275 เท่าของสวนลุมพินี

“ทุกวันนี้กรุงเทพฯ มีรถมากกว่า 5,800,000 คัน และต้องใช้พื้นที่เท่ากับ 8 สนามบินสุวรรณภูมิในการจอดรถทั้งหมด ขณะที่การใช้บริการร่วมเดินทางร่วมกับระบบขนส่งสาธารณะและรถยนต์ส่วนตัว จะช่วยแก้ปัญหาจราจรแออัดบนท้องถนน และปลดปล่อยพื้นที่จอดรถให้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ เราอยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนกรุงเทพฯ โดยใช้เทคโนโลยีช่วยปลดล็อคเพิ่มศักยภาพให้กับเมือง เพียงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรครั้งนี้ร่วมกัน”

คุณศิริภา จึงสวัสดิ์

ด้าน Boston Consulting Group (BCG) มีการสำรวจถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเมืองต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนเมื่อมีการนำแนวคิดและบริการร่วมเดินทางมาใช้อย่างกว้างขวางขึ้น พบว่าต้องใช้ 2 มาตรการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการจราจรให้ดีขึ้น นั่นคือการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันกับการใช้บริการร่วมเดินทาง

โดยปัจจุบัน Uber เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทยเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยพื้นที่ให้บริการในปัจจุบันครอบคลุมกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ เชียงราย พัทยา ชลบุรี และขอนแก่น ส่วนในระดับโลก Uber ให้บริการมากกว่า 600 เมือง ใน 78 ประเทศ อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจของ  Uber พบว่า เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มีปัญหาการจราจรติดขัดที่มากที่สุดในภูมิภาค ตามมาด้วยจาการ์ตา มะนิลา ฮานอย และกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งแน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่สามารถจบได้ด้วยโซลูชันใดโซลูชันเดียว แต่ต้องเป็นความร่วมมือร่วมใจกันของคนในประเทศนั้น ๆ ด้วยว่าเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา และบั่นทอนชีวิตความเป็นอยู่มากพอหรือยัง รวมถึงว่าต่อให้มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบรรเทา เราก็พร้อมจะเปิดรับเทคโนโลยีเหล่านั้นมากพอหรือยังด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว แม้ว่าจะมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีมากเพียงใด แต่ถ้าผู้ใช้งานยังไม่มีความพร้อมใจกัน ก็จะมีการหาทางหลบรอดออกจากระบบอยู่ดีนั่นเอง