หากจะบอกว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของการออกแบบไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตบนโลกกันใหม่ก็คงไม่ผิดนัก เพราะจากบรรยากาศเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมากับงานสัมมนา Digital Matters ครั้งที่ 10 ณ Link Collaboration Space ภายใต้ธีมแห่งการมองย้อนอดีต และเลือกหยิบสิ่งที่น่าจดจำแห่งปี 2017 เพื่อจะนำมันติดตัวไปด้วยสู่ปีต่อ ๆ ไปนั้น เชื่อว่าเราคงได้เห็นแล้วว่า มีหลายสิ่งที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปทีละเล็กทีละน้อยในปีที่กำลังจะจบลงนี้ และสุดท้าย เชื่อว่ามันจะวิวัฒนาการตัวเองกลายเป็นสินค้า และบริการตัวใหม่สำหรับผู้บริโภคในอนาคตเสียด้วย
ซึ่งสิ่งที่น่าจดจำแห่งปี 2017 ในมุมของของสองแขกรับเชิญอย่างคุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) และคุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดด้านการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา มีดังต่อไปนี้ค่ะ
1. ยุคของ Sharing Economy ว่าใหญ่แล้ว ยุคของ Autonomous Car น่าจะใหญ่กว่า
คุณสุธีรพันธุ์ในฐานะผู้เริ่มต้น เลือกที่จะมองการมาถึงของบริการ Ride-Sharing ที่กำลังเริ่มผนวกเข้ากับ Autonomous Car ว่าจะเป็นรูปแบบการให้บริการใหม่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ได้อย่างมาก รวมถึงมีโอกาสต่าง ๆ ซ่อนอยู่ภายในความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย
“เทรนด์ของ Autonomous มาแรงมาก ๆ และทำให้เราเกิดคำถามได้มากมายกับเทรนด์นี้ ที่จอดรถยังจำเป็นอยู่ไหม โชว์รูมต้องสร้างอีกหรือเปล่า คนอาจไม่ต้องการเป็นเจ้าของรถแล้ว แต่เปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบสมัครสมาชิก จ่ายเงิน 3,000 บาท แลกกับการเรียกรถอัตโนมัติมาใช้งาน 20 ชั่วโมงต่อเดือน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ Business Model ของโลกในอนาคตจะเปลี่ยนไปหมด”
อย่างไรก็ดี ได้มีการตั้งคำถามถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่าง “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI ด้วยเช่นกัน ว่าจะสามารถขึ้นมาควบคุม และอำนวยความสะดวกในชีวิตของมนุษย์ได้จริงหรือไม่
2. ยกหน้าที่ดูแลมนุษย์ให้ AI นั้นหนักเกินไปหรือไม่
ประเด็นที่ 1 มีความต่อเนื่องมาสู่ประเด็นที่ 2 เมื่อคุณศิวัตรได้ยกคลิปชิ้นหนึ่งชื่อ Todai Robot จาก TED Talk มาเปิดให้ฟังกัน โดยคลิปดังกล่าวกำลังจะสื่อว่า ความเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ในข้อ 1 ที่มี AI อยู่เบื้องหลังนั้น แท้จริงแล้ว AI มีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่แตกต่างจากมนุษย์อยู่ไม่น้อย และรูปแบบการหาคำตอบของ AI ก็สวนทางกับวิธีประมวลผลของมนุษย์เสียด้วย นั่นจึงนำไปสู่การท้าทายว่า AI จะสามารถขึ้นมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ได้จริงหรือ
ซึ่งการจะถามคำถามนั้นอาจเร็วเกินไป โปรเจ็ค Todai Robot จึงนำ AI มาท้าทายว่าจะสามารถผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวได้ภายในปี 2020 หรือไม่ ซึ่งสิ่งที่นักวิจัยอย่างคุณโนริโกะ อาราอิ พบเพิ่มเติมก็คือ นอกจาก AI จะหาคำตอบได้เร็วและเก่งขึ้นแล้ว เด็กญี่ปุ่นที่ทำข้อสอบได้นั้นก็มีจำนวนน้อยลงอีกด้วย
นั่นจึงนำไปสู่ความท้าทายใหม่ที่ว่า ยังมีจุดใดบ้างที่มนุษย์ยังไม่แพ้หุ่นยนต์ และเราจะสามารถสร้างคนให้เก่งขึ้นเพื่อมาทำงานที่ควบคุม AI ได้จริงหรือไม่ ในสถานการณ์ดังกล่าว
“การทำงานของคนในด้านการใช้แรงงาน ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามนุษย์แพ้เครื่องจักรไปเรียบร้อย ส่วนเรื่องของสมอง วันนี้ หุ่นยนต์ก็แซงหน้ามนุษย์ไปแล้วเช่นกัน ดังนั้น ข้อแตกต่างเดียวที่หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้ นั่นคือ ความเห็นอกเห็นใจ เพราะมันไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่” คุณสุธีรพันธุ์กล่าวสรุป
3. การดับลงของสื่อ (เก่า?) กับการเกิดขึ้นของสื่อ (ใหม่?)
เป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีกับการประกาศเลิกจ้างพนักงานของทีวีพูล หลังประสบภาวะขาดทุนกับการทำทีวีดิจิทัล ขณะที่เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็เกิดปรากฏการณ์ใหม่ของสื่อไทยเมื่อประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีช่องบน YouTube ที่มีผู้ติดตามทะลุ 10 ล้านคนเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับ GMM Grammy และเวิร์กพอยต์ ที่ GMM Grammy ชนะไปอย่างเฉียดฉิว
4. คนดูรายการทีวีลดลง แต่ดูรายการผ่านมือถือมากขึ้น
ข้อสามและข้อสี่มีความต่อเนื่องกัน โดยเชื่อว่าหลายคนจะสังเกตเห็นตัวเลขของ Nielsen ที่ส่งออกมาทุกเดือนเป็นเครื่องชี้วัดได้ดีว่าเม็ดเงินโฆษณากำลังจะหมุนออกจากสื่อทีวีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกลายเป็นจุดที่ทำให้คนทำรายการทีวีออกมาทำคลิปชวนให้ผู้บริโภค ถ้ามีเวลาว่างพอช่วยหันกลับมาดูรายการทีวีอีกครั้ง
“ความน่าสนใจของคลิปวิดีโอตัวนี้ คือ นักการตลาดนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้ดูในเรื่องเรตติ้งอีกแล้ว แต่ดูโปรไฟล์ของรายการนั้น ๆ มากกว่า มันจึงอยู่ที่การปรับทัศนคติ ปรับรูปแบบการผลิตคอนเทนต์ว่าจะปรับอย่างไรให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า” คุณสุธีรพันธ์กล่าว
5. ความสำเร็จของ “ฉลาดเกมส์โกง” – “ตราบธุลีดิน”
ภาพยนตร์เรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” จากค่าย GDH เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่นอกจากจะทำเงินในประเทศได้ไม่น้อยแล้ว ยังเป็นหนังที่บินไปโตไกลในต่างแดนแทบทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทั้งจีน (ขึ้นอันดับหนึ่ง Box Office) ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ฯลฯ ซึ่งคุณศิวัตรและคุณสุธีรพันธ์วิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ การที่หนังเรื่องนี้นำเสนอประสบการณ์ร่วมที่ผู้บริโภคในเอเชียส่วนมากต่างพบเจอ นั่นคือการใช้การสอบเข้าวัดโอกาสในการประสบความสำเร็จในชีวิต
“ผมชอบเรื่องนี้เพราะมันเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ถ้าหากเราจับจุดได้ และทำอะไรที่มันดี ๆ ขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง และเราทำการตลาดเป็น เราสามารถไปได้แล้ว” คุณศิวัตรกล่าว
“ถ้าหากเราย้อนไปดูฉลาดเกมส์โกง หนึ่งในความสำเร็จของหนัง GDH คือการหยิบเอา Insight ที่มันโดน ๆ มาเล่น ซึ่ง Insight ของเรื่องฉลาดเกมส์โกงนี้แรง และโดน และฐานคนดูโคตรจะเยอะ”
ด้านคุณสุธีรพันธุ์เสริมว่า “นี่ไม่ใช่หนังไทย มันคือหนังเอเชีย เพราะว่าในอดีตเรามีสอบจอหงวนใช่ไหม นั่นคือวัฒนธรรมการสอบของประเทศเอเชียที่ให้คุณค่ากับการสอบ และการสอบผ่าน และการได้คะแนนสูงมาก ซึ่งมันเป็นอารมณ์ร่วมของคนเอเชีย ที่มีการสอบ และการโกงอย่างเข้มข้นมาก ซึ่งจุดนี้ ไม่ว่าจะนักเรียนคนไหนในเอเชียดูก็โดน”
ความสำเร็จนี้ของฉลาดเกมส์โกงยังถูกโยงจากจอเงิน ไปสู่จอ YouTube เมื่อคอนเทนต์ของรายการ The Mask Singer 2 อย่างเพลง “ตราบธุลีดิน” ของหน้ากากหอยนางรม ขึ้นแท่นคลิปทั่วไปที่มีการรับชมมากที่สุดในโลกประจำปี 2017 ที่คุณสุธีรพันธ์ชี้ว่า นี่คือการหา Business Model ใหม่ ๆ ในธุรกิจที่เราอยู่ให้เจอ เพราะการดึงคอนเทนต์ขึ้นไปบน YouTube ในวันที่เวิร์กพอยต์ไม่มีอะไรจะต้องเสีย กลับทำให้พบว่า บนโลกออนไลน์นั้นมีผู้ชมรอดูอยู่เป็นจำนวนมาก และกลายเป็นความสำเร็จของเวิร์กพอยต์ในที่สุด
6. “วันคนโสด” วันแสดงพลังที่แท้ทรูของจีนแผ่นดินใหญ่
วันคนโสดเป็นอีกหนึ่งวันที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของปี 2017 โดยเป็นปีที่นักการตลาดทั่วโลกต่างจับตาถึงยอดขายว่าจะเกิดการทุบสถิติอะไรขึ้นบ้างในเมืองจีน ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึง ก็ไม่ได้ทำให้นักการตลาดผิดหวัง เมื่อยอดขายสินค้าในจีนแผ่นดินใหญ่พุ่งทะยานเป็นที่ตกตะลึงไปทั่วโลกถึงพลังการช้อปของคนจีน
หันกลับมาดูในตลาดบ้านเรา ก็มีสัญญาณบวกเช่นกันต่อวงการ E-Commerce แต่สิ่งที่ต้องเรียนรู้และนำไปปรับปรุงต่อไปคือเรื่องของระบบหลังบ้านที่บางรายอาจไม่พร้อมและเกิดเว็บล่ม ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมการซื้อขายตลอด 24 ชั่วโมงได้อย่างราบรื่น
คุณศิวัตรเล่าว่า “ผมเชื่อว่าปีหน้า E-Commerce ไทยจะเตรียมตัวได้ดีกว่านี้ สำหรับแบรนด์ ผมอยากยกหลาย ๆ กรณีของแบรนด์ เช่น Xiaomi ขายได้ 11,800 ล้านหยวนใน 24 ชั่วโมง ซึ่งถ้าซีอีโอของแบรนด์ต่าง ๆ มองเห็นถึงศักยภาพนี้ และใช้มันให้เกิดประโยชน์ มันจะเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพมาก”
7. สังคมไร้เงินสดกับ QR Code มาตรฐาน
ไม่ใช่ทุกประเทศที่ปรับตัวเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสดได้อย่างไร้รอยต่อ เพราะยังมีหลายประเทศที่ติดกับดักความคุ้นเคยดั้งเดิมของตัวเองจนไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ สำหรับประเทศไทย สังคมไร้เงินสดเป็นคำที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 – 4 ของปีนี้หลังการประการเปิดตัว QR Code มาตรฐานอย่างเป็นทางการ ซึ่งแขกรับเชิญทั้งสองท่านเห็นตรงกันว่า นี่คืออีกจุดเปลี่ยนที่น่าจดจำจุดหนึ่งของปีนี้เลยทีเดียว
“ทุกวันนี้ จีนและอินเดียมีการใช้ QR Code อย่างกว้างขวาง แต่ที่กำลังจะเป็นประเทศที่สามก็คือประเทศไทย ซึ่งจุดที่แตกต่างกับจีนและอินเดียคือการที่ประเทศไทยมี QR Code มาตรฐาน อีกทั้งการเข้าถึงสมาร์ทโฟนของคนไทยก็มีมากขึ้น และสัญญาณอินเทอร์เน็ตของไทยก็เข้าขั้นดี จึงเชื่อว่าสังคมไร้เงินสดน่าจะเกิดขึ้นในไทยได้ไม่ยาก” คุณสุธีรพันธ์กล่าว
8. ปรากฏการณ์ “ตูน บอดี้สแลม”
สำหรับปรากฏการณ์ก้าวคนละก้าว คุณป้อม – ศิวัตรเผยว่า “ในแวดวงการตลาด เรามักพูดกันเสมอ ๆ ว่าจากคนธรรมดา กลายเป็นดาราได้จากพลังของ Social Media แต่สำหรับกรณีของตูน บอดี้สแลมนั้น นอกจากจะไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว การออกมาวิ่งครั้งนี้ร่วมกับเพื่อน ๆ ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยได้อย่างใหญ่โตมากทีเดียว”
สิ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ครั้งนี้ขึ้นได้ ส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาจากพลังของ Social Media และเทคโนโลยีที่เชื่อมคนเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งคุณป้อมมองว่า ในอนาคต ปรากฏการณ์ในลักษณะนี้จะสามารถสร้างขึ้นได้อีก ผ่านเครื่องมือทรงพลังที่ชื่อว่า Social Media นั่นเอง
9. การกล่าว Speech ในพิธีสำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก
มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กเป็นใคร เชื่อว่าคำถามนี้ทุกคนคงทราบคำตอบกันดี แต่การกลับมาที่มหาวิทยาลัยอีกครั้งเพื่อกล่าว Speech แก่บัณฑิตที่กำลังจะจบการศึกษาในปีนี้ ได้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจและถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก กับหลาย ๆ ข้อคิดที่เขาได้ฝากไว้ ซึ่งแง่คิดที่โดนใจแขกรับเชิญของเรามากที่สุดมี 3 ข้อ ได้แก่
- การทำดีกับผู้อื่นเป็นสิ่งที่จำเป็น (จริง ๆ นะ)
- หน้าที่ของคนเจเนอเรชันนี้ (Millennials) นอกจากการทำตามเป้าหมายของตัวเองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือการช่วยคนอื่นหา “Sense of Purpose” ของตัวเองให้เจอด้วย
- การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่อยู่รอบตัวเราก่อน (Change starts local)
10. การเติมเต็มตัวเองด้วยแนวคิด Ikigai
คุณสุธีรพันธุ์ดึงแนวคิด Ikagai มาเป็นหัวข้อสุดท้ายของการพูดคุยในวันนี้ กับการเติมเต็มตัวเองที่ลงลึกได้มากกว่าความสุขแบบทั่วไป ซึ่งทุกจุดทุกความสัมพันธ์ในแผนภูมินี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับชีวิตได้จริง (สามารถฟังในคลิปย้อนหลังได้ช่วงนาทีที่ 1.35.00 ค่ะ)
ส่วนสาเหตุที่นำแผนภูมิ Ikigai มาปิดท้ายนั้น เชื่อว่าผู้ฟังในงานจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของความเป็นพี่ ที่อยากฝากให้คนรุ่นต่อไปนำข้อคิดนี้ไปพัฒนาตัวเอง และหาสิ่งที่ตัวเองรัก สิ่งที่ตนเองถนัดให้เจอ โดยที่สิ่งที่รักนั้นต้องทำประโยชน์ให้กับโลก และสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้ว ชีวิตมนุษย์ก็อาจมีแค่นี้จริง ๆ ก็ได้ค่ะ ขอบคุณทุกท่านสำหรับการมาเยือน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน พบกันใหม่กับ Digital Matters ครั้งที่ 11 ในปี 2018 นะคะ