ด้วยพฤติกรรมของแบรนด์ในตอนนี้ที่หันมาพึ่งพาการใช้โซเชียลมีเดียแทบจะเป็นตัวหลัก ด้วยเหตุผลหลักๆ ว่าเป็นช่องทางที่สามารถทำ 2-ways communication, เข้าถึงเป้าหมายมากกว่าการลงสื่อแบบออฟไลน์ และราคาถูกกว่า(เดี๋ยวนี้ก็ไม่แล้วนะ) เลยทำให้ทุกสิ่งอย่างโผล่ขึ้นมาอยู่บนหน้า News Feed ไปอัตโนมัติ จนกลายเป็นการช่วงชิงพื้นที่โฆษณาแทน
จึงเป็นที่มาของบทความจาก Fast Company ที่พูดถึง 10 พฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียที่ตัวเองคิดว่าดี แต่ที่จริงแล้วเข้าใจผิดล้วนๆ จนทำให้คนอ่านเบื่อหน่าย
1. ขายตลอด
ใช่อยู่ว่าโซเชียลมีเดียคือช่องทางในการทำมาหากินของแบรนด์ แต่ใช่ว่าจะใช้พื้นที่นี้ในการขายอย่างเดียว ควรจะใช้ทำประโยชน์เพื่อให้กับคนอ่านมากขึ้นด้วย รวมไปถึงพูดคุยกับคนที่มาสอบถามด้วย เพราะคนที่เข้ามาในพื้นที่ของแบรนด์ย่อมต้องการอะไรที่มากกว่าการขาย
*กรณีนี้นอกเสียจากว่าคุณทำบริการแจ้งโปรโมชันสินค้าลดราคาอย่างเดียวนะครับ แต่ก็ต้องตอบคำถามให้ได้อยู่ดี
2. ส่งข้อความอัตโนมัติให้ผู้ติดตามใหม่
ยุคที่ผมเล่น Twitter แรกๆ บางแบรนด์ที่ผมติดตามด้วยจะมีข้อความตอบกลับมาทันทีผ่าน Direct Message ด้วยข้อความประมาณว่า ขอบคุณที่ Follow เรา บลาๆ ซึ่งมองเผินๆ เหมือนจะดี แต่ถ้าคิดดูแล้วคนที่ติดตามทุกคนได้ข้อความแบบนี้มันก็คงแปลกๆ เพราะมันคือข้อความอัตโนมัติที่ทุกคนได้รับ ซึ่งอะไรที่มันไม่ได้ออกมาจากใจมันก็เหมือนไม่ได้ให้ความจริงใจที่จะส่งแต่อย่างใด ดังนั้นน่าจะเน้นหรือ Focus ในด้านเนื้อหาของข้อความทวีตหรือเอาใจใส่ด้านอื่นๆ น่าจะดีกว่า
3. เปิดเผยตัวตนเกินความจำเป็น
แม้ว่าคุณจะมีเพื่อนสนิทของคุณแค่ไม่กี่คน สิ่งที่คุณแชร์ออกไปบนโลกโซเชียลนั้นมีความเป็นส่วนต้วน้อยกว่าที่คุณคิดมากๆ (เหมือนกับที่เราได้เห็นข่าวหลุดจากเพื่อนนักแคปภาพในตำนานทั้งหลาย จนกลายเป็นเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดกันไป) ดังนั้นการเปิดเผยอะไรบางอย่างที่เป็นความลับจริงๆ พึงหลีกเลี่ยง
เพราะบนโลกโซเชียลไม่มีอะไรที่เป็นความลับและไม่มีพื้นที่ส่วนตัวครับ
4. ปากหนัก ไม่ขอบคุณ!
เรื่องนี้อาจจะว่าอะไรไม่ได้นัก แต่ก็น่าจะทำกันจนเป็นธรรมเนียมหรือตามมารยาทไป เพราะเดี๋ยวนี้คนพูดขอบคุณ ขอโทษกันน้อยลงเยอะมากทั้งในชีวิตจริงหรือจะเป็นออนไลน์ การที่คนเข้ามาตอบคำถามหรือถามคำถาม แม้กระทั่งการแชร์ เราควรจะเข้าไปขอบคุณหรือทำอะไรบางอย่างให้คนคนนั้นรับรู้ด้วยว่าเราเห็นและต้องการขอบคุณด้วยความจริงใจ
5. โพสต์ซ้ำโพสต์ซาก
หลายครั้งที่เราอยากจะให้คนเห็นว่าเราอยากจะแชร์อะไรไป แต่กลับเลือกวิธีด้วยการแชร์แบบซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นสิบๆ รอบ สิ่งที่คุณอาจจะได้รับจากการทำสิ่งนี้คือ คนจะทยอยเลิกติดตามคุณ เพราะขืนทนตามไปก็คงได้ link เดิมๆ เก่าๆ อย่างแน่นอน
6. โพสต์ลูกโซ่ โก้เหรอครับ?
นับตั้งแต่ยุคจดหมายที่ถูกส่งมาและให้เขียนต่อเป็น 10-100 ฉบับ ก็มียุคนี้ที่มีการส่งต่อข้อความหรืออะไรบางอย่างที่เป็นลูกโซ่เช่นกัน โดยเฉพาะข่าวลือต่างๆ หรือภาพต่างๆ และ Pages ทั้งหลายก็ยินดีที่จะ “โหน” กระแสไปด้วย โดยไม่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น
ดังนั้น ไม่ว่าจะ Pages หรือผู้ใช้ทั่วไปก็ควรที่จะตรวจสอบแหล่งที่มาที่ไปของข้อมูลหรือภาพจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือก่อนที่จะ “โหน” นะครับ
7. โพสต์ดราม่าหรือคลุมเครือเข้าว่า
จริงๆ แล้วในบทความต้นฉบับใช้คำว่า Vaguebooking ซึ่งถ้าผมเข้าใจไม่ผิด จะเป็นการล้อเลียน Facebook โดยเปลี่ยนเป็น Vague ซึ่งแปลว่าคลุมเครือ โดยลักษณะนี้เป็นการโพสต์สเตตัสแบบคลุมเครือเข้าไว้ก่อนเพื่อให้คนเข้ามาสอบถามหรือล่อให้คนมาถามว่าเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่นว่า “นี่รู้เลยว่าใครเป็นเพื่อนแท้ของเรากันแน่” การโพสต์แบบนี้จะสร้างความสงสัยว่ามันเป็นอะไรของมัน เอ้ย เขาเป็นอะไรหรือเปล่า หรือเกิดอะไรขึ้น หรือจงใจจะเริ่มต้นดราม่าหาพวกพ้องเพื่อให้เข้ามาเห็นด้วยกับตน
การที่แบรนด์มาโพสต์แบบนี้ยิ่งจะทำให้จุดไฟโหมไฟดราม่าได้ง่ายๆ และคนที่ติดตามอยู่ก็คงไม่ชอบ (นอกจากเพจนั้นจะสร้างสรรค์ดราม่ามันๆ ก็คงว่าเขาไม่ได้ ไม่ต้องบอกนะครับว่าเพจไหน…)
8. โหนไปทั่ว
ใครๆ ก็อยากให้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกระแส โดยเฉพาะบน Twitter ด้วยการติดตาม trending hashtag ที่ปรากฎบนหน้าเว็บไซต์ ซึ่งข้อมูลที่ผ่านการทวีตนั้นควรจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ hashtag ด้วยเพื่อการติดตามข่าวสารไปในทางเดียวกัน
การโหนกระแสด้วยการโพสต์สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ผิดในการปฎิบัติเพราะสามารถทำกันได้ แต่ในเชิงมารยาทแล้ว หาก hashtag นั้นเป็นสิ่งร้ายแรง ต้องการให้คนติดตาม การโพสต์โหนในเวลานั้นคงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ๆ
9. ขาดซึ่งมารยาท
ไม่ว่าจะบนออนไลน์หรือโลกความเป็นจริง เราก็ควรจะมีมารยาทในการพูดหรือแชร์ ในฐานะที่เป็นตัวแทนแบรนด์คงคิดไว้เสมอว่าหากทำอะไรลงไป คนที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมดนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะทุกอย่างอยู่ในน้ำมือของเรา
10. ใช้ภาษาแย่
ถ้าเป็นภาษาอังกฤษแล้ว การใช้ตัวอักษรตัวใหญ่ทั้งหมด ผู้ที่ได้อ่านจะตีความว่าผู้พิมพ์สื่อว่าจะด่าหรือตะโกนใส่เรา ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการใช้ ในภาษาไทยนั้นเนื่องจากภาษาดิ้นได้และสามารถถูกตีความไปได้หลายๆ แง่มุม แม้ว่าคนที่สื่อความไม่มีความตั้งใจที่จะให้เป็นอย่างนั้นก็ตาม ดังนั้นการเลือกสรรคำที่จะทำมาใช้ควรจะต้องมีความระมัดระวังหากคุณเป็นตัวแทนของแบรนด์ ไม่เว้นแม้แต่คนทั่วไป เพราะที่เจอนั้น มีคนผิดใจกันเพราะการใช้คำหรือประโยคที่อ่านแล้วไม่เข้าใจมานักก็นัก
คำถามที่อยากจะถามกับผู้อ่านก็คือ คุณได้ทำบางข้ออย่างในบทความนี้หรือไม่ครับ? หากทำก็ลด ละและเลิกกระทำสิ่งเหล่านี้ทั้งบนโลกออนไลน์และชีวิตจริงของคุณกันเถอะครับ ด้วยความห่วงใยจริงๆ ครับ
ที่มา: Fast Company