ขึ้นชื่อว่าการทำธุรกิจแล้ว ยังไงๆ ก็ต้องมีต้นทุน สำหรับบริษัทใหญ่ๆ อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากการจ่ายเงินไปกับต้นทุนที่ไม่จำเป็นมากนัก แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือแม้แต่ Startup ที่เพิ่งเริ่มกิจการ ความสามารถในการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นอาจจะมีผลกับความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาวก็ได้ วันนี้เรามี 10 วิธีการลดต้นทุนจาก Business News Daily มาฝาก หลายๆ ข้ออาจจะเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว แต่บางข้อก็อาจจะถูกมองข้ามไป มาดูกันเลยค่ะว่าธุรกิจของคุณยังสามารถทำอะไรเพิ่มเติมได้อีกบ้างเพื่อลดต้นทุน
1. จ้าง outsource
งานบางอย่างที่เป็นโปรเจคต์ระยะสั้นหรือเมื่อจบโปรเจคต์แล้วหน้าที่นั้นๆ อาจจะไม่จำเป็น ก็ควรจะจ้างฟรีแลนซ์หรือจ้างแบบ contractor มาทำมากกว่าจ้างพนักงานประจำที่จะต้องมีต้นทุนเรื่องสวัสดิการเพิ่มเข้ามาอีก ในกรณีที่ผลงานของ freelance คนนั้นโดดเด่นมาก คุณอาจจะจ้างเขามาเป็นพนักงานประจำในภายหลังก็ได้
2. จ้างเด็กฝึกงาน
วิธีนี้ถือว่าเป็น win-win solution เพราะเด็กฝึกงานก็ได้ประสบการณ์กลับไป ส่วนธุรกิจเองก็ได้จ่ายค่าจ้างในราคาที่ไม่แพง แต่อย่าลืมว่าต้องเอาต้นทุนในเรื่องการสอนงานมาบวกลบคูณหารด้วยว่าคุ้มหรือไม่ สำหรับในบ้านเราไม่ค่อยเห็นการจ่ายเงินจ้างเด็กฝึกงานเท่าไร ส่วนมากจะเป็นงานฟรี (คุ้มกว่าอีก)
3. ใช้อีเมลแทนการส่งจดหมายจริงๆ
หลายๆ คนอาจจะถามว่าสมัยนี้ยังมีการส่งจดหมายหรือพัสดุจริงๆ กันอีกเหรอ ที่จริงก็ยังมีอยู่ อาจจะใช้เมื่อต้องการแสดงความยินดีกับบริษัทคู่ค้า หรือแสดงถึงคำขอบคุณที่มีต่อลูกค้า ค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ อย่างแสตมป์ ซองจดหมาย ค่าออกแบบและจัดพิมพ์การ์ด อาจจะเพิ่มขึ้นแบบไม่รู้ตัว และกลายเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมากไปในที่สุด ถ้าเป็นไปได้ก็ใช้ส่งอีเมลดีกว่า ลดการใช้กระดาษไปในตัวด้วย
4. Print งานให้น้อยลง
หมึกพิมพ์ กระดาษ ตู้เก็บกระดาษ ล้วนเป็นต้นทุนที่สามารถกำจัดออกไปได้ง่ายๆ ในยุคดิจิทัล ลองเก็บเอกสารไว้ใน Hard disk สแกนเอกสารเป็นไฟล์ดิจิทัลมาอ่านแทนการถ่ายเอกสาร แต่ก็อย่าลืมระวังเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลด้วย
5. ขอลดค่าธรรมเนียมรายปีบัตรเครดิต
เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กส่วนมากอาจจะใช้บัตรเครดิตสำหรับค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งเมื่อมาคิดถึงค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายไปทุกๆ ปีก็ถือว่าเป็นเงินมากอยู่ การขอลดอัตราค่าธรรมเนียมอาจจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้
6. ต่อรองราคาสินค้าที่ซื้อจากซัพพลายเออร์
นอกจากจะต่อรองกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตแล้ว ก็อย่าลืมต่อราคากับซัพพลายเออร์ด้วย ซึ่งซัพพลายเออร์ส่วนมากก็จะคุ้นเคยกับการเจรจาในลักษณะนี้อยู่แล้ว เนื่องจากพวกเขาก็ต้องรักษาฐานลูกค้าไว้เหมือนกัน
7. จ่ายเงินให้ซัพพลายเออร์เร็วขึ้น
ซัพพลายเออร์บางที่จะมีการให้ส่วนลดสำหรับการจ่ายเงินภายในเวลา 2-3 วันหลังได้รับสินค้าหรือบริการ ส่วนลดเหล่านี้แหละคือต้นทุนที่ลดลง วิธีนี้ยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ในระยะยาวอีกด้วย
8. ซื้อสินค้าตกรุ่นมาใช้งาน
เทคโนโลยีในยุคนี้เปลี่ยนเร็วมากจนตามไม่ทัน สินค้าตกรุ่นที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของคุณและยังใช้งานได้ดีอาจจะมีราคาถูกลงทันทีที่มีสินค้าใหม่ๆ เปิดตัวขึ้นมา ถ้าเป็นส่วนงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ของที่มีนวัตกรรมล่าสุด การใช้ของตกรุ่นอาจจะช่วยประหยัดต้นทุนได้
9. เดินทางให้น้อยลง
คุณสามารถประหยัดทั้งเวลาและเงินเมื่อตัด Trip ที่ไม่จำเป็นออก ลองใช้การประชุมแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Skype หรือ Webex เพื่อพูดคุยกับคนจากหลายๆ สถานที่แทนการเดินทางไปหาพวกเขา
10. ให้พนักงานทำงานที่บ้าน
ถ้าเป็นไปได้ ลองให้พนักงานของคุณทำงานจากที่บ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน คุณจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของ ค่าใช้จ่ายในสำนักงาน ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งคิดกันเป็นเงินต่อปีแล้วก็ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ แต่สำหรับในประเทศไทย เรื่อง work from home อาจจะยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนัก เนื่องจากเจ้าของธุรกิจอาจจะกังวลว่าเมื่อพนักงานทำงานที่บ้านอาจจะทำให้งานไม่เดิน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วมีความเห็นว่าปัญหานี้แก้ไม่ยาก เพียงแค่กำหนด output หรือเป้าหมายของงานให้ชัดเจนก็น่าจะช่วยได้
จบแล้วค่ะ 10 วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจได้ ผู้อ่านมีวิธีประหยัดต้นทุนแบบอื่นๆ มาแชร์ให้ฟังมั้ยคะ ลองบอกไว้ที่คอมเมนต์ด้านล่างได้เลยค่ะ