คนทั่วๆ ไปพอจะรู้ว่ามารยาทในการใช้มือถือเป็นอย่างไร อะไรที่ควร และอะไรที่ไม่ควร สำหรับบทความจาก Forbes ชิ้นนี้ มาจากการสำรวจและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับมารยาทสาธารณะร่วมสมัย ซึ่งจะช่วยเตือนเราว่าอย่าเผลอทำพฤติกรรมแบบนี้
ปล่อยให้โทรศัพท์ดังในที่ประชุม
จากการสำรวจโดย Intel ระบุว่า ผู้จัดการฝ่ายบุคคล 60% รู้สึกไม่โอเคเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น และถือว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ
ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กขณะประชุม
จากการสำรวจในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล 200 คน มี 40% ที่ระบุว่าการใช้งานมือถือในลักษณะนี้เป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหลายๆ ออฟฟิศ และโดยมากแล้ว พวกเขาสรุปว่า มันเป็นความประพฤติที่ไม่เหมาะสม
ใช้มือถือบนโต๊ะอาหาร
Anna Post ผู้เขียนหนังสือเรื่อง 18th Edition of Emily Post’s Etiquette กล่าวว่า แม้แต่การวางมือถือหรือดีไวซ์อื่นๆ ไว้บนโต๊ะระหว่างการดินเนอร์ก็คือการส่งสัญญาณที่ไม่ดีไปให้กับอีกฝ่าย และมันยังรบกวนความสนใจด้วย
ไม่สนใจหน้าจอเมื่อประชุมทางไกล
ข้ออื่นๆ ที่ผ่านมาคือข้อห้ามในการใช้มือถือ แต่ในกรณีที่ต้องใช้ อย่างเช่นการประชุมทางไกลผ่าน Facetime ในห้องประชุมใหญ่ๆ สิ่งที่ควรทำคือสนใจมัน ไม่เช่นนั้นคุณจะไม่มีตัวตน และไม่น่าสนใจ แถมมันยังแสดงถึงความไม่เคารพอีกฝ่ายด้วย
แชทระหว่างทานข้าว
ใครๆ ก็รู้ว่าเราไม่ควรแชทไปกินไป ถ้าในแง่สุขภาพ มันทำให้เราไม่โฟกัสกับอาหารตรงหน้า และเคี้ยวไม่ละเอียด แต่ในแง่ของธุรกิจ มันคือการตัดตัวเองออกจากบทสนทนา และจมดิ่งอยู่ในโลกส่วนตัว
พูดคุยเรื่องส่วนตัวในที่สาธารณะ
ไม่มีใครอยากได้ยินคุณคุยโทรศัพท์ในเรื่องส่วนตัวหรอก เราอาจจะเคยได้ยินคนแปลกหน้าพูดเรื่องส่วนตัวเสียงดังๆ ในที่สาธารณะ เช่น สนามบิน หรือร้านอาหาร อยู่บ่อยๆ นอกจากจะทำให้คนอื่นๆ มองเราด้วยสายตาแปลกๆ แล้ว เพื่อนที่อยู่ข้างๆ ก็จะทำหน้าไม่ถูกเหมือนกัน
เปิดเพลงดัง แต่หูฟังไม่ใช้
การชมมิวสิกวิดีโอ หรือฟังเพลงในที่สาธารณะอย่างเช่น ออฟฟิศ รถบัส หรือสนามบิน เป็นเรื่องปกติ ถ้าใช้เฮดโฟน หรือหูฟัง และจริงๆ แล้ว มันคือมารยาทอย่างหนึ่งที่ควรปฏิบัติในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
เปิดสั่นในที่ประชุม
เมื่อเข้าห้องประชุม เราควรปิดเสียงโทรศัพท์ แต่แค่นั้นอาจไม่พอ เพราะการเปิดสั่นก็อาจดึงสมาธิของคนอื่นๆ ได้ บางทีอาจจะน่ารำคาญกว่าการเปิดเสียงอย่างเดียวด้วยซ้ำ สิ่งที่ดีกว่าคือการปิดเสียงและปิดสั่นด้วย
ใช้ริงโทนที่ไม่เหมาะสม
คำว่า “ไม่เหมาะสม” ในที่นี้ คือเสียงที่เลือกใช้และระดับเสียง ซึ่งก็คงจะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ และวัฒนธรรมของแต่ละองค์กร