จากข้อมูลที่มีการนำเสนอบนเวที Thailand Zocial Awards พบว่าพื้นที่บน Instagram ของดาราระดับแม่เหล็ก เช่น อั้ม-พัชราภา, ชมพู่ – อารยา, ใหม่-ดาวิกา ฯลฯ ซึ่งมียอดผู้ติดตามหลักล้านคนนั้น ล้วนเคยเป็นช่องทางการฝากร้านของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ จุดนี้เองที่หลายคนมองว่าเป็นการใช้พื้นที่ดังกล่าวหาประโยชน์ และสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่เจ้าของ IG พอสมควร
นั่นจึงนำมาซึ่งความน่าสนใจของ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับ 2) พ.ศ.2560 ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับใหม่นั้น กำหนดว่า ลักษณะการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ – อีเมลโฆษณา ที่มีลักษณะก่อความรำคาญเดือดร้อนแก่ผู้รับ และไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์ได้ เข้าข่ายถือเป็นสแปม และมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งการฝากร้านบน Facebook หรือ IG ก็เข้าข่ายการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายข้างต้นด้วย (มาตรา 11)
แต่เมื่อหันมาดูมูลค่าของตลาด E-Commerce แยกตามช่องทางการขายและอุตสาหกรรม (อ้างอิงจากงาน Thailand Zocial Awards 2017) นั้น พบว่า ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง มูลค่าการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม Social Media นั้นมีสูงเกือบ 270,000 ล้านบาท โดยสินค้าที่มักมีการฝากร้านตาม IG ดารา เป็นสินค้าหมวดแฟชั่น 71% หมวดสุขภาพและความงาม 22% หมวดสินค้าแม่และเด็ก 4% และหมวดอุปกรณ์ไอที 3% นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามว่า แล้วหลังจากนี้ รูปแบบการค้าขายบนแพลตฟอร์ม Social Media อย่าง Instagram จะประสบปัญหาหรือไม่อย่างไร
อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้ก็ได้เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีสามารถออกประกาศกำหนดลักษณะและวิธีการส่ง รวมทั้งลักษณะและปริมาณของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ และลักษณะอันเป็นการบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่ายเอาไว้ด้วย
นั่นจึงหมายถึงว่า การออกประกาศกำหนดในลักษณะดังกล่าวเป็นประเด็นที่น่าติดตาม เพราะประกาศฉบับนี้จะเป็นตัวชี้ว่า สิ่งใดทำได้ หรือทำไม่ได้ และทำได้แค่ไหนอย่างไร นั่นเอง
นอกจากเรื่องของการฝากร้านใน IG หรือส่งอีเมลขายของที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คอมพ์ฉบับใหม่ที่เราขอนำมาฝากกันดังนี้
- การทำลาย แก้ไข ไม่่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนของข้อมูลคอมพิวเตอร์ผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มาตรา 9)
- การระงับ ชะลอ ขัดขวาง รบกวนระบบของผู้อื่นจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ โทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มาตรา 10)
- การโพสต์ข้อมูลที่บิดเบือน หรือปลอม จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- การโพสต์ข้อมูลเท็จที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือทำให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- การโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร – การก่อการร้าย จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- การกด Like ทำได้ไม่ผิด พ.ร.บ. คอมพ์ยกเว้นการกด Like ข้อมูลที่มีฐานความผิดดังที่กล่าวมาข้างต้น
- การกด Share ถือเป็นการเผยแพร่ หากข้อมูลที่แชร์มีผลกระทบต่อผู้อื่น อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ โดยเฉพาะที่กระทบต่อบุคคลที่ 3
- ผู้ดูแลระบบ หรือแอดมินเพจที่เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็น เมื่อพบเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ถ้าได้รับการแจ้งเตือนแล้วลบออกไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าไม่ยอมลบออก โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้ให้บริการเว็บไซต์ต้องขยายเวลาการเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Log) เอาไว้ไม่น้อยกว่า 90 วัน และกรณีที่จำเป็น อาจสั่งให้ขยายเป็น 2 ปี สาเหตุที่ขยายเวลาเนื่องจากเทคโนโลยีมีความเปลี่ยนแปลง รูปแบบการกระทำความผิดจึงอาจซับซ้อนมากขึ้น
- การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทำให้ระบบทำงานไม่ปกติ ทำให้บาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
- การโพสต์ภาพลามกและสามารถแชร์สู่ประชาชนคนอื่นได้ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- การโพสต์ภาพของผู้อื่นที่เกิดจากการสร้าง ตัดต่อ หรือดัดแปลง ที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
- การโพสต์ภาพผู้เสียชีวิต หากเป็นการโพสต์ที่ทำให้บิดามารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
โดยในจุดที่เรานำมาฝากกันอาจเป็นพฤติกรรมการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับ Social Media เป็นสำคัญ แต่ใน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวยังมีโทษเกี่ยวกับการโจมตีระบบโดยใช้มัลแวร์ หรือการเจาะระบบผู้อื่นโดยมิชอบอยู่ด้วย ซึ่งท่านที่สนใจสามารถศึกษาได้จาก พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับ 2) พ.ศ.2560 เพิ่มเติมค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง
ICT Law Center ETDA