มีผลสำรวจจาก AppsFlyer ชิ้นหนึ่งน่าสนใจ และอยากนำมาฝากกันในยุคที่ใคร ๆ ก็อยากพัฒนาแอปพลิเคชันเป็นของตนเอง โดย AppsFlyer พบว่า ในบรรดาแอปพลิเคชันจากแบรนด์ต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาให้ผู้ใช้ได้ดาวน์โหลดทั้งบนแพลตฟอร์ม Android และ iOS นั้น มีไม่ถึง 2% ที่สามารถจูงใจให้ผู้ติดตั้งกลายมาเป็น “ลูกค้า” ได้
แม้จะเป็นตัวเลขของไตรมาสที่ 3 ในปี 2016 แต่ก็ต้องบอกว่าน่าสนใจอยู่ดี เพราะในยุคนี้เราอาจได้ยินแบรนด์ต่าง ๆ หันมาเปิดตัวแอปพลิเคชันของตัวเองแทนที่จะอิงอยู่กับแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการรายใหญ่มากขึ้น และในแอปพลิเคชันนั้นก็ใส่ฟังก์ชันต่าง ๆ ลงไปมากมาย เพื่อหวังว่าจะดึงดูดผู้บริโภคให้มาติดตั้งใช้งาน รวมถึงหวังให้แอปพลิเคชันนั้น ๆ กลายเป็นช่องทางในการซื้อสินค้าที่ทำเงินให้กับบริษัทอีกต่อหนึ่ง
แต่จากผลการสำรวจที่พบว่ามีผู้บริโภคไม่ถึง 2% ที่เปลี่ยนมาเป็นลูกค้าได้นั้น อาจเป็นตัวเลขที่ทำให้แบรนด์อื่น ๆ ต้องหันกลับมาคิดทบทวนว่าคุ้มค่าหรือไม่ในการตัดสินใจลงทุน
โดยปัญหาใหญ่ ๆ ที่ทำให้การพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาเองไม่ประสบความสำเร็จมาจาก
1. การไม่สามารถทำให้ผู้ใช้งานกลับมาใช้งานได้อีก
กรณีนี้เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ กับแอปพลิเคชันที่ไม่สามารถสร้างความประทับใจได้ในครั้งแรก ผู้บริโภคก็จะไม่เปิดอีกเลย และบางทีอาจถอนการติดตั้งในเวลาต่อมาด้วย
โดย AppsFlyer พบว่า มีผู้ติดตั้งประมาณ 12% เล่นแอปพลิเคชันนั้น ๆ แค่ในช่วง 7 วันแรก แต่เมื่อผ่านไป 1 เดือน มีประมาณ 4% เท่านั้นที่ยังเปิดใช้งานแอปพลิเคชันนั้น ๆ อยู่
2. ถูกแอปพลิเคชันรายใหญ่เบียดบังเวลา
เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้บริโภคทุกวันนี้ได้รับคำเตือนเกี่ยวกับการใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไปว่าจะมีผลเสียกับร่างกาย ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามใช้เวลากับมันให้คุ้มค่าที่สุด นั่นจึงทำให้แอปพลิเคชันน้องใหม่ไม่ได้รับการพิจารณา แต่กลับเป็นพี่ใหญ่อย่างโซเชียลมีเดีย, เสิร์ชเอนจิน, YouTube ฯลฯ ที่ถูกคลิกเป็นอันดับแรก ๆ
สำหรับแบรนด์ที่ยังไม่ได้ลงทุน ผลสำรวจนี้อาจเป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำหรับการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี แต่สำหรับผู้ที่ลงทุนทำระบบไปแล้ว ก็มีคำแนะนำออกมาเช่นกันว่า ควรมองหาช่องทางทำเงินรูปแบบอื่นจากแอปพลิเคชัน แทนที่จะเน้นการขายของแก่ผู้บริโภคแต่เพียงอย่างเดียว
หนทางข้อหนึ่งที่สามารถทำได้คือการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น หรือการจัดอีเวนท์พิเศษสำหรับลูกค้าที่ใช้แอปพลิเคชันเป็นการเฉพาะ แล้วมี Notification แจ้งเตือนออกไป
ที่มา : BusinessInsider