Site icon Thumbsup

[Commentary] 2017 ปลาเล็กไม่ควรออกจากฝั่ง

fish-aquarium-school-of-fish-under-water-159496

หลายครั้งที่การมองตัวเลขในอดีต ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น เช่นเดียวกับการมองตัวเลขภาพรวมของแอปพลิเคชันยอดนิยมประจำปี 2016 จาก Nielsen และ ComScore ที่มีผลลัพธ์แทบไม่ต่างกัน นั่นคือการเข้ายึดครองตลาดของปลาใหญ่อย่าง Facebook และ Google ที่เหนียวแน่นยิ่งขึ้น

โดยตัวเลขในแปดอันดับแรกที่ Nielsen และ ComScore วิเคราะห์ออกมานั้นไม่แตกต่างกัน ผู้นำในอุตสาหกรรมแอปพลิเคชันคือ “Facebook” ตามมาด้วย Facebook Messenger, YouTube, Google Maps, Google Search, Google Play, Gmail และ Instagram

ภาพรวมวงการแอปพลิเคชันจาก Nielsen

แต่เปอร์เซ็นต์การเติบโตที่น่าสนใจในแปดอันดับของ Nielsen นั้นพุ่งไปที่ Facebook Messenger และ Instagram เนื่องจากมีการเติบโตด้านจำนวนผู้ใช้มากงานขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 28 เปอร์เซ็นต์ และ 36 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

ส่วนอันดับที่ 9 – 10 จากฝั่ง Nielsen นั้นระบุว่าเป็น Apple Music กับ Amazon ที่เข้าวิน ขณะที่ทาง ComScore ระบุว่าเป็น Pandora Radio และ Snapchat

ภาพรวมจาก ComScore

อีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ ช่องว่างระหว่างระบบปฏิบัติการ Android และ iOS นั้น จัดได้ว่าแคบมากขึ้น โดย Android อยู่ที่ 53 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ iPhone ไล่ตามมาอยู่ที่ 45 เปอร์เซ็นต์ (ส่วนเศษอีกยิบย่อยคือ Windows Phone และ BlackBerry ซึ่งปัจจุบันถูกมองว่าไม่มีผลต่อวงการไปแล้วเรียบร้อย)

จากตัวเลขภาพรวมดังกล่าว ตลอดจนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2016 นั้น เชื่อว่าได้สะท้อนให้เห็นถึงหลายๆ อย่างที่จะเกิดขึ้นในปี 2017 ออกมาแล้วไม่มากก็น้อย นั่นคือตลาดแอปพลิเคชันได้กลายเป็นสมรภูมิระหว่างสองปลายักษ์อย่าง Google และ Facebook ให้ฟาดฟันกันเรียบร้อย แถมยังเป็น Facebook ที่มีแต้มต่อเหนือกว่า Google ด้วย

นอกจากนั้นเราก็ต้องไม่ลืมปลาใหญ่นอนเงียบอีกสองตัวนั่นก็คือ Apple ที่คาดว่าจะมีรายได้จาก App Store เพิ่มขึ้นชดเชยความนิยมใน iPhone ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และ Amazon ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ (จริงๆ แล้ว ในชาร์ตของ Nielsen นั้น Amazon ที่เข้าวินมาเป็นอันดับที่ 10 มีอัตราการเติบโตด้านผู้ใช้งานสูงที่สุดจากทั้ง 10 อันดับ คือ 43 เปอร์เซ็นต์)

ปลาใหญ่ทั้งสี่ตัวนี้ คือปลาใหญ่ที่แบ่งน่านน้ำกันครองแล้วเป็นที่เรียบร้อย แถมเมื่อไรที่คู่ต่อสู้เผลอ ก็อาจออกมาอาละวาดชิงส่วนแบ่งจากปลาใหญ่ด้วยกันเองด้วย

ส่วนปลาเล็ก ถ้าไม่แข็งแรงพอ ควรหาแหล่งน้ำใหม่ที่มีอาหารพอเหมาะกับตัวเอง และเติบโตอยู่ในแหล่งน้ำนั้นๆ จะดีกว่า เว้นแต่จะเป็นปลาเล็กที่คิดการณ์ใหญ่อย่าง Snapchat หรือเป็นปลาเล็กที่มีผู้ก่อตั้งเคยท่องอยู่ในน่านน้ำใหญ่มาก่อนอย่าง Houseparty (ผู้ก่อตั้งคือผู้สร้าง Meerkat ที่ปิดตัวไปก่อนหน้านี้ และมีจุดเด่นอยู่ที่บริการ Live Streaming)

ซึ่งเราก็ได้แต่หวังว่าการออกมาโลดแล่นของปลาเล็กที่เข้มแข็งเหล่านี้จะมีตัวเลขสถิติดีๆ ตามมา และกลายเป็นสีสันแห่งปี 2017 ให้ไม่น่าเบื่อจนเกินไปนัก

อีกสิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือ ในความเป็นจริงแล้ว ตลาดแอปพลิเคชันยังมีอีกหลายประเทศที่ปลายักษ์ทั้งสี่เหล่านี้เข้าครอบงำไม่ได้ เช่น ตลาดจีน ที่มี YouKu แทน YouTube ตลาดรัสเซียที่มี Yandex แทน Google ฯลฯ ดังนั้นจึงไม่แปลกเช่นกันหากจะมีปลาเล็กเกิดขึ้นอีกมากมายในกลุ่มประเทศเหล่านั้น

ส่วนประเทศไทย ในฐานะที่เราเป็นประเทศที่บริโภคเทคโนโลยีจากต่างชาติ ไม่มีแพลตฟอร์มของตัวเอง ข้อมูลต่างๆ ของเราจึงอยู่กับแพลตฟอร์มต่างชาติค่อนข้างมาก สิ่งที่นักธุรกิจไทยควรจะเตรียมการไว้ก็คือ การไม่ยึดติดกับแพลตฟอร์ม และเก็บ database ของลูกค้าตัวเองออกมาไว้ในที่ที่ปลอดภัยและใช้สร้างประโยชน์นอกแพลตฟอร์มได้ เช่น นำมาใช้ทำกิจกรรมทางการตลาด และการประชาสัมพันธ์ในอนาคต

ที่มา: Marketingland