นอกจากการเปิดพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยในปี 2017 แล้วนั้น ทาง ETDA ยังได้เปิดเผยผลสำรวจมูลค่า e-Commerce ในไทยปี 2559 พร้อมการคาดการณ์มูลค่า e-Commerce ปี 2560 ออกมาพร้อมกันด้วย โดยพบว่าในปี 2016 ตลาด e-Commerce ไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 2,560,103.36 ล้านบาท คาดปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2,812,592.03 ล้านบาทหรือเติบโตเพิ่มขึ้น 9.86%
โดยมีกลุ่มประชากรในการสำรวจเป็นผู้ประกอบการทั้งสิ้น 592,996 ราย แบ่งมูลค่าตามลักษณะทางธุรกิจ ได้แก่ B2B, B2C และ B2G โดยผลการสำรวจดังกล่าวเมื่อแบ่งตามประเภทอุตสาหกรรมแล้วแบ่งได้ 8 กลุ่ม ดังนี้ อุตสาหกรรมการผลิต, อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง, อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก, อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร, อุตสาหกรรมการขนส่ง, อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ, อุตสาหกรรมการบริการด้านอื่น ๆ และอุตสาหกรรมการประกันภัย
โดยในปี 2016 ไทยมีมูลค่า e-Commerce ทั้งสิ้น 2,560,103.36 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมูลค่า e-Commerce ประเภท B2B ประมาณ 1,542,167.50 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60.24% รองลงมาเป็นมูลค่าของประเภท B2C จำนวนมากกว่า 703,331.91 ล้านบาท หรือ 27.47% และส่วนที่เหลือราว 314,603.95 ล้านบาท หรือ 12.29% เป็นมูลค่าตามธุรกิจประเภท B2G”
เมื่อเทียบมูลค่า e-Commerce ของปี 2559 กับปี 2558 จะพบว่ามูลค่าของประเภท B2B มีการเติบโตขึ้น 15.53% เช่นเดียวกับประเภท B2C ที่โตขึ้น 37.91% แต่ประเภท B2G กลับมีอัตราการเติบโตลดลง 21.42% สืบเนื่องจากการยกเลิกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐโดยวิธี e-Auction ทำให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ใช้ข้อมูลมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2G ของปี 2559 ที่มาจากวิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบ e-Market และ e-Bidding เท่านั้น
ในส่วนของการแบ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซตามประเภทอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม พบว่าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซสูงที่สุด ได้แก่
- อันดับที่ 1 อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า e-Commerce 713,690.11 ล้านบาท (31.78%)
- อันดับที่ 2 อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่า e-Commerce 607,904.89 ล้านบาท (27.07%)
- อันดับที่ 3 อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่า e-Commerce 428,084.73 ล้านบาท (19.06%)
- อันดับที่ 4 อุตสาหกรรม ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร มีมูลค่า e-Commerce 384,407.71 ล้านบาท (17.12%)
- อันดับที่ 5 อุตสาหกรรมการขนส่ง มีมูลค่า e-Commerce 83,929.05 ล้านบาท (3.74%)
- อันดับที่ 6 อุตสาหกรรมศิลปะความบันเทิง และนันทนาการ มีมูลค่า e-Commerce 15,463.46 ล้านบาท (0.69%)
- อันดับที่ 7 อุตสาหกรรมบริการอื่น ๆ มีมูลค่า e-Commerce 9,622.77 ล้านบาท (0.43%)
- อันดับที่ 8 อุตสาหกรรมการประกันภัย มีมูลค่า e-Commerce 2,396.69 ล้านบาท (0.11%)
สำหรับการคาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่า e-Commerce ปี 2017 เมื่อเทียบกับปี 2016 พบว่ามูลค่า
e-Commerce ของไทยมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีมูลค่ารวมประมาณ 2,812,592.03 ล้านบาทในปี 2017 เติบโตเพิ่มขึ้น 9.86% ซึ่งมูลค่าขายนั้นส่วนใหญ่ยังเป็นมูลค่า e-Commerce ประเภท B2B จำนวน ทั้งสิ้น 1,675,182.23 ล้านบาท (59.56%) เพิ่มขึ้น 8.63% ส่วนมูลค่า e-Commerce ประเภท B2C ของปี 2560 จำนวน 812,612.68 ล้านบาท (28.89%) เพิ่มขึ้น 15.54% และมูลค่า e-Commerce ประเภท B2G จำนวน 324,797.12 ล้านบาท (11.55%) เพิ่มขึ้น 3.24%
สำหรับปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของมูลค่า e-Commerce ของไทยนั้น จากการสำรวของ ETDA พบว่ามีอยู่ 4 ประการ ได้แก่
- การสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐเพื่อผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซภายในประเทศ
- การที่ผู้ประกอบการหันมาเพิ่มช่องทางการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทาง e-Commerce มากขึ้น
- การเติบโตด้านตลาด e-Commerce ของไทยมีแนวโน้มและศักยภาพในการเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมากในอนาคต
- การที่นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น อาทิ นักลงทุนจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย จึงช่วยสร้างบรรยากาศในการแข่งขันและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาขีดความสามารถของตัวเอง และยังสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคอีกด้วย
“ทั้ง 4 ปัจจัย ผนวกกับการส่งเสริมจากนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล และโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอินเทอร์เน็ตและนวัตกรรมดิจิทัลล้วนส่งผลต่อการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ซึ่งในวันนี้ถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพราะนอกจากจะส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ด้วยการที่ทุกชุมชนสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกมาขาย เพิ่มรายได้ครัวเรือนและรายได้ชุมชน ทั้งยังยกระดับคุณภาพชีวิตในแต่ละชุมชนแล้ว ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกให้กับไทยได้” คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวสรุป
สามารถดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ ETDA