Facebook ส่งเสริมให้เหล่าผู้นำชุมชน เชื่อมต่อกันผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้คนใกล้ชิดกัน เพราะมีผู้ใช้งานในไทยมากกว่า 45 ล้านคน และเป็นสมาชิกของกลุ่มต่างๆ บน Facebook กว่า 6 ล้านกลุ่มที่ยังคงเชื่อมต่อกันอย่างต่อเนื่อง
การรักษาการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้คนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้ ชุมชนของ Facebook จึงมีบทบาทที่สำคัญเพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อคนไทย ในขณะที่พวกเขากำลังรักษาระยะห่างทางสังคม
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีผู้คนจำนวนกว่า 650 ล้านคนที่เป็นสมาชิกและได้มีส่วนร่วมในกลุ่มบน Facebook อย่างต่อเนื่องในเดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีความหลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มการเลี้ยงลูก ไปจนถึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ กลุ่มด้านเทคโนโลยีคราวด์ซอร์สซิ่ง (crowdsourcing) กลุ่มด้านการศึกษา เป็นต้น
คุณเกรซ แคลปแฮม หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรและโครงการเพื่อชุมชนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค Facebook ได้กล่าวว่า การเชื่อมต่อผ่านชุมชนเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อผู้คนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ ผู้คนยิ่งเข้ามาใช้งาน Facebook เพื่อค้นหา แชร์ข้อมูล และเชื่อมต่อกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาวิกฤต
โครงการ Community Accelerator ของ Facebook ในประเทศไทย
นอกจากนี้ โครงการ Community Accelerator ซึ่งเป็นโครงการที่มีระยะเวลา 6 เดือนของ Facebook โดยจัดการฝึกอบรม ให้คำปรึกษา และจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนผู้นำชุมชนในการสร้างชุมชนของพวกเขาให้เติบโต และโครงการนี้ยังคงเปิดรับสมัครในประเทศไทยไปจนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ facebook.com/community/accelerator/
โครงการ Community Accelerator เป็นวิวัฒนาการจากโครงการ Fellowship ของ Facebook ซึ่งให้การสนับสนุนผู้นำชุมชนจำนวน 115 คนทั่วโลก โดยผู้นำชุมชนเหล่านี้ได้รายงานว่าโครงการของพวกเขาทั้งหมดได้สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับผู้คนจำนวนกว่า 1.9 ล้านชีวิต และเป็นจำนวนกว่า 580,000 ชีวิตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเพียงภูมิภาคเดียว
ด้วยการสนับสนุนชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ การใช้งานทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ และกิจกรรมที่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ด้วยการสนับสนุนจากทางโครงการ ทั้งนี้ มีผู้คนจำนวนกว่า 200,000 คนจากกว่า 50 ประเทศได้มารวมตัวกันแบบออฟไลน์ในอีเวนต์ พื้นที่ที่ปลอดภัย และประสบการณ์สร้างสรรค์ต่างๆ โดยมีการรายงานว่าร้อยละ 88 ของผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้นำสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ไปปรับใช้จริงกับชุมชนของพวกเขา
หนึ่งในผู้นำกลุ่มชาวไทยที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ Facebook Community Leadership Program ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2561 คือคุณฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้นำจากกลุ่ม Run2gether (วิ่งด้วยกัน) ซึ่งผลสำเร็จเป็นรูปธรรมจากโครงการคือ ประสบความสำเร็จในการขยายการดำเนินงานของชุมชนจาก 4 พื้นที่ เป็น 10 พื้นที่ ส่งผลให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น
โดยกลุ่มได้มีการจัดมหกรรมงานวิ่งในกรุงเทพฯ และมีชุมชนชาวต่างชาติเข้าร่วม มีการจัดกิจกรรมออกกำลังกายออนไลน์ให้กับนักวิ่งผู้พิการ ณ ปัจจุบัน กลุ่มวิ่งด้วยกันมีการจัดกิจกรรมวิ่งที่นำนักวิ่งมารวมตัวกันแล้วมากกว่า 2,000 ชีวิตและขยายเครือข่ายไปอีก 6 จังหวัด เข้าถึงนักวิ่งอาสาหรือไกด์รันเนอร์อีก 3,000 คนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการอยู่ร่วมกันของผู้พิการและไม่พิการในวงการวิ่งมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ภายใต้โครงการ Community Leadership ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกของ Facebook ประกอบด้วยการนำเสนอข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับโคโรน่าไวรัสที่มาจากองค์กรด้านสุขภาพ เช่น องค์การอนามัยโลก แก่ผู้นำชุมชน Learning Labs ซึ่งเชื่อมต่อแอดมินกลุ่มผ่านห้องเรียนดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ Power Admin Groups ซึ่งได้รวบรวมผู้นำชุมชนกว่า 40,000 คน เข้าหากันเพื่อแบ่งปันคำแนะนำและเชื่อมต่อกับ Facebook เพื่อทดสอบและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับฟีเจอร์ใหม่ๆ และ Community Hub ซึ่งเปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถเข้าถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการต่างๆ รวมถึงการสัมมนาประจำเดือนผ่านช่องทางออนไลน์ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเร็วๆ นี้อีกด้วย
เรื่องราวความสำเร็จของผู้นำกลุ่มในการสร้างชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ในประเทศไทย
งานแถลงข่าวในวันนี้ยังมีการจัดเสวนากลุ่มระหว่างผู้นำชุมชนชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่ม Thailand Restaurant Rescue :: ช่วยร้านอาหารไทยต้านภัย COVID-19 ที่สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาเดียวกัน ผู้นำชุมชน Courageous Kitchen ที่สนับสนุนด้านการเข้าถึงอาหารแก่เยาวชนที่ด้อยโอกาสและมาจากชุมชนชายขอบ รวมถึงผู้ก่อตั้งชุมชน Read for the Blind และแอดมินกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ (Help Us Read) เพื่อผู้พิการทางด้านสายตา
การเชื่อมต่อผู้คนเข้าหากัน และฟีเจอร์ต่างๆ เช่น อีเวนต์ โพลล์ และ Stories ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมภายในกลุ่มในช่วงเวลาที่ยากลำบากในปัจจุบัน มีการทำงานร่วมกันของอาสาสมัครของชุมชนผ่านการใช้งาน Workplace และเน้นย้ำถึงพลังของเครื่องมือออนไลน์อย่าง Facebook และ Instagram ซึ่งช่วยให้ชุมชน Courageous Kitchen สามารถเข้าถึงผู้คนได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย และช่วยให้สมาชิกภายในชุมชนสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างต่อเนื่อง
หรืออย่างชุมชน Read for the Blind และแอดมินกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ (Help Us Read) มีผู้ติดตามเพจ Read for the Blind จำนวนกว่า 190,000 คน และมีสมาชิกกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะอีกกว่า 19,000 คน โดยทั้งสองชุมชนได้รับประโยชน์จากเครื่องมือเพื่อสร้างการเข้าถึงของ Facebook นอกจากนี้ แช็ตบ็อตบน Messenger ของ Read for the Blind ยังช่วยให้ชุมชนสามารถเชื่อมต่อกับอาสาสมัครได้มากขึ้นอีกด้วย
ในขณะที่ทั้งสองชุมชนกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ และคุณชลทิพย์ ยิ้มย่อง บอกถึงความสำคัญของผู้นำและสมาชิกในการสร้างบทสนทนาอย่างเป็นประจำและให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนเกี่ยวกับความมุ่งมั่นร่วมกันของกลุ่มแก่สมาชิกทุกคน ซึ่งรวมถึงการแจ้งกฎในการใช้งานของกลุ่มอย่างเป็นประจำ และสนับสนุนโพสต์เชิงบวกและเป็นตัวอย่างที่ดีจากสมาชิกของกลุ่ม