จำได้ไหมว่าการชำระเงินทางออนไลน์ครั้งล่าสุดไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้งรองเท้าคู่ใหม่ หรือทีวีจอแบน คุณได้ทำการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน หรือแล็ปท็อป คุณได้ทำการแชร์รายละเอียดการซื้อครั้งนี้ไปยังเพื่อนบน Facebook หรือผู้ติดตามบน Twitter หลังจากนั้นหรือไม่ หากคำตอบคือ “ไม่” สำหรับทุกข้อ ขอแสดงความยินดีด้วยว่าคุณเป็นคนส่วนใหญ่ แต่แบรนด์ที่คุณรักในสินค้าและบริการของเขานั้นต้องการให้คุณเปลี่ยนคำตอบเป็น “ใช่”
ในปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์การเพิ่มขึ้นของพฤติกรรมการช้อปปิ้งทางโซเชียลบนมือถือว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงและเป็นการเปลี่ยนวิธีซื้อของผู้บริโภคเลยทีเดียว ส่งผลให้โทรศัพท์มือถือเป็นศูนย์กลางของสังคมและชีวิตในยุคดิจิตอล และถ้าหากแบรนด์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในโลกออนไลน์ได้แล้ว จะยิ่งทำให้แบรนด์สามารถผลักดันให้ผู้บริโภคกลายเป็นผู้เผยแพร่สินค้าและบริการของแบรนด์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างสบาย
อัตราการใช้งานบนมือถือและโฆษณาบนมือถือเป็นสิ่งที่กำลังเฟื่องฟูในยุคนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนจำนวนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียได้ด้วย แม้ว่ารูปแบบพฤติกรรมการช้อปปิ้งทางโซเชียลบนมือถือยังห่างไกลจากในอุดมคติที่นักการตลาดคาดหวังไว้ เพราะผู้ใช้หลายคนชอบการช้อปฯสินค้าในที่ๆ เป็นส่วนตัวมากกว่าการแชร์ให้สังคมออนไลน์รับรู้ แต่ทางแบรนด์ก็ไม่ละทิ้งความพยายามที่จะผลักดันข้อจำกัดนี้ ด้วยการลงแคมเปญและโฆษณาเพื่อดึงดูดให้มากขึ้น
ตัวอย่างแบรนด์ 3 ตัวอย่างด้านล่างนี้ เป็นแบรนด์ที่มีไอเดียในการโปรโมตให้ผู้บริโภคทำการแชร์สิ่งที่พวกเขาซื้อให้เพื่อนๆ เห็น จะเป็นอย่างไรมาดูกัน :
1. Wanelo : ห้างดิจิทัลยุคใหม่
ศูนย์รวมสินค้าออนไลน์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จ โดยรูปแบบนั้นคล้ายกับ Pinterest แต่เน้นเชิงการค้ามากกว่า สามารถเรียกดูสินค้าที่สมาชิกสนใจและจุดเด่นคือทำการติดตามสมาชิกด้วยกันเองได้ มีบริการเรียกเก็บเงินเป็นของตัวเอง ปัจจุบันมีผู้ใช้ Wanelo ถึง 11 ล้านคน พรั่งพร้อมกว่า 12 ล้านผลิตภัณฑ์ จากกว่า 300,000 ร้านค้า สมาชิกของ Wanelo สามารถโพสต์ลิงก์สินค้าที่พวกเขาต้องการจะซื้อ หลังจากนั้นสินค้าจะปรากฏในหน้า “just posted” ทำให้ผู้ติดตามสามารถกด like ได้ สิ่งนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคไม่ต้องไปหาฟีดแบคจากที่ไหนไกลอื่น และทำการจ่ายเงินโดยคลิกปุ่ม “ซื้อ” ภายในแอพพลิเคชันได้เลย
2. Starbucks : ทวีตกาแฟ
อีกหนึ่งแบรนด์ที่วางกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดผ่านโซเชียลบนมือถือแม้จะมีธุรกิจในรูปแบบ brick-and-mortar โดยแคมเปญ “Tweet-a-Coffee ” สร้างยอดขายให้กับ Starbucks กว่า 180,000 ดอลล่าร์ในช่วงไม่กี่เดือนของปี 2013 จากการชักชวนของพนักงานชงกาแฟให้ผู้ซื้อกาแฟมอบ eGift แก่เพื่อนของเขาในมูลค่า 5 ดอลล่าร์ โดยการทวีตถึง @tweetacoffee
แม้การสร้างรายได้แก่แบรนด์เป็นสิ่งที่ดี แต่ที่สำคัญที่สุดคือสิ่งที่ Starbucks ได้รับในแง่การสร้างตราสินค้า ไม่เพียงแค่การตอบรับด้านบวกในกลยุทธ์ใหม่ๆ ของการตลาดโซเชียลบนมือถือแล้ว แต่การทวีตลงบน Twitter โดยอ้างถึง Starbucks ยังเป็นการโปรโมตแบรนด์ให้ผู้อื่นรับรู้ไปในตัวด้วย
จากโปรโมชันครั้งนี้ทำให้กว่า 54,000 คนได้ลิงก์บัญชีผู้ใช้ Twitter กับ Starbucks ส่งผลให้บริษัทสามารถเก็บเกี่ยวข้อมูล และกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการวางกลยุทธ์ต่อไปในอนาคต นับว่าได้รับประโยชน์หลายต่อเลยทีเดียว
3. WhereToGet : ร่วมกันสร้างสรรค์แฟชั่น
ตัวอย่างสุดท้ายจาก WhereToGet เปรียบเสมือน Shazam ในรูปแบบวงการแฟชั่น ต่างกันตรงที่แอพฯสามารถดำเนินการโดยรูปแบบ Crowdsourcing ผู้ใช้อัพโหลดรูปถ่ายของชุดแฟชั่นที่เขากำลังตามหา เพื่อให้คนอื่นเข้ามากด like และบอกเขาได้ว่าสามารถซื้อจากไหน แอพฯยังสามารถนำทางไปยังแบรนด์ร้านค้าที่มีสินค้าจำหน่าย เพื่อให้ผู้สนใจทำการซื้อได้โดยง่าย และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเป็นรายได้ให้แก่แอพฯ
แรกเริ่มบริษัทพัฒนารูปแบบแอพฯให้ใช้บนเว็บไซต์ แต่ต่อมาพบว่าผู้ใช้หลักมาจากบนมือถือ จึงรวมเอาจุดเด่นของโลกโซเชียลบนมือถือมาประยุกต์ เช่น สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ผู้ใช้ได้รับคำตอบอย่างรวดเร็ว และมีความพึงพอใจในการแบ่งปันสู่สังคมออนไลน์ จึงไม่น่าแปลกใจว่า startup จากปารีสนี้จะได้รับสปอนเซอร์ในมูลค่าถึง 2 ล้านดอลล่าร์
ในยุคที่สังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตประจำวันมากขึ้น การแชร์ข้อมูลการซื้อขายของผู้บริโภคกับเพื่อนและครอบครัวก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผล แต่ข้อควรระวังของผู้ที่จะนำไอเดียนี้ไปใช้คือ ลูกค้าต้องการแชร์เพียงเพราะเขาอยากแชร์จริงๆ หรือเป็นเพียงกิจกรรมส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการซื้อเท่านั้น ถ้าหากเหตุผลอันหลังมีมากเกินไปและวางการแชร์ในรูปแบบไม่เหมาะสมจนสร้างความไม่พึงพอใจกับลูกค้า อาจส่งผลลบแก่ธุรกิจได้
ที่มา : Thenextweb