พาดหัว หรือ Headline อาจจะเป็นแค่ประโยคสั้นๆ แต่คนทำออนไลน์คอนเทนต์ก็จะละเลยมันไปไม่ได้ เพราะมันทำหน้าที่ดึงดูดความสนใจให้ผู้คนคลิกเข้ามาอ่านเนื้อหาที่เหลือทั้งหมด และแน่นอนว่ามันมีผลกับการกดแชร์ด้วย
ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้ทำงานในดิจิทัลเอเจนซี่ การเขียนพาดหัวให้ดูน่าสนใจก็เป็นสิ่งที่คุณควรจะเรียนรู้เอาไว้ เพราะคุณสามารถนำเอาหลักการนี้ไปใช้กับออนไลน์คอนเทนต์ในหลายๆ รูปแบบ เช่น การนำเสนอพาดหัวสำหรับบล็อกส่วนตัว เป็นต้น
“ทำอย่างไรให้คนอยากอ่านและแชร์คอนเทนต์ของคุณ” เป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ของนักการตลาดดิจิทัลหรือแม้แต่คนเขียนบล็อกทั่วๆ ไปก็เช่นกัน วันนี้เราเลยมี 3 วิธีการใช้คำในพาดหัวหรือ Headline เพื่อให้คุณนำไปประยุกต์ใช้กับคอนเทนต์ของคุณค่ะ
หลักการ S.H.I.N.E
ก่อนหน้านี้ KISSmetrics ทำการรวบรวมความคิดเห็นและข้อมูลจากหลายๆ แหล่งเพื่อนำมาสรุปว่าพาดหัวที่ดีต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และผลที่ได้ก็สามารถนำมาสรุปเป็นคอนเซปต์ที่เรียกกันว่า “S.H.I.N.E” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
Specificity กำหนดประเด็นแบบเฉพาะเจาะจง เลือกประเด็นที่น่าสนใจที่สุดขึ้นมาใช้ในพาดหัว
Helpful เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน เมื่อผู้อ่านมองเห็นแค่พาดหัวก็คาดเดาได้ทันทีว่าจะได้อะไรจากคอนเทนต์นี้
Immediacy เลือกใช้คำที่ใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมาย หรืออยู่ในความสนใจของพวกเขา
Newsworthy มีคุณค่าความเป็นข่าว
Entertaining ให้ความรู้สึกสนุกสนาน
นี่เป็นหลักการเบื้องต้นสำหรับการเขียนพาดหัว ก่อนจะกด Publish ลองเช็คให้แน่ใจว่าพาดหัวของคุณมีองค์ประกอบเหล่านี้บ้างหรือไม่
เดินตามสูตร
Lenka Istvanova บล็อกเกอร์และผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลได้สร้างสูตรสำหรับการเขียนพาดหัวที่น่าสนใจขึ้นมา หลักการเบื้องต้นก็คล้ายๆ กับ S.H.I.N.E คือให้ความสำคัญกับคำหลากหลายประเภทที่ควรใช้ ซึ่งเป็นสูตรตายตัวที่อาจจะดูน่าเบื่อไปบ้าง แต่ก็เอาไว้ใช้ได้ตอนคิดอะไรไม่ออก (เหมือนชื่อบทความนี้)
สูตรดังกล่าวก็คือ จำนวน/ตัวเลข + คำคุณศัพท์หรือคำขยาย+ Keyword + แสดงเหตุและผล + คำที่กลุ่มเป้าหมายคาดหวัง
เช่น “7 พฤติกรรมที่จะทำให้ชีวิตของคุณดีขึ้นในวันนี้”
จำนวนของคำ
พยายามทำให้พาดหัวของคุณมีคำไม่เกิน 6 คำ หรือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากการรายงานของ KISSmetrics พบว่าคนส่วนมากจะแสกนพาดหัวแบบคร่าวๆ เท่านั้น พวกเขาจะเก็บใจความจาก 3 คำแรก และ 3 คำสุดท้ายเท่านั้น ถ้าคุณสามารถทำให้พาดหัวของคุณมีไม่เกิน 6 คำได้ นั่นก็แปลว่าพาดหัวของคุณมีโอกาสที่จะถูกอ่านมากขึ้น รวมไปถึงเนื้อหาที่เหลือก็มีโอกาสที่จะถูกอ่านมากขึ้น โอกาสที่จะได้รับความสนใจก็มีมากขึ้น ซึ่งมันอาจจะตามมาด้วยยอดขายก็ได้ ทั้งหมดนี้เริ่มต้นด้วยพาดหัวที่ดี
สำหรับในภาษาไทย ต้องแยกให้ออกระหว่าง “คำ” กับ “พยางค์” คำประกอบด้วยหลายพยางค์ เช่น “เทคโนโลยี” นับเป็น 1 คำ ประกอบไปด้วย 4 พยางค์ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นหลักการพื้นฐานแบบคร่าวๆ ที่คุณอาจจะนำไปใช้ได้ แต่อย่าลืมปรับแต่งให้เหมาะกับธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายของคุณด้วย เพราะสิ่งสำคัญคือการทำให้เนื้อหาตอบโจทย์ของคนอ่านและคนที่ซื้อสินค้าหรือบริการจากคุณนั่นเอง
ที่มา: Social Media Today