ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ โดยเฉพาะค่าครองชีพ เนื่องจากสินค้าแทบทุกชนิดผูกติดกับน้ำมัน ทั้งการบริโภคอุปโภค ต้นทุนการขนส่งและการเดินทาง
โดยสาเหตุหลักที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นหลายฝ่ายวิเคราะห์ไว้ดังนี้ การอุบัติขึ้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความต้องการน้ำมันทั่วโลกหลังการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ขณะที่กำลังผลิตน้ำมันไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด
1.สงครามรัสเซียกับยูเครน เมื่อสหภาพยุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย
สงครามของรัสเซียในยูเครนเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งเหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงเวลาสั้นๆ และยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากสหรัฐฯ และพันธมิตรใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียโดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญอย่างน้ำมัน
ปี 2021 ที่ผ่านมารัสเซียถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสามของโลก รองจากสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย คิดเป็น 14% ของอุปทานน้ำมันโลก จากตัวเลขส่งออกน้ำมันปีที่ผ่านมามากกว่าครึ่งหนึ่งถูกส่งไปยังสหภาพยุโรป
ดังนั้นเมื่อประเทศในสหภาพยุโรปทะยอยยกเลิกข้อตกลงการนำเข้าน้ำมันดิบของรัสเซีย จึงจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตน้ำมันอื่นๆ ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันสูงขึ้น ขณะที่จำนวนการผลิตน้อยลง (ไม่มีใครซื้อของรัสเซีย) ดังนั้นต้นทุนและราคาน้ำมันจึงเพิ่มขึ้นตาม
ทั้งนี้สงครามรัสเซียผ่านมาแล้ว 3 เดือนยังไม่มีท่าทีว่าจะเห็นจุดสิ้นสุดของสงคราม ดังนั้นเรายังไม่อาจเห็นแนวโน้มว่าราคาน้ำมันจะลดลงในเร็วๆ นี้
2.ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นหลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19
เมื่อวิกฤตโควิด-19 เริ่มรุกลามเมื่อสองปีที่ผ่านมา ไวรัสสายพันธุ์ใหม่กระจายไปทั่วโลก รัฐบาลต่างๆ ได้ออกมาตรการล็อกดาวน์อย่างรวดเร็วเพื่อรักษาระบบสาธารณสุข การล็อกดาวน์เกิดการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้ความต้องการพลังงานลดลง ราคาน้ำมันก็ลดลง
จนกระทั่งต้นปี 2021 รัฐบาลสหรัฐได้อัดฉีดเงินหลายล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกเพื่อสนับสนุนการจ้างงาน เพียงไม่กี่เดือนราคาก็กลับมาสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด
3.กำลังผลิตที่ถูกจำกัด
การผลิตน้ำมันไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ แม้ว่าองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก(OPEC) ได้ขยายการผลิตน้ำมัน แต่ก็มีกำลังผลิตสำรองที่จำกัด เพื่อระมัดระวังไม่ให้ล้นตลาด หลังจากบริหารผิดพลาด ส่งผลให้ขาดทุนเป็นระยะเวลาหลายปี
อีกแหล่งน้ำมันสำคัญคือสหรัฐฯ แต่ทำไมไม่ผลิตน้ำมันเพิ่ม? สาเหตุหลักที่ไม่ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นคือบริษัทพลังงานของสหรัฐฯ และนักลงทุนใน Wall Street ไม่มั่นใจว่าราคาจะยังสูงอยู่นานพอที่จะทำกำไรจากการขุดเจาะบ่อน้ำใหม่ ซึ่งหลายคนน่าจะจำได้ว่าเมื่อราคาน้ำมันตกอย่างกะทันหันในปี 2020 บีบให้บริษัทต่างๆ ต้องเลิกจ้างพนักงานหลายพันคน ปิดบ่อน้ำมัน หรือแม้แต่การขอคุ้มครองการล้มละลาย
จากสาเหตุทั้ง 3 ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มว่าจะไม่ลดลงจนกว่าจะสิ้นปี 2022 หรือเป็นกรณีที่สงครามและการคว่ำบาตรรัสเซียสิ้นสุด ส่งผลให้ปริมาณความต้องการและผลิตน้ำมันเข้าสู่จุดสมดุล
อ้างอิง