“นวัตกรรมเกิดขึ้นได้ทุกที่”… “เวลาเราพูดถึงเรื่องของนวัตกรรม เราอาจนึกภาพของซิลิคอนวัลเลย์ สิงคโปร์ ว่าเป็นศูนย์รวมแห่งนวัตกรรม แต่หากมองให้ลึกไปกว่านั้น เราจะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้ว นวัตกรรมกำลังเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก จากนักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ๆ ที่มีมากถึง 19 ล้านคน และกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคนในปี ค.ศ. 2020”
ประโยคข้างต้นเป็นคำกล่าวเปิดการสนทนาของสุริพงษ์ ตันติยานนท์ จาก Visa ประเทศไทยกับสื่อมวลชนจากสำนักต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์นี้เป็นทั้งฝันดีและฝันร้ายของบริษัทยักษ์ใหญ่ ฝันดีก็คือ จะมีคนเก่งๆ ให้ร่วมมือทำงานได้มากมายเต็มไปหมด ไม่จำเป็นต้องวิ่งหาแต่พันธมิตรที่เป็นเบอร์ใหญ่ด้วยกัน หรือมีขั้นตอนในการเจรจาพูดคุยมากมายอีกต่อไปแล้ว แต่ฝันร้ายก็คือ คนรุ่นใหม่เก่งๆ เหล่านั้นอาจไม่ได้อยากเข้ามาทำงานในองค์กรของท่าน แถมยังอาจกลายเป็นคู่แข่งกันได้ในวันใดก็วันหนึ่ง
และย่อหน้าข้างต้นก็คือเทรนด์ในโลกของอุตสาหกรรมการเงินที่สำคัญเทรนด์แรกใน 3 เทรนด์จากมุมมองของ Visa ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายการชำระเงินคนสำคัญของโลกที่สรุปรวมออกมาบอกเล่าให้เราได้ฟังกัน
สุริพงษ์เล่าต่อว่า การเติบโตของกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรงนี้ ทำให้ Visa ต้องปรับตัวใหม่ การจะสร้างนวัตกรรมออกมาปีละ 2 – 3 โครงการแล้วก็นำไปเสนอให้สถาบันการเงิน บริษัทเทคโนโลยีใช้งาน อาจทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ตรงกันข้าม คนใน Visa กำลังคิดว่า จะทำอย่างไรให้ Visa สามารถดึงสตาร์ทอัปเก่งๆ เหล่านั้นมาร่วมงานด้วยได้
“แนวคิดที่ว่าฉันทำธุรกิจนี้ ฉันจะต้องเป็นเจ้าของ จะรวบยอดกินทุกอย่างมันเป็นไม่ได้แล้ว เพราะมันเป็นแนวคิดที่โบราณ เทรนด์ก็คือการทำให้ทุก ๆ จุดของระบบมีคุณค่า เพื่อให้คนที่เข้ามาต่อยอด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่างหาก เช่น หากเรามีสตาร์ทอัปที่บอกว่า ฉันจะทำแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ที่ดีที่สุด เราก็ต้องมองว่าเรามีคุณค่า หรือความสามารถใดที่จะสนับสนุนเขาให้เติบโตได้บ้าง”
ซึ่งนั่นนำไปสู่การเปิดตัว Visa Developer Platform สำหรับนักพัฒนา ที่มีความสามารถต่างๆ ให้เลือกใช้มากมายกว่า 200 APIs นั่นเอง
สุธิพงษ์ไม่รอช้า เขาเล่าถึงเทรนด์ที่สองที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญต่อทันที นั่นก็คือ “ประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้คือสิ่งสำคัญ”
“เดี๋ยวนี้ การสร้างแอปพลิเคชันทำได้ง่าย แต่ทำไมเราถึงใช้บางแอปพลิเคชัน ส่วนบางแอปพลิเคชันเราไม่ใช้ คำตอบก็คือเพราะ user experience มันไม่ตอบโจทย์ ทุกวันนี้เราต้องแข่งกับความอดทนของคน ถ้าแอปพลิเคชันของคุณทำงานช้า เช่น รอโหลดสัก 10 วินาที คนจะไม่อดทนรอแล้ว เขาจะหันไปเล่นแอปพลิเคชันอื่นที่ตอบสนองได้เร็วกว่า เช่นอาจจะรอโหลดแค่ 5 วินาที ซึ่งทำให้เห็นว่า เวลาแค่เสี้ยววินาทีก็เป็นสิ่งสำคัญมาก”
นอกจากเรื่องความเร็ว สุธิพงษ์แนะนำว่า บางครั้ง การใส่คุณสมบัติต่างๆ ลงไปมากเกินจำเป็นก็อาจไม่ใช่เรื่องดี
“เวลา Visa พูดถึงเรื่อง Disuption เราอาจต้องมองมุมกลับ แทนที่จะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้าไป เราอาจเลือกดึงสิ่งที่ลูกค้าไม่ใช้ออกไปแทน เพื่อให้เขาพอใจมากขึ้น”
พร้อมกันนั้น สุธิพงษ์ได้ยกตัวอย่างของบริการ mVisa ซึ่งเปิดให้บริการในอินเดีย ว่าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานในเชิงบวกได้ โดย mVisa เป็นการชำระเงินผ่านการสแกน QR Code โดยเงินจะโอนจากบัญชีของลูกค้าเข้าไปยังบัญชีของผู้ขายได้เลย ซึ่งธุรกิจขนาดกลางและเล็กสามารถใช้ mVisa แทนได้ และลดความเสี่ยงจากการเก็บเงินสดติดตัวด้วย
“ทุกวันนี้ สำหรับร้านค้าจริงๆ เขาก็ไม่อยากแบกเงินไว้ เพราะมันไม่สะดวก เลยทำให้ mVisa เกิดขึ้นที่อินเดีย ร้านค้าที่ลงทะเบียนก็จะได้รับ QR Codeมา แล้วก็เอามาตั้งไว้ที่หน้าแคชเชียร์ พอจะจ่ายเงินก็สแกน QR Code ก็เรียบร้อย เงินจะโอนจากบัญชีลูกค้าเข้ามาบัญชีผู้ขายโดยอัตโนมัติ”
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต้องมี mVisa คือ ร้านบางร้านไม่มีจำนวนธุรกรรมมากพอที่จะนำเครื่องรูดบัตรมาใช้ได้ ดังนั้น การเปิดตัว mVisa จึงคุ้มค่าและทำชื่อเสียงให้ Visa มากกว่านั่นเอง
สุดท้ายกับเทรนด์ที่สาม สุธิพงษ์มองว่า ตลาดสินค้า IoT (Internet of Things) คือตัวผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเขาได้ยกตัวอย่างของป้าย Amazon Dash (ในการสนทนาไม่ได้มีการระบุชื่อผลิตภัณฑ์ แต่ทีมงานขอใส่เองเพื่อความเข้าใจตรงกัน) ที่ว่า Amazon Dash จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีขั้นตอนการ Payment ซึ่ง Visa ก็จะเข้ามาทำตรงจุดนี้ เพื่อให้การจับจ่ายซื้อสินค้าเป็นไปโดยสะดวก
และในตอนท้าย สุธิพงษ์ได้ยกคำกล่าวของ Dee Hock ผู้ก่อตั้ง Visa เกี่ยวกับเงินเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
“was not coin, currency or credit card. That is form, not function. Success follows those adept at preserving the substance of the past by clothing it in the forms of the future.”
ซึ่งคำกล่าวนั้นก็ยังใช้ได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ Visa ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับเทรนด์ต่างๆ ทั้ง 3 เทรนด์ดังกล่าวที่มาแล้ว และทำให้เราได้เห็นว่า แนวคิดของ Dee Hock นั้นไม่ได้ล้าสมัยแต่อย่างใดเลย
ที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรับตัวหลายๆ อย่างของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่มาก่อน ทั้งในด้านดีและด้านไม่ดี แต่ในท้ายที่สุด เราอาจกำลังได้เห็นบทเรียนข้อหนึ่งที่ว่า การเปิดรับสมาชิกใหม่ด้วยการให้โอกาส และการสนับสนุนให้เขาเติบโตอย่างเข้มแข็ง อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่ผู้ที่อยู่มาก่อนจะสามารถมอบให้กับคนรุ่นใหม่ก็เป็นได้ และอาจเป็นสิ่งที่ Visa ในยุคนี้กำลังแสดงให้เราเห็นนั่นเอง