นักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer) กำลังเป็นตำแหน่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นน้องๆ ที่จบมาใหม่ หรือใครที่สนใจอยากเปลี่ยนสายงานก็เสริมทักษะหาประสบการณ์ความรู้เพิ่มเติม เพื่อเริ่มต้นในสายธุรกิจนี้ วันนี้เรามี 4 คุณสมบัติการเป็นนักการตลาดดิจิทัลที่ดี มาแบ่งปันกัน สำหรับใครที่สนใจที่จะเติบโตในสายธุรกิจนี้
-
ใส่ใจลูกค้า
นักการตลาดไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์ หัวใจสำคัญที่สุดคือต้องเข้าใจลูกค้า รู้ว่าบุคลิกของลูกค้าคืออะไร ตัวองค์กรเน้นภาพลักษณ์ไปในทิศทางไหน ส่วนมากลูกค้าจะบอกจุดประสงค์ที่อยากทำงานร่วมกัน เมื่อเจอกันครั้งแรก แต่เราก็ควรทำการบ้านโดยการศึกษารายละเอียดของลูกค้าล่วงหน้า เช่น ถ้าที่ผ่านมา แบรนด์ลูกค้าแอคทีฟมาก เน้นความเร็ว เพราะต้องการเจาะกลุ่มวัยรุ่น แต่ตอนนี้ลูกค้าอยากโตขึ้น อยากมีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ เพื่อเจาะตลาดผู้ใหญ่ เราก็ต้องวางกิจกรรมทางการตลาดที่ส่งเสริมบุคลิกที่โตกว่าของแบรนด์นี้ ยกตัวอย่าง การโพสต์บทความให้ความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่าของแบรนด์ และให้ข้อมูลบริษัทลูกค้าแก่กลุ่มเป้าหมาย แทนการแนะนำให้สร้างเกมในเฟสบุคเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ได้ผล แต่ทำให้ภาพลักษณ์ไม่ตรงกับที่ลูกค้าต้องการ
-
รู้ทันเทรนด์
มีใครในที่นี้โตมาพร้อมกับจอคอมใหญ่ๆ ซีพียูที่ส่งเสียงหึ่งๆ บ้าง ตอนนี้ เราจะเห็นจอคอมที่บางลงมาก (เหมือนโทรทัศน์จอแบน) ซีพียูที่เล็กลง แต่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เวลาเราไปไหนมาไหน ก็สามารถพกโน้ตบุ๊ก หรือแท็ปเล็ตไซส์ถนัดมือออกจากบ้าน มือถือของเราไม่ได้มีแค่โทรเข้าโทรออก แต่เป็นสมาร์ทโฟน ที่ทำหน้าที่ได้หลายอย่าง เป็นคอมเอาไว้ท่องเน็ต กล้องถ่ายรูป นาฬิกาปลุก เครื่องเล่นเพลง ศูนย์รวมเกม เป็นผู้ช่วยส่วนตัวที่ไปๆมาๆ กลายเป็นอวัยวะ 33 ของพวกเรา ด้วยความที่เราถือมือถือตลอด ในยุคนี้ คนเราจึงท่องอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากกว่าผ่านคอมตั้งโต๊ะ ดังนั้น หากลูกค้าจะสร้างฐานข้อมูล นักการตลาดสามารถแนะนำให้สร้างเป็นแบบ Responsive Design (หมายถึงการแสดงภาพแบบ One size fits all เป็นหน้าเว็บที่แสดงผลได้ทุกขนาดหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ จอโน้ตบุ๊ก จอแท็ปเล็ตหรือจอมือถือ) การสร้างฐานข้อมูลแบบ Responsive ทำให้นักการตลาดฝ่ายผลิตทำงานหนักขึ้น แต่ผู้ได้รับประโยชน์เต็มๆ คือ ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ต้องเลื่อนหน้าจอซ้ายขวาๆ ขึ้นลงๆ นอกจากนั้น ทางลูกค้าสามารถเก็บข้อมูลของทั้งเว็บไซต์คอมพิวเตอร์และของมือถือไว้ในฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งก็ง่ายและสะดวกต่อการดูแล
-
เข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย
แต่ก่อนเรารู้จัก MSN และ Hi5 ตามด้วย Facebook, Instagram, Twitter, Pinterest และอื่นๆ นักการตลาดที่ดีต้องรู้ว่าช่วงนี้เทรนด์ไหนกำลังมาแรง จากที่ลิสต์ชื่อมาจะเห็นได้ว่า บางชื่อก็เลือนหายกลายเป็นความทรงจำแล้ว (เด็กรุ่นนี้บางคนยังไม่ทัน Hi5 ด้วยซ้ำ) นักการตลาดต้อง (ไม่ใช่แค่ควร) รู้ว่าเทรนด์กำลังไปในทิศทางไหน คนไทยอ่านหนังสือน้อยลงจริงหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้น ใช้รูปภาพในการสื่อสารดีกว่าไหม นอกจากจะตามเทรนด์แล้ว เราก็ต้องสวมบทบาทนักพยากรณ์ด้วยว่า ในอนาคต เทรนด์ไหนจะมา อีกสัก 10- 20 ปีคนเราจะใช้สติกเกอร์สื่อสารกันแทนการพิมพ์ไหม จะมีแอปรูปภาพไหนมาสู้กับ Instagram หรือ Pinterest ได้หรือเปล่า แต่การทำนายนี้ก็ไม่ได้มาจากการคิดเอาเอง อินเทอร์เน็ตคือแหล่งข้อมูลชั้นดีที่นักการตลาดสามารถอ่านและหาข้อมูลจนตกผลึกทางความคิด ถ้าคุณอยากมองให้ออก คุณก็ต้องมีข้อมูลที่แน่นในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่าง เพจลูกค้าที่อยากให้กลุ่มเป้าหมายมาทำกิจกรรมมากกว่าแค่กดไลค์และคอมเมนต์ นักการตลาดอาจแนะนำให้มีประกวดภาพถ่าย เนื่องจากช่วงนี้คนไทยชอบถ่ายรูปกันมากขึ้น การประกวดภาพถ่ายใน Facebook จึงเป็นกิจกรรมดีๆ ที่เรียกให้กลุ่มเป้าหมายออกมาแสดงตัว ถ้ากลุ่มเป้าหมายช่วยกันแชร์รูปก็จะช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น
-
เป็นผู้แนะนำที่ดี
นักการตลาดต้องเป็นมากกว่าผู้ประกอบการ จริงอยู่ว่าเราได้เงินจากลูกค้า แต่ความสัมพันธ์ของเราไม่ใช่ควรเป็นเราทำงานให้คุณ คุณจ่ายเงินมา จบ นักการตลาดที่น่าชื่นชมต้องเป็นทั้งครูและกุนซือ ลูกค้าบางคนอาจจะไม่คุ้นกับวงการการตลาดออนไลน์ (Online Marketing) เพราะที่ผ่านมาเน้นการตลาดแบบดั้งเดิม (Traditional Marketing) เช่น การโฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ บิลบอร์ด ป้ายประกาศทั่วไป แต่พอพูดถึงการตลาดออนไลน์ พวกเขาอาจนึกออกเพียงแบนเนอร์โฆษณาบนเว็บไซต์ แต่ยังไม่เข้าใจว่า เราสามารถโฆษณาแบรนด์ของตัวเองในแง่มุมอื่นได้ เช่น การปรากฏตัวในอันดับต้นๆ ของกูเกิ้ล การส่งอีเมล แม้แต่การโต้ตอบผ่าน Facebook Message ก็ถือเป็นการตลาดอย่างหนึ่ง นักการตลาดต้องเป็นกุนซือที่คอยให้คำแนะนำต่างๆ เช่น การใช้แบนเนอร์โฆษณาแบบ Real time bidding ซึ่งหมายถึงแบนเนอร์ที่ปรากฏตัวตามกลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่าง การโฆษณาปกติจะปรากฏตัวซ้ำๆ บนเว็บไซต์เดิม แต่ถ้าลูกค้าใช้ RTB แบนเนอร์จะปรากฏตัวในเว็บไซต์อื่นๆ ที่กลุ่มเป้าหมายเราเข้าชม โดยทางลูกค้าสามารถตั้งค่าว่าจะให้กลุ่มเป้าหมายใดเห็นโฆษณาตัวไหน แบนเนอร์โฆษณานี้ถูกพัฒนาจากแนวคิดที่ว่า เราให้ความสำคัญกับคนที่จะเห็นโฆษณา แทนการเอาโฆษณาไปวางไว้ที่ไหน
ถ้าคุณอยากเป็นนักการตลาดยุคดิจิทัล คุณไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อน แค่คิดถึงลูกค้าก่อนอันดับแรก มองให้ออกว่า ลูกค้าคิดอะไร ลูกค้ามีวิธีคิดอย่างไร ลูกค้าอยากได้อะไร จากนั้น ค่อยขยายไปที่กลุ่มเป้าหมาย หาข้อมูลและวิเคราะห์ว่ากลุ่มเป้าหมายของลูกค้าคือใคร กลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมการซื้ออย่างไร พอเราได้ไอเดียแล้ว ก็เอาความรู้และประสบการณ์ที่มีมาผสมผสานกันอย่างสร้างสรรค์ จริงอยู่ว่า เงินทำให้บริษัทโตและขับเคลื่อนไปข้างหน้า ความสำเร็จทำให้เราเป็นที่รู้จักและน่ายกย่อง แต่สิ่งที่มีค่ามากกว่านั้นคือสายสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกค้า การมุ่งหวังให้พวกเขาได้สิ่งที่ดีที่สุด ทั้งสองฝ่ายจะได้เป็นมากกว่าผู้สั่งงานกับผู้รับงาน แต่จะเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งในโลกของการตลาดออนไลน์
บทความนี้เป็น advertorial
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บริษัท Syndacast