แม้จะเป็นข่าวดีที่ประเทศไทยกำลังจะมีกฎหมายออกมาช่วยภาคธุรกิจในการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตแทนกระบวนการในแบบกระดาษเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ หรือก็คือ “ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่…) พ.ศ. ….” กฎหมายที่หลายคนเรียกย่อ ๆ ว่า พ.ร.บ. อีคอมเมิร์ซ ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นจากการปรับปรุง 9 ประเด็นสำคัญ ก่อนจะเสนอต่อนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและนำเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติต่อไป
โดย 9 ประเด็นสำคัญที่มีการปรับปรุงในร่างฯ ฉบับนี้ได้แก่
1. ปรับปรุงเกณฑ์การลงลายมือชื่อในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยเปิดช่องให้สามารถพิจารณาจากวิธีการที่ใช้ในการลงลายมือชื่อนั้นเอง และพยานหลักฐานอื่นได้นอกเหนือจากการพิจารณาวิธีการที่น่าเชื่อถือที่กำหนดในปัจจุบัน
2. เพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อรองรับการทำสัญญาผ่านระบบข้อมูลอัตโนมัติ ตามแนวทางของ United Nations Convention on the Use of Electronic Communications in International Contracts (UNCECC)
3. เพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อรองรับกรณีการ Input Error ตามแนวทางของ UNCECC
4. เพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่า การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นการทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ให้มีผลเป็นการเชิญชวนให้ทำคำเสนอ ตามแนวทางของ UNCECC
5. กำหนดให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อไม่ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐแห่งใดแห่งหนึ่งดูแลเป็นการเฉพาะ
6. กำหนดให้ธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทขึ้นทะเบียนมีกระบวนการตรวจสอบแบบ Pre Audit แทน Post Audit เพื่อให้กำกับดูแลให้ธุรกิจบริการมีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งปรับกระบวนการในการกำกับดูแลในขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งในส่วนการแจ้งให้ทราบ การขึ้นทะเบียน และการอนุญาตให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
7. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และมีการปรับบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้มีการประกันสิทธิประชาชนในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่มากขึ้นตามข้อกังวลของภาคส่วนต่าง ๆ
8. กำหนดให้ชัดเจนว่า ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ รวมถึงการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐประเภทใดบ้าง เพื่อให้นำหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้บังคับได้ แต่ปรับให้กรณีการดำเนินงานของศาล และองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี และการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท สามารถเลือกดำเนินการตามความเหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ของตน
9. ปรับองค์ประกอบคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อคล่องตัวในการทำงาน พร้อมทั้งปรับอำนาจหน้าที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้รับกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
แต่นอกจากข่าวดีดังกล่าวแล้ว สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอาจเป็นเสียงที่แสดงถึงความห่วงใยเกี่ยวกับแนวคิดและทิศทางที่กฎหมายกำลังจะก้าวไป ที่ดังออกมาจากฟากของภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญในวงการอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะเสียงจากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ที่เชิญผู้เชี่ยวชาญซึ่งเกี่ยวข้องกับ e-Business มาให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ โดยคุณวรวุฒิ อุ่นใจ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในเวทีดังกล่าวได้ให้ทัศนะว่า รู้สึกดีใจที่ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นเสียที เพราะเป็นสิ่งที่คนในวงการต่างรอคอยกันมานานเป็นสิบปี แต่ปัญหาก็คือ การมองภาพของธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐที่ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจทำให้ร่างกฎหมายฯ ไม่อาจตอบโจทย์ได้ในด้านการแข่งขัน
“ตอนนี้โมเดลธุรกิจของอีคอมเมิร์ซได้แปลงสภาพไปเป็น e-Business นานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศ รายใหญ่ ๆ เช่นAmazon หรือ Alibaba ได้พัฒนาไปสู่ e-Business เรียบร้อย ซึ่ง e-Business มีองค์ประกอบใหญ่ ๆ 4 ข้อได้แก่
- E-Commerce การค้าอิเล็กทรอนิกส์
- E-Finance การเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอีกกลุ่มที่ต้องเติบโตคู่อีคอมเมิร์ซ และการจะออกกฎระเบียบใด ๆ ก็ต้องคิดถึงทั้งอีคอมเมิร์ซและอีไฟแนนซ์ด้วย
- E-Logistics เป็นภาคที่มีข้อมูลเกิดขึ้นสูงมาก รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ เช่น การใช้โดรน หรือโรบ็อท
- E-Infomation สุดท้ายคือข้อมูล ซึ่งจะทำสามข้อข้างบนได้ ต้องมีตัวนี้ เพราะมันคือเรื่องของบิ๊กดาต้า และอาจนำไปสู่ A.I. ได้ด้วย
ดังนั้น การที่รัฐบาลพยายามทำออกมาแล้วโฟกัสไปที่อีคอมเมิร์ซอย่างเดียวจึงทำให้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังไม่อาจตอบโจทย์การแข่งขันนั่นเอง
“ทั้ง 4e นี้จะไปด้วยกันตลอดเวลา อย่าแยก เพราะมันเชื่อมโยงกัน ดังนั้นกฎหมายของเราถ้าจะพัฒนาก็ต้องมองในองค์รวม อย่ามองแยก เพราะมันจะเติบโตไปพร้อมกับอีคอมเมิร์ซเสมอ ถ้าเราพัฒนากฎหมายโดยไม่มองอีกสามตัวนี้ อีคอมเมิร์ซเราจะสะดุดและมีอุปสรรคที่จุดใดจุดหนึ่งอยู่ดี เพราะเรามองไม่รอบด้าน”
“สิ่งที่เรากังวลต่อไปคือ โครงสร้างและระบบการทำงานของราชการไม่เอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกันด้วยดี ยกตัวอย่างเช่น เราต้องมีหลายหน่วยงานทำงานด้วยกัน แต่กฎระเบียบของแต่ละหน่วยงานไม่เอื้อต่อการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา e-Business”
สามคือ ผู้มีอำนาจให้ความสำคัญ – ให้เวลากับงานนี้จริงหรือเปล่า หรือว่าส่งเลขามานั่งฟังแทน เพราะการจะรวมดาวผู้บริหารระดับสูงของประเทศมาอยู่ในบอร์ดเดียวกัน “เวลา” เป็นอุปสรรคใหญ่มาก อีกทั้งท่านเหล่านั้นมีภาระกิจมากมายอยู่แล้ว ท่านจะให้ความสำคัญกับเรื่อง e-Business ได้มากแค่ไหน
ปัญหาเรื่องเวลายังนำไปสู่ปัญหาเรื่องโครงสร้างของหน่วยงานที่จะทำงาน โดยคุณวรวุฒิชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์สองส่วน คือสนับสนุนการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการกำกับดูแล แต่มุมมองของภาครัฐไทยจะเน้นกำกับดูแลมากกว่าส่งเสริม ซึ่งสำหรับภาคธุรกิจ e-Business ทำเช่นนี้ไม่ได้
“ประเทศที่ประสบความสำเร็จ เขาให้น้ำหนักไปที่การสนับสนุนส่งเสริม 80% และกำกับดูแล 20% เพราะการกำกับ e-Business เป็นเรื่องยาก เราอยู่ในธุรกิจของอนาคต แม้ตัวผู้ประกอบการเองก็ยังมองอนาคตได้ในรัศมีอันใกล้ ดังนั้น ถ้าเราไปออกกฎดักไว้ก่อนเต็มไปหมด มันจะกลายเป็นว่ากฎระเบียบทำให้เราขับเคลื่อนได้ไม่อิสระ”