editorial note: บทความนี้คือบทความพิเศษ (ที่เราเรียกว่า Guest Post) จาก “เก่ง” หรือ เกริก สถิรวงศ์วรรณ Associate Director, Digital Exchange Planning, Mindshare เขารับหน้าที่วางแผนกลยุทธทางการตลาดด้านดิจิทัลให้กับแบรนด์ของ Unilever ทั้งหมด บทความนี้เขาส่งมาให้ กองบรรณาธิการ thumbsup อัพโหลดขึ้นให้ชาว thumbsup โดยเฉพาะ ทว่าสิ่งที่ผู้เขียนเขียนมา ไม่สะท้อนแนวคิดของกองบรรณาธิการ thumbsup เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของเขา ว่าแล้วก็อ่านกันได้โดยพลัน
ข้อคิดและสาส์นจาก Young Lions ไทยที่ไป Cannes… (ต่อคนในวงการโฆษณา)
ถึงแม้เมื่อไม่นานมานี้ Cannes Lions จะถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องของ scam project ที่ชนะรางวัลในคานส์ จนทำให้มาตรฐานที่สูงของคานส์ถูกมองในแง่ลบมากขึ้น แต่หลายคนอาจจะไม่คุ้นว่าจริงๆ แล้ว Cannes Lions Organization มีการจัดกิจกรรมอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Young Lions Competition เป็นประจำทุกปี เพื่อต้องการยกมาตรฐานและวางรากฐานของอุตสาหกรรมโฆษณาในอนาคต
Fact 1 : Young Lions คือ….
Young Lions จริงๆ คือกลุ่ม New Generation ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี และถูกมองว่าเป็น Superstars หรือ Next Generation Leaders ที่จะมีอิทธิพลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมโฆษณาทั้งในปัจจุบันและอนาคต
Fact 2 : Young Lions ต้องทำอะไรบ้าง..
สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองผ่านการแข่งขัน กับคนเก่งๆ จากทั่วโลก โดยเริ่มที่รับบรีฟจาก Non-profit Organization และเข้าร่วม Workshop เพื่อหา insight, strategy และ idea ตลอดจนผลิตงานจริงๆ ภายในงาน และต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการภายใน 24 ชม. ซึ่งผู้ชนะในปีนี้นอกจากจะได้ขึ้นไปรับรางวัลบนเวที Cannes Lions จริงๆ แล้ว ยังได้รับการสนับสนุน development fund จาก “Big Six” (Dentsu, Havas, IPG, Omnicom, Publicis และ WPP) เพื่อต่อยอดในการสร้างสิ่งดีๆ ให้กับโลกใบนี้ ผ่านการลงนาม ‘Common Ground’ กับ UN เพื่อสร้าง Sustainable Development Goals (SDGs)
Fact 3 : ทำอย่างไรถึงจะได้เข้าร่วม Young Lions?
ในทุกๆ ปี Cannes Lions จะคัดเลือก Best of the Best จากแต่ละประเทศ เพื่อเข้าร่วม Young Lions Academy Competition ใน 7 สาขา ได้แก่ Film, Cyber, Media, PR, Print, Design และ Marketers ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็น Young Lions จะได้รับตั๋วพิเศษในนามของตัวแทนประเทศ เพื่อมาแข่งขันกันในช่วง Cannes Lions Festival
Fact 4 : แล้วตัวแทน Young Lions ไทย คือ….?
มันถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจจะถามว่า อ้าว..แล้วทำไม ฉันถึงไม่เคยรู้เรื่องนี้ แล้วใครเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงานนี้ ซึ่งคำตอบในที่นี้คือ ไม่มี และอาจจะต้องกลับมานั่งคิดว่า จริงๆ แล้ว คนไทยหรือนักโฆษณาไทยเองก็ไม่รู้จักชื่อของ Young Lions เลยด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเพราะว่า Quota ของประเทศไทยที่จะเข้าร่วมงานนี้ได้ ถูกจำกัดเพียงแค่สาขา ‘Film’
ในทางกลับกัน ผมกลับมองว่าคนไทยเอง มีความครีเอทีฟสูงมาก กวาดรางวัลบนเวทีนี้ก็ไม่น้อย ขาดแค่โอกาสที่เราเองจะได้แสดงความสามารถ และหากเทียบกับประเทศอื่นๆ หรือแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านที่มีสิทธิ์ในการเข้าร่วม Young Lions Competition เกือบทุกๆ สาขา ประเทศไทยเองขาดประสบการณ์และด้อยโอกาสมากที่จะยกระดับนักโฆษณาที่เป็น Young Blood และ Rookie ในอนาคต
คำถาม ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อโฆษณาไทยในอนาคต
จากจุดนี้..เลยทำให้ผมเองเกิดคำถามที่ว่า มันถึงเวลาหรือยังที่เราจะมาช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรมโฆษณาของเรา? ไม่ใช่เพียงแค่ยอดขาย แต่ยังสามารถสร้างแนวทางแก้ไขปัญหาในระดับสังคมได้อีกด้วย
ย้อนกลับมาที่เหตุผลของการมี Young Lions ก็คือลงทุนในทรัพยากรบุคคล ที่มีความสามารถที่จะต่อยอด ทั้งในแง่ความคิดเห็น ไอเดีย การผสานเทคโนโลยีกับครีเอทีพ รวมไปถึงมุมมองและจินตนาการที่คาดไม่ถึง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ Cannes Lions เชื่อว่าจะนำไปสู่ Different impact to a better world.
ในฐานะ Young Lions ที่ได้มีโอกาสไปเปิดประสบการณ์ พูดคุยและพบปะกับ Best of the best จากทั่วทุกมุมโลกใน Cannes Lions จริงๆ ทำให้เราเปิดโลกทัศน์ อยากกลับมาพัฒนาตัวเองให้สูงขึ้นไปอีกขั้น จึงอยากให้ทางสมาคมนักการตลาดและโฆษณาแห่งประเทศไทย มองเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ และช่วยผลักดันให้มีการคัดเลือก Young Lions ในฐานะตัวแทนประเทศไทยจริงๆ ไปเข้าร่วม Young Lions ระดับโลก ซึ่งสักวันหนึ่ง ผมเชื่อว่าจะต้องมี Young Lions จากทีมไทย ชนะในเวทีอันทรงเกียรตินี้ด้วยเช่นกัน
ประสบการณ์และ Young Lions สอนอะไรเราบ้าง…
ผมเองได้รับเลือกเป็น 1 ใน 12 ตัวแทนในฐานะ Young Lions ผ่านการคัดเลือกภายในจาก 116 ออฟฟิศทั่วโลก เพื่อไปเปิดโลกทัศน์และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ ในขณะเดียวกันก็ได้ให้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์ มุมมองและแง่คิดที่ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่โชว์ศักยภาพของตัวเราเอง แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึง Core Value ของ Mindshare นั่นก็คือ Speed, Teamwork และ Provocation ผ่านการลง field work และการทำกิจกรรมร่วมกันของทั้ง 12 ตัวแทนจาก Mindshare ทั่วโลกในงาน Cannes Lions
เอเยนซี่ในเครือ WPP โดยเฉพาะ Mindshare ถือเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับ ‘คน’ หรือ Talent Development ในระยะยาว และมี Young Lion Internal Program เป็นประจำทุกปี เพื่อไม่เพียงแค่พัฒนา Hard Skill ที่ได้จากในงาน แต่ยังปลูกฝัง Soft Skill ที่ทำให้เกิดทัศนคติและวิสัยทัศน์ที่กว้าง รักการเรียนรู้ตลอดจนไม่ Limit Boundary ของเราเอง เช่นเดียวกับคำนิยามของ ‘Young Lions’ ที่พร้อมจะเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ในขณะเดียวกันก็กล้าที่จะออกจาก comfort zone และก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง เพื่อที่สร้าง ‘Different Impact’ ให้แก่สังคม เพราะงานโฆษณาที่ดีจริงไม่ใช่แค่วัดเรื่องของ Effectiveness แต่ยังต้องมี ‘Ability to Change the World’ และสร้าง ‘Better Solutions in Future’
3 เคล็ดลับในการเป็น Young Lions และในขณะเดียวกัน Cannes Lions เองก็สอนผม ก็คือ
1. อย่าจำกัดโลกของเรา ให้เปิดโลกและพบคุยกับคนเก่งๆ มันจะทำให้เรารู้สึกมีแรงบันดาลใจ (และคานส์เองก็เป็นที่รวมคนเก่งๆ เช่นเดียวกัน)
2. ฉลาดคิดตาม ฉลาดถามกลับ เพราะมันเป็นการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ และโชว์วิสัยทัศน์ของเราเองผ่านกระบวนการคิด
3. ท้าทายตัวเอง อยู่ตลอดเวลา (ยิ่งเราเห็นคนเก่งๆ เห็นงานดีๆ มันทำให้เราผลักขีดจำกัดของเราให้สูงยิ่งขึ้น)
เกี่ยวกับผู้เขียน
เก่ง หรือ เกริก สถิรวงศ์วรรณ เริ่มสนใจด้านดิจิทัลมีเดียตั้งแต่เป็น Young Talent ของบริษัท mInteraction และเริ่มงานด้านดิจิทัลอย่างเต็มตัวกับ mInteraction ตั้งแต่เรียนจบจากนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Associate Director, Digital Exchange Planning, Mindshare ซึ่งยังคงทำงานร่วมกับ mInteraction เช่นเดิม โดยรับหน้าที่วางแผนกลยุทธทางการตลาดด้านดิจิทัลให้กับแบรนด์ของ Unilever ทั้งหมด และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลายต่อหลายแคมเปญ ทำคว้ารางวัลทางในประเทศและต่างประเทศมามากมาย ซึ่งผลงานที่โดดเด่นที่หลายคนน่าจะคุ้นตาคือแคมเปญ Flavour of Home #อาหารคือหลักฐานของความรัก ของแบรนด์คนอร์