วันนี้ร้านอาหารมากมายตกแต่งด้วยหลอดไฟ LED แบบวินเทจที่ใช้กระจกใสล้อมรอบเส้นใยเรืองแสงสไตล์เดียวกับหลอดไฟที่คิดค้นโดย Thomas Edison ในปี 1879
ล่าสุดมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานตาบาร์บาร่า (UCSB) กำลังฟ้อง 5 ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯด้วยข้อหารับทรัพย์จากเทคโนโลยี “หลอดไฟ Edison” ที่เป็น LED
ซึ่งนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเพิ่งคิดค้นในยุคปี 2000 โดยไม่ได้รับอนุญาต นำไปสู่ความน่าสนใจ 4 ประเด็นที่คนไทยควรรู้เพราะหลอดไฟ Edison นี้ก็ถูกนำมาใช้ในเมืองไทยบ้านเราเช่นกัน
1. มหาวิทยาลัยทนไม่ไหว
หลอดไฟ Edison ดูดีมีสไตล์กลายเป็นคดีความที่มีมหาวิทยาลัยใหญ่ของสหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตีฟ้องร้องร้านค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดระดับ Top 5 ของตลาด เหตุผลที่มหาวิทยาลัย UCSB มองคือแม้หลอดไฟนี้จะดูเหมือนหลอดไฟที่คิดค้นโดย Thomas Edison ในปี 1879 แต่การใช้เทคโนโลยี LED ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นเพิ่งเริ่มทำได้โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยในช่วงปี 2000
ผลคือมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานตาบาร์บาร่าตัดใจฟ้องกลุ่มผู้ค้าปลีกรายใหญ่แดนลุงแซม ได้แก่ Ikea, Amazon, Walmart, Target และ Bed Bath and Beyond ข้อหาจำหน่ายหลอดไฟโดยไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ทีมนักวิจัยไอเดียแจ่มเริ่มจดสิทธิบัตรนวัตกรรมเทคโนโลยี LED ที่ UCSB ในช่วงต้นยุค 2000 หรือเมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา
การยื่นฟ้องของ UCSB เป็นการร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ร่วมกับอีกหลายคดีความทางแพ่งในศาลรัฐบาลกลางของลอสแองเจลิส เป้าหมายการฟ้องร้องคือ UCSB ต้องการเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่ “สมเหตุสมผล” สำหรับสิทธิบัตร ขณะนี้กำลังเสนอแผนออกใบอนุญาตธุรกิจเพื่อให้บริษัทค้าปลีกสามารถเป็นผู้ค้าปลีกที่ได้รับอนุญาตได้อย่างถูกต้อง โดยธุรกิจสามารถจัดหาหลอดไฟและชำระค่าลิขสิทธิ์กับ UCSB ได้โดยตรง
2. ตลาดโต 1 พันล้านใน 5 ปี
จากข้อมูลของมหาวิทยาลัย ศูนย์พัฒนาพลังงานอิเล็กทรอนิกส์และหลอดไฟหรือ Solid State Lighting and Energy Electronics Center ของ UCSB ได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้หลอดไฟ LED สามารถมีลวดลายเรืองแสงได้ด้วยไส้ filament หลอดไฟนี้กลายเป็นนวัตกรรมโดนใจเพราะก่อนหน้านี้ไฟ LED มักถูกปกคลุมในกระจกทึบแสง ความโดนใจนำไปสู่เม็ดเงินมหาศาล 1 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือมากกว่า 3 หมื่นล้านบาทในเวลาเพียง 5 ปี
เบื้องต้น ทนายที่ดูแลคดีของ UCSB ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg ว่าทางมหาวิทยาลัยได้ติดต่อกับบริษัทผู้ค้าปลีกเพื่อขอให้ดำเนินการเพื่อรับใบอนุญาตจำหน่ายผลิตภัณฑ์แล้ว แต่ บริษัทยังคงขายหลอดไฟที่ละเมิดสิทธิบัตรของมหาวิทยาลัยต่อไป โดยไม่ลืมย่ำว่าในทางเทคนิค หลอดไฟลักษณะนี้เป็นสิทธิบัตรเฉพาะของรัฐแคลิฟอร์เนียเนื่องจากเป็นสถาบันสาธารณะ
บนเว็บไซต์ UCSB ย้ำว่าตั้งแต่หลอดไฟ LED แบบเส้นใย (filament LED) เปิดตลาดในปี 2014 สินค้าได้รับความนิยมอย่างมากจนเติบโตก้าวกระโดด ในปี 2019 พบว่าหลอดไฟ filament LED มียอดขายเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ แปลว่าผู้ค้าปลีกทำกำไรจากการขายเทคโนโลยีนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตมานานนับ 5 ปี
3. มีผลที่สหรัฐฯ
แม้หลอดไฟ filament LED จะวางจำหน่ายไปทั่วโลก แต่ขณะนี้มหาวิทยาลัย UCSB มีเป้าหมายที่จะหยุดการนำเข้าหลอดไฟ Edison ในสหรัฐอเมริกา โดยจะเน้นที่ร้านค้าปลีกมากกว่าการเน้นที่ผู้ผลิต ซึ่งล้วนแต่อยู่ในต่างประเทศนอกสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากคดีประสบความสำเร็จ ค่าลิขสิทธิ์จะถูกส่งไปยังโรงเรียนและนักประดิษฐ์ รวมถึง Shuji Nakamura ผู้ได้รับรางวัลโนเบลซึ่งได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักประดิษฐ์หลอดไฟ LED สีน้ำเงิน และเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่คิดค้นการประดิษฐ์หลอดไฟ LED สีขาวยิ่งขึ้นในปี 2014
โฆษกของ Ikea ย้ำว่ากำลังพิจารณารายละเอียดของคดีความที่เกิดขึ้น พร้อมกับบอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมในเวลานี้โดยไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ขณะที่ Amazon และ Bed Bath and Beyond ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเนื่องจากบริษัทยังไม่ได้รับการชี้แจงอย่างเป็นทางการ ด้าน Walmart เลือกไม่ตอบสนองต่อคำขอสัมภาษณ์ที่ Fast Company แจ้งไป
4. 18 เดือนรู้ผล
ในคดีนี้ UCSB ประเมินว่าจะต้องใช้เวลาระหว่าง 15 ถึง 18 เดือนกว่าคดีจะถูกพิจารณาจนได้ข้อสรุป คาดว่าเวลานั้น ราคาของหลอดไฟดีไซน์สวยอาจจะขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
หากจะให้วิเคราะห์ในเบื้องต้น เราพบว่า UCSB มีโอกาสชนะคดีสูงมาก เนื่องจากที่ผ่านมา UCSB สามารถรวบรวมรายได้จากการออกใบอนุญาตใช้สิทธิบัตรเทคโนโลยีของตัวเองมากกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี ท่ามกลางจากการศึกษาของ Brookings 2013 พบว่ามีมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนงานวิจัยให้กลายเป็นเงินสดได้ เนื่องจากข้อตกลงการอนุญาตใช้สิทธิ์ส่วนใหญ่นั้นไม่คุ้มค่า
ไม่ว่าอย่างไร คดีนี้ก็ถือเป็นประโยชน์สำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การศึกษาภาครัฐในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกกำลังดิ้นรนเพื่อให้ได้เงินทุนตามที่ต้องการ บนภาวะค่าเล่าเรียนที่พุ่งสูงขึ้น.
ที่มา: : FastCompany