ในที่สุดงาน Start it Up, Power it Up ครั้งที่ 3 ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ต้องขอขอพระคุณชาว startup ทั้งไทยและต่างประเทศ ตลอดจนแขกรับเชิญที่ให้เกียรติมาร่วมงานกับเราในวันนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้เป็นต้นไปเพื่อนๆ กองบรรณาธิการของผมจะเขียนสรุปลงรายละเอียดเกี่ยวกับงานในวันนี้อีกที แต่สิ่งที่ผมจะเขียนตอนนี้เป็นเพียงแค่ข้อสังเกตส่วนตัวที่มีกับวงการ startup ไทย ที่ฉุกคิดขึ้นมาได้ คุณคิดคล้ายหรือคิดต่างจากผมก็แชร์กันด้วยการคอมเมนต์ด้านล่างบทความนะครับ
งาน Start it Up, Power it Up วันนี้ส่วนตัวผมดีใจที่ทุกคนให้ความสำคัญและมาร่วมงานกันคับคั่งเช่นเคย ช่วงนี้ต้องยอมรับว่ากระแส startup แรงจริง ถึงขนาดมีคนพูดแซวกันว่าช่วงนี้ถ้าจะทำอะไรเท่ๆ ก็มี 2 อย่าง อย่างแรก “ขี่จักรยาน” (เข้ากับบรรยากาศเลือกตั้งผู้ว่าฯสิ้นดี) อย่างที่สอง “ทำ startup” ข้อหลังนี่ถึงจะเป็นการแซวกันเล่นๆ แต่ส่วนตัวผมก็มองว่ามันปฎิเสธไม่ได้จริงๆ ว่ามันก็ดูเป็นอะไรที่ “เท่” อยู่เหมือนกัน
แต่ลึกๆ ผมก็กราบภาวนา ขออย่าให้มันเท่เลย เพราะอะไรที่มีสีสันฉูดฉาดมันมักจะเป็นแค่ “ฟองสบู่” อยู่ชั่วครู่ชั่วยาม อารมณ์คล้ายคนไทยกำลังเห่อเฟอร์บี้ หรือที่เราเคยเห่ออูกูเลเลอะไรอย่างนั้น
เรื่องนี้ใครจะว่าผมมองโลกในแง่ร้ายก็จะยอม แต่สิ่งที่ยอมไม่ได้ (และพวกเราไม่ควรจะยอม!) ก็คือการปล่อยให้ธุรกิจ startup ในบ้านเรามีแต่กระแส มีแต่สื่อและบล็อกประโคมข่าวกันเข้าไป แต่ในแง่ธุรกิจจริงๆ กลับไม่ได้มีการสร้างนวัตกรรม หรือแม้กระทั่งว่ามีการลงทุนจริงจัง และพอลงทุนแล้วกลับมีแต่มูลค่าประเมิน ไม่ได้มีมูลค่าธุรกิจจริงจัง ซึ่งท้ายสุดมันขึ้นอยู่กับชาว startup ไทยว่าจะทำสิ่งต่อไปนี้หรือไม่
1. คุณควรจะมีแผนธุรกิจที่มีแนวโน้มทำเงินได้จริง – ผมเคยคุยกับ ป้อม ภาวุธ แห่ง TARAD.com และหนึ่งในนักลงทุนของ M8VC เขามีมุมมองอย่างหนึ่งที่ผมเห็นด้วยนั่นคือ ธุรกิจแนวออนไลน์ แนว tech startup มันเป็นอะไรที่ประเมินค่าลำบาก เพราะธุรกิจแนวนี้มันอาจไม่ได้มี asset เยอะแยะ หรือจะประเมินด้วยมูลค่า Brand ก็ยังไม่มีใครออกมาทำตรงนี้ชัดเจน ดังนั้นที่พอทำได้คือในแง่ของ Business performance ถึงบางคนจะเถียงว่าเมืองนอกพวก Facebook, Twitter ตอนแรกมีใครทำเงินหรือยัง ก็ต้องเถียงกลับไปว่าแต่เมืองไทยไม่ใช่ ต้องดูกันที่ Business performance เป็นหลัก คือคุณทำเงินได้เท่าไหร่แล้วเอา convert กลับมาเป็นการประเมินค่า ซึ่งเมื่อประเมินค่ากันได้ชัดเจนด้วยสิ่งที่จับต้องได้แล้ว เราก็จะมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่ามันจะไม่กลายเป็นแค่ฟองสบู่ที่มีแต่กระแส
2. ให้เริ่มจาก pain points มองประโยชน์ที่ผู้ใช้จะได้เป็นหลัก – ตอนนี้เดินไปไหนก็เจอน้องๆ สนใจทำธุรกิจ startup แต่พอดูโมเดลแต่ละคนแล้วกุมขมับ เพราะหลายคนยังออกอาการ “ฝัน” อยุ่ค่อนข้างมาก ฝันในที่นี้ไม่ใช่ว่าต้องเป็นเว็บเป็นแอพหรือแพลตฟอร์มเครียดๆ นะครับ ที่จริงยุคนี้เราสามารถทำอะไรสนุกๆ แล้วหาเงินได้ครับ แต่ในการทำงานตรงนี้ อะไรๆ จะจับต้องได้มากกว่าหาก เราเริ่มจากการแก้ปัญหา แก้จุดเจ็บปวดหรือ pain points ของผู้ใช้ ลองดูตัวอย่างง่ายๆ? taskrabbit เว็บที่เปิดให้คนทุกคนจ้างงานสมาชิกในเว็บนี้ทำงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น ใช้ไปซื้อกาแฟ ใช้ไปให้ข้าวหมา ใช้ถูพื้น ใช้ไปซื้อดอกไม้ สิ่งเหล่านี้เรามักไม่ค่อยได้ทำเองเพราะอาจจะติดโน่นนี่นั่น ถ้าหากว่ามีผลิตภัณฑ์อย่าง taskrabbit มันก็แก้ปัญหาเราไปได้หลายเปลาะ… หลายคนอาจจะบอกว่านี่มันเรื่องเบสิคมากๆ เอามาเขียนทำไม ก็ขอบอกว่า วงการ startup ไทยอยู่ในช่วงที่ต้องจับเบสิคให้มั่นก่อนครับ ถ้าเราทำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้เริ่มจาก pain points หรือมองประโยชน์ผู้ใช้เป็นหลัก เราก็จะได้อะไรเดิมๆ กลับมา แล้วเราในปีนี้ ปีหน้า เราจะยังมีธุรกิจดีๆ ออกมาไหม?
3. มี idea แต่ยังไม่ได้ลงมือ หรือลงมือแล้วยังทำได้ไม่ดีพอ (ทั้งที่เงินทุนก็เริ่มมาแล้ว) – เท่าที่ผมสังเกต ตอนนี้มีนักลงทุนทุกระดับกำลังสนใจลงทุนกับบริษัท startup นับตั้งแต่ angel อยากลงไม่กี่แสน จนถึง VC ลงสิบล้านร้อยล้าน หรือแม้แต่สถาบันการเงินทั่วไป อย่างตอนนี้ธนาคารต่างๆ ก็พากันออกแพคเกจเงินให้กู้ โดยการเปลี่ยนชื่อกองทุนกู้ยืมของตัวเองจาก SME มาเป็นกองทุน startup กันเพียบ (แต่พออ่านในรายละเอียดแล้วก็กู้เงินธรรมดาๆ เสียอย่างนั้น) ที่เขียนมาทั้งหมดในข้อนี้ผมเพียงแต่จะบอกว่าเงินน่ะ ตอนนี้มันมีให้คุณแล้ว แต่ผมว่าคนไทยเรามักจจะมี idea แต่ยังไม่ลงมือทำ หรือลงมือทำแล้วแต่ยังดีไม่พอต่างหาก ตอนนี้ถ้าลองไล่นับ startup ไทยผมว่านับหัวได้เลยนะครับ ดังนั้น ถ้าหากว่าคุณมี idea รีบลงมือทำครับ หรือลงมือแล้วล้มเหลว ขอให้ลองคิดใหม่ ทำใหม่ หาที่ปรึกษาและทำใหม่ อย่ายอมแพ้
4. ขอแอบเติมอีก 1 ข้อ ข้อนี้ผมปล่อยให้คุณเติมครับ บอกผมมาเลยในพื้นที่คอมเมนต์ด้านล่างนี้