จากตัวเลขการซื้อโฆษณาผ่านสื่อดิจิตอลในปี พ.ศ.2559 ที่เปิดเผยโดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ในงาน DAAT Day 2016 และได้ระบุว่า เม็ดเงินที่ใช้จ่ายในการโฆษณาผ่านสื่อดิจิตอลนั้นเติบโตขึ้น 22 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยมีมูลค่ารวมกว่า 9,883 ล้านบาท เหล่านี้อาจเป็นตัวเลขที่ทำให้หลายคนตื่นตาตื่นใจ แต่สิ่งที่ตามมาไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น หากแต่เป็นโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นมารออยู่อีกมากมายไม่แพ้กัน
โดยในวงเสวนาในหัวข้อ Digital Challenge & Oppotunity ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิในวงการอย่าง คุณศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย), คุณโศรดา ศรประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทบริลเลียน แอนด์ มิลเลียน, คุณ อมเรศ ชุมสาย ณ อยุธยา ซีไอโอ ลีโอเบอร์เนท กรุ๊ป และคุณเอกชัย ปาริชาติกานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Winter Egency ร่วมให้ทัศนะนั้น ต่างคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ในปีหน้า ทิศทางการเติบโต และความท้าทายดังกล่าวจะยิ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้น ในประเด็นดังต่อไปนี้
1. การจับมือกับสตาร์ทอัปขับเคลื่อนวงการ
ความท้าทายประการแรกคือ การที่คนในวงการเอเจนซี่เริ่มมีการจับมือกับธุรกิจสตาร์ทอัปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับคอนเทนต์หรือบริการที่สร้างขึ้น
โดยคุณอมเรศ ชุมสาย ณ อยุธยา เผยว่า ปัจจุบันเอเจนซี่ใหญ่ ๆ ของต่างประเทศก็เริ่มมีการผูกมิตรกับธุรกิจสตาร์ทอัปกันแล้ว
การนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อให้เห็นการเติบโตของภาคธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคต่อไป
2. เทคโนโลยีใหม่ ความท้าทายของคนทำงาน
อ้างอิงจากเซสชั่นก่อนหน้าของเวที DAAT Day 2016 เกี่ยวกับ Digital Trend Spotting 2017 ที่มีการกล่าวถึงเทคโนโลยีใหม่อย่าง VR, AI, IoT, Data Analytic ฯลฯ ที่ถูกมองว่าเป็นเทรนด์เด่นของปี 2017 คุณเอกชัย ปาริชาติกานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Winter Egency ให้ทัศนะว่าเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ยกตัวอย่างเช่น Data Analytics นั้นเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินก็จริง แต่ตัวข้อมูลและเทคโนโลยีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจของลูกค้าได้อย่างมาก
3. ตำแหน่งงานใหม่ ใช่ว่าหาคนทำได้ง่าย ๆ
กล่าวในฟากการใช้งานเทคโนโลยีกันไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ ทรัพยากรคน ซึ่งคุณอมเรศ ชุมสาย ณ อยุธยาเผยว่า การมาถึงของยุคดิจิตอลได้สร้างตำแหน่งงานพันธุ์ใหม่ขึ้นมารอแล้วเช่นกัน
“ตอนนี้มีคำว่า Creative Technologist คือคนที่มีพื้นฐานของสายครีเอทีฟ คิดเป็นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ และมีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างงานได้ และที่เราเคยบอกว่า ตอนนี้วงการโฆษณากับวงการสตาร์ทอัปเริ่มมีการทำงานร่วมกัน ก็เลยเริ่มจะเห็นแนวโน้มของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในเชิงสร้างสรรค์ หรือว่าในส่วนของดาต้า ตอนนี้มีอาชีพใหม่ คือ Data Scientist โดยตำแหน่งนี้เป็นคนที่สามารถมองเห็นบางสิ่งบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในกองข้อมูลได้ก่อนใคร พวกนี้ นี่จึงเป็นที่มาของอาชีพใหม่ ๆ ในวงการ”
4. นโยบายเปลี่ยนไว ไม่อัปเดตไม่ได้แล้ว
กระนั้น การมีตำแหน่งงานรอก็ไม่อาจทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็วอย่างที่ใจคิด เพราะคุณโศรดาได้เผยถึงความท้าทายประการหนึ่งของดิจิตอลมีเดีย นั่นคือการเปลี่ยนนโยบายอย่างรวดเร็ว
“ความท้าทายหนึ่งที่เราเจอคือนโยบายของแพลตฟอร์ม ซึ่งบางครั้งกว่าเราจะอบรมกันเสร็จ นโยบายของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว ภาคธุรกิจจึงอาจต้องเปิดใจให้เอเจนซี่ลองผิดลองถูกไปพร้อม ๆ กัน เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก”
5. รูปแบบการจ้างงานในยุคเปลี่ยนผ่าน
นอกจากความท้าทายเรื่องศักยภาพของคนทำงาน อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องคนไม่พอ ถึงแม้จะมีบัณฑิตจบใหม่ออกมาทุกปี แต่ความขาดแคลนในวงการโฆษณาดิจิตอลก็ยังมีอยู่ ในจุดนี้ คุณเอกชัยเผยถึงสาเหตุว่า เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงชุดความรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้เข้าไปอยู่ในบทเรียนของมหาวิทยาลัยได้ยาก ดังนั้น ๆ บัณฑิตจบใหม่จึงอาจได้แค่วิธีคิดเฉย ๆ สุดท้ายเลยต้องมาเรียนรู้กันใหม่อยู่ดี ดังนั้นทางออกของ Winter Egency คือการสร้างอะคาเดมี่ขึ้นมา เพื่อฝึกอบรมคนรุ่นใหม่ด้วยตัวเอง แถมยังใช้ในการอบรมให้กับลูกค้า และมหาวิทยาลัยด้วย
ขณะที่คุณอมเรศ ชุมสาย ณ อยุธยา ซีไอโอ ลีโอเบอร์เนท กรุ๊ป ได้ให้ทัศนะในเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ เพราะเขาเลือกที่จะไม่จ้างเข้ามาเป็นพนักงาน แต่เปลี่ยนวิธีจ้างเป็นแบบที่ตรงกับความต้องการของทั้งสองฝ่ายแทน
“เด็กรุ่นใหม่ ๆ เขามีมุมมองที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนที่อาจไม่ต้องการเป็นพนักงานประจำ เราก็จ้างแบบที่เขาต้องการ เช่น อาจจ้างเป็นบุคคล เป็นทีม หรือจ้างสตูดิโอเล็ก ๆ นั่นคือเราก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจเช่นกัน”
จะเห็นได้ว่า บททดสอบของคนในวงการดิจิตอลเอเจนซี่ทุกวันนี้ไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ และการผ่านทั้ง 5 ความท้าทายนี้ไปให้ได้ก็อาจเปรียบเหมือนบททดสอบโหดหินที่ทำให้หลายคนเลือดออกซิบ ๆ กันก็มี แต่เราก็เชื่อว่า ในยุคเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ บททดสอบดังกล่าวจะสามารถช่วยลับฝีมือให้คนในวงการแข็งแกร่งขึ้น และสามารถตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าได้เป็นอย่างดีไม่แพ้กัน