เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารส่วนมากจะเป็นคนประเภท productive สุดๆ แต่ลักษณะนิสัยบางอย่างที่ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพ อาจจะเป็นการบั่นทอนความสำเร็จในระยะยาวก็ได้ บทความจาก Entrepreneur ระบุอุปนิสัย 5 อย่างที่ดูเหมือนจะดี แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วมันให้ผลเสียมากกว่า จะมีอะไรบ้างมาดูกันค่ะ
1. ทำงานหนักสุดๆ
การทุ่มเททำงานหนักเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า Work hard, play harder มันไม่ใช่คำพูดเท่ๆ ที่ไม่มีความหมาย การก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างเดียวแบบไม่มีเรื่องเบาสมองหรือเรื่องเล่นๆ เลยจะทำให้คุณขาดความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์จะทำให้นวัตกรรมถือกำเนิดขึ้น ดังนั้น ควรจัดให้มีพื้นที่สำหรับการพูดคุยหรือกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานบ้าง
2. ให้ความสำคัญกับเวลาตอกบัตรมากเกินไป
หลายๆ บริษัทสนใจแค่ว่าพนักงานมาสายหรือเปล่า ออกไปกินข้าวก่อนเที่ยงหรือเปล่า หรืออยู่ในออฟฟิศครบ 8 ชั่วโมงหรือไม่ ชวนให้สงสัยว่าที่นี่บริษัทหรือโรงเรียนประจำ
ทุกคนคงคุ้นเคยกันดีกับระบบตอกบัตร ถึงแม้ว่ามันจะเป็นธรรมเนียมปกติของเกือบทุกๆ บริษัท แต่การให้ความสำคัญกับมันมากเกินไปจะเป็นผลเสียกับธุรกิจในระยะยาวมากกว่า
บทความนี้บอกว่าการมาเช้า มาสาย จำนวนชั่วโมงการทำงานไม่ใช้ตัวเลขที่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัท แต่ผลงานต่างหากที่เป็นที่มาของรายได้ ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปบังคับเรื่องชั่วโมงการทำงาน
หากโฟกัสไปที่ผลงานและประสิทธิภาพ คุณอาจจะไม่ต้องเข้ามาในออฟฟิศเลยก็ยังได้ งานบางอย่างสามารถทำที่ไหนก็ได้ เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต
3. ทำงานหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน
การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน อาจจะทำให้ดูเหมือนว่าคุณเป็นคนขยันงานล้นมือ แต่เป็นไปได้ไหมว่าการทำหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกันอาจจะทำให้งานออกมาไม่ดีเลยสักงาน
ดังนั้น ทำทีละอย่าง ถ้าเป็นภาษาพระจะเรียกว่า “กินทีละคำ ทำทีละอย่าง” เมื่อทำงานที่ 1 เสร็จ ก็ค่อยไปต่องานที่ 2 ลองคิดดูง่ายๆ อย่างเช่น การพิมพ์อีเมลในขณะที่กำลังนั่งประชุมไปด้วย นอกจากคุณอาจจะพิมพ์ผิดๆ ถูกๆ แล้ว คนในที่ประชุมก็อาจจะไม่พอใจที่คุณเอาแต่สนใจหน้าจอด้วย
4. ไม่ไว้ใจพนักงาน
ผู้บริหารบางคนจะเป็นพวกขี้ระแวง มักจะตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าพนักงานป่วยการเมือง อู้งาน หรือทำงานไม่คุ้มค่า การแสดงออกลักษณะนี้อาจจะดูเหมือนว่าคุณกำลังปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทก็จริง แต่ถ้าจะพูดกันในระยะยาวแล้ว คงไม่มีพนักงานคนไหนอยากทำงานให้กับผู้บริหารแบบนี้ไปนานๆ
นอกจากนี้ ทีมงานในบริษัทอาจจะรวมเวนเดอร์ ฟรีแลนซ์ ที่ปรึกษา และเอาท์ซอร์ส ที่อาจจะไม่ได้เข้ามาทำงานในออฟฟิศทุกวัน อย่าเข้าใจไปเองว่าพวกเขาทำงานให้คุณไม่คุ้มค่าเพียงเพราะว่าเขาไม่ได้เข้ามาให้คุณเห็นทุกวัน คาดหวังผลงานที่จะได้จากพวกเขาก็พอแล้ว
5. เข้าไปมีส่วนร่วมในทุกๆ ขั้นตอน และทุกเรื่อง
ไม่ว่าอะไรก็ตามในบริษัทนี้ต้องมีคุณเข้าไปเป็นส่วนสำคัญ ตั้งแต่พูดเปิดประชุมไปจนถึงสวมหมวกหลายใบทำหลายหน้าที่ หรือเป็นหัวหน้าของทุกแผนก สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ทำให้ดูเป็นผู้นำที่ดีมากขึ้นหรอก สิ่งที่ควรทำคือกระจายงานออกไปให้คนอื่นๆ ที่พิจารณาแล้วว่าเขามีศักยภาพในเรื่องใดและควรรับผิดชอบเรื่องอะไร นี่ต่างหากคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดี