สวัสดีเย็นวันเสาร์ครับ
หลังจากนำเสนอข่าวคราวในแวดวงธุรกิจดิจิตอลผ่าน thumbsup.in.th มาตลอดทั้งสัปดาห์ วันนี้เสาร์บ่ายๆ เย็นๆ แบบนี้ก็เลยขอปรับการนำเสนอมาเป็นแบบสบายๆ ในมุมมองส่วนตัวที่ไม่ใช่ข่าวบ้าง เป็นมุมมองส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่อง Online product ในเมืองไทย แต่อันนี้เรียนคุณผู้อ่านแต่แรกเลยนะครับว่า ผมอยากรบกวนคุณสักหน่อยว่า หลังจากที่อ่านจบอยากให้คุณเข้ามาแชร์ความเห็นกัน แลกเปลี่ยนทัศนะกันหน่อยในตอนท้าย เพราะความเห็นของผมก็ไม่ใช่ว่าจะถูกต้องไปเสียทั้งหมด แต่ก็เชื่อว่ามันคงไปสะกิดต่อมคิดให้ thumbsuper เข้ามาแลกเปลี่ยนกันได้บ้าง
ตอนนี้ถ้าไล่ดูตามการจัดอันดับเว็บไซต์ใน Truehits.net ผมนั่งไล่ดูไปเรื่อยๆ ก็พบว่าเว็บไซต์ 100 อันดับแรกของเมืองไทยจะเป็นเว็บบันเทิงเสียส่วนใหญ่ อันนี้ผมลองนั่งนับทีละตัวๆ ปรากฏว่าเป็นบันเทิง ซีรี่ย์เกาหลี ทั้งที่มีคุณภาพและไม่มีคุณภาพนับรวม 30 เว็บไซต์ รองลงมาคือเว็บไซต์ประเภทเกม รวมทั้งพวกแปะ Flash game เกมแต่งตัวตุ๊กตา ฯด้วยมีทั้งหมด 11 เว็บไซต์ ประเภทข่าวและสื่อ (โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์หัวต่างๆ) 11 เว็บไซต์ eCommerce? และประกาศขายของ 9 เว็บไซต์ เพลงออนไลน์ 6 เว็บไซต์ นอกจากนั้นก็จะเป็นเว็บไซต์เฉพาะทาง อย่าง Social Network, Consumer gadget, การลงทุน, สถาบันทางการเงิน, รถยนต์, ให้บริการเว็บไซต์ฟรี, การศึกษา, ความงาม, พระเครื่อง ไล่ไปจนครบ 100 เว็บไซต์ เรียกได้ว่าความหลากหลายของเว็บไซต์ไทยยังมีน้อย เพราะคนทำผลิตภัณฑ์ออนไลน์ยังเน้นการทำเว็บไซต์ “ที่เชื่อว่าจะขายได้” มากกว่าการพยายามที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่สร้างความแตกต่างจากตลาดที่มีอยู่
และนอกจากจะไม่ค่อยมีความหลากหลายแล้วยังเป็นเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะโกยแทรฟฟิคไร้คุณภาพอีกต่างหาก เช่นไปเอาคลิป YouTube มาใส่แล้วแปะ Google AdSense โดยที่ตัวเองไม่ต้องทำอะไร เพราะอย่างไรก็จะมีคนหลงไปคลิกแน่ๆ หรือไม่ก็ทำเว็บบังหน้าแล้วลิงก์ต่อไปยังเว็บไซต์ขายสื่อลามก แต่ก็น่าดีใจที่ทราบจากบรรดาเอเยนซี่ว่าเว็บไซต์ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพก็จะไม่ค่อยแนะนำให้ลูกค้าไปลงโฆษณาอยู่แล้วเพราะลงไปก็ไม่ดีกับแบรนด์ของลูกค้าเอง (เว้นเสียแต่ว่าลูกค้าจะเอา Page view มากๆ โดยไม่เน้นคุณภาพ ผมเคยเจอเอเยนซี่ก็มักจะต้องเอาโฆษณาไปใส่อย่างเลี่ยงไม่ได้ก็มี)
สิ่งที่เราเจอๆ กันอยู่นี้ ผมว่าพอจะสรุปเป็นข้อๆ ได้ประมาณนี้
1. คนอินเทอร์เน็ตไทยมีวิญญาณผู้ประกอบการน้อย ไม่กล้าเสี่ยง ทำให้อัตราการเกิดของนวัตกรรมต่ำ
ทั้งที่อินเทอร์เน็ตมีต้นทุนธุรกรรมในการเริ่มต้นต่ำ คุณเป็นเจ้าของสื่อได้ด้วยเงินไม่เท่าไหร่ แตกต่างจากคนสมัยก่อนที่จะเป็นเจ้าของทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ได้ต้องมีเงินถุงเงินถังไปสร้างอาณาจักรมีเดีย แต่สมัยนี้คุณทดลองสร้างได้ด้วยตัวเอง แต่กระนั้นเราก็ยังมีคนทำเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตดีๆ น้อยเกินไป เพราะเราไม่ได้คิดใหม่ทำใหม่กันมากเพียงพอ อัตราการเกิดของนวัตกรรมในประเทศไทยน้อย ถ้าลองนับจำนวนสิทธิบัตรทั้งประเทศของเรามีเพียงแค่พันกว่าสิทธิบัตร อาจจะเท่าๆ กับบริษัทแห่งหนึ่งในอเมริกาเท่านั้นเอง เราจำเป็นต้องผลักดันให้คนอินเทอร์เน็ตไทยกล้าเสี่ยงลงมือทำสิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเงินทุนและการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์
2. เรามักง่ายกับคุณภาพของ User Interface และ Performance ของผลิตภัณฑ์
อันนี้เห็นมานานว่าทำไมเว็บฝรั่งถึงดูดี เว็บไทยที่ดีๆ ก็มีเยอะ แต่ส่วนใหญ่จะออกไปทางไม่ดี ทำเว็บรวมลิงก์แปะๆ ไป ทำ Link farm ให้เสิร์ชเอ็นจิ้นอ่านมากกว่าเปิดให้คนอ่าน มีเนื้อหาอะไรก็จับยัดมันเข้าไปให้มันดูมี “เยอะๆ” ไว้ก่อน (ถึงจะมีเซอร์เวย์มาว่าคนเอเชียชอบดูเว็บที่มีเนื้อหาเยอะๆ ก็ตาม แต่มันก็ต้องมีระเบียบ) เราคิดกันแต่เพียงว่าอ๋อ โลโก้ก็ใส่ไว้ทางซ้าย เมนูวางเรียงไว้ซ้ายมือหรือเรียงเป็นแถบอยู่ข้างบน ตรงนี้แปะรูปนะ แปะๆๆ แบนเนอร์ค้างไว้ตรงนั้น เนื้อหาก็ก๊อบๆ ใส่ หน้าตาก็จะออกมาเหมือนๆ กัน คือเรามักง่ายเกินไปกับการออกแบบ User Interface… เราไม่มีแนวคิดเบื้องหลังดีไซน์มากเพียงพอ เราไม่สามารถตอบได้ชัดๆ ว่าการออกแบบแต่และส่วนสัดของเว็บไซต์นั้นสอดรับกับกลยุทธ์และ ROI มากน้อยเพียงไร ผมตกใจทุกทีที่เจอคนที่บอกว่าตัวเองใช้เครื่องมือเก่าๆ อย่าง Dreamweaver ได้คล่อง ก็คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว หากินได้แล้ว แต่ที่จริงคนๆ นั้นควรจะต้องมาทั้งรสนิยมในการออกแบบ Visual design มีเซนส์ในการเลือกให้สีและตกแต่งองค์ประกอบ รวมทั้งการเรียบเรียง script ที่ถูกต้องเหมาะสม และนำเสนอเรื่องนี้ในรูปแบบของเอกสารให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันได้
ผมเคยเจอคนทำงานโฆษณาคนหนึ่ง ผมเคยถามว่าทำไมเว็บแคมเปญโฆษณาของลูกค้าต้องมีแฟลชอะไรมากมายขนาดนั้น อย่างนี้เว็บก็ช้าแย่เลย เขาบอกว่าถ้าไม่ใส่แฟลชมันไม่สวย ผมก็เลยถามว่าไอ้ความสวยตรงนี้ถ้าหากว่ามันทำให้เว็บช้า เข้าไม่ได้ จนไม่สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายจะทำไปทำไม เขาก็เถียงว่าทำให้ลูกค้าดูในออฟฟิศ เน็ตเร็วแรงๆ ไม่เป็นอะไรหรอก เวลาพรีเซนต์เจ้านายเขาจะดู ก็พรีเซนต์แบบออฟไลน์ ถ้าไม่เห็นอะไรวิ่งปรู๊ดปร๊าดเดี๋ยวเขาจะซวย เพราะเจ้านายมองว่าอินเทอร์เน็ตต้องมีอะไรฉูดฉาดไว้ก่อน จะคนจะเข้าเว็บไซต์ได้ช้าเกินไปหรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง มาตอนนี้… คนแทบจะใช้ Facebook Page แทนเว็บแคมเปญอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มีใครสนใจว่ามันจะดูสวยหรือไม่สวยแค่ไหน
3. การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของไทยยังน้อย เรามี Digital divide มากเกินไป
Digital divide คือปัญหาความเหลื่อมล้ําในการเข้าถึงเทคโนโลยี สารสนเทศ หรือ ซึ่งทำให้เกิดความเหล่ือมล้ำ ทางสังคม การศึกษา และเศรษฐกิจของประเทศ อันนี้เป็นภาพใหญ่มาก เราแก้ลำบากมากถ้าหากโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติไม่เกิด แค่การที่คนไทยใช้ Facebook ทั้งหมด 9 ล้านคนแต่ 8.4 ล้านคนมาจากกรุงเทพฯ ตัวเลขนี้มันกำลังบอกอะไรเราหรือเปล่า? มันจะบอกว่าการเติบโตของเมืองไทยเป็นแบบตัวโตตัวลีบ จังหวัดใหญ่ก็ใหญ่ไป แต่ต่างจังหวัดเข้าถึงได้น้อยทำให้กำลังในการพัฒนาเนื้อหาและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ดีๆ ก็จะลดน้อยถอยตามไปด้วย
4. เรามุ่งหวังผลสำเร็จมากจนบางทีไม่คำนึงถึง “วิธีการ” มากเกินไป
การมุ่งเอาผลสำเร็จมาไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม บางทีดูเหมือนเข้าท่า แต่ในฐานะที่อินเทอร์เน็ตเป็นของสาธารณะ การที่เรามุ่งสร้างรายได้ระยะสั้นจากการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือไม่สนใจสังคมจะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง ถ้าหากเราทำเว็บไซต์/ Mobile application ขึ้นมาเพื่อตั้งใจว่าจะสร้างรายได้ แต่ถ้าเรามุ่งหวังผลสำเร็จโดยการทำสิ่งที่คนชอบดูอย่างเดียวแต่ไม่ดูว่ามันถูกต้องหรือไม่ เราก็อาจไปทำเว็บอโคจรที่ส่งผลเสียต่อสังคม ซึ่งตอนนี้บางทีนึกๆ ไปถึงจะไม่ชอบการเซ็นเซอร์ของกระทรวงไอซีที แต่เว็บไซต์บางแห่งที่ Block หรือปิดไปก็ควรแก่การถูกปิดจริงๆ
5. เราทำอะไรกันไม่ค่อย “สุด” เราคิดมากเกินไปแต่อัตราการลงมือทำต่ำ
อันนี้เจอเป็นประจำ ผมเคยเจอผู้บริหารของบริษัทเว็บท่าชื่อดังแห่งหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า Online product ในบริษัทเขาชอบทำกันออกมา แต่ทำไม่ “สุด” ทำแล้วครึ่งๆ กลางๆ จะทุ่มให้มันดีไปเลยก็ไม่ทุ่มกำลังคนและเวลาไปกับมัน ทำขึ้นมาแล้วก็ไม่ผลักดันมันจริงๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์ตัวนั้นไม่ติดกระแสฮิตลมบน ทำให้ตอนนี้เมืองไทยมีเว็บประเภทรวมลิงก์เยอะไปหมด แล้วพวกเราก็คิดกันมากเกินไป พอมีแต่คนคิด Strategy อะไรๆ ก็กลยุทธ์ขึ้นมาก่อน แต่ลงมือทำได้ไม่ดีพอ หรือกลัวจะทำได้ไม่ดีก็เลยกลายเป็นว่าไม่ได้ทำอะไร ผมเคยคุยกับบริษัทอินเทอร์เน็ตบางแห่งมีแผนทำผลิตภัณฑ์ที่ดีมากๆ เทียบกับระดับโลกได้เลย แต่ปรากฏว่าไม่ทำเพราะคิดว่าตัวเองจะทำได้ไม่ดี ก็เลยไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาสักอย่าง จริงๆ เราแค่หยุดคิดมากเกินไป แล้วลงมือทำเลย มันจะทำให้เรามีกำลังใจต่อยอดไปเอง
ทั้งหมดที่เขียนมา ผมเพียงแต่จะบอกว่าเว็บไซต์หรือผลิตภัณฑ์ออนไลน์ของไทยควรจะปรับตัวให้มี คุณภาพมากกว่านี้เพื่อแทรฟฟิคที่ยั่งยืนมีคุณภาพ และจะส่งผลดีกับผลิตภัณฑ์ออนไลน์ของคุณในระยะยาวแน่ๆ ครับ แล้วคุณล่ะครับ คิดอย่างไร? อยากให้แชร์กันข้างล่างนี้นะครับ