Inc.com นำเสนอความเข้าใจผิดๆ 5 ประการเกี่ยวกับการใช้ Social media ของ Startup แต่ลองอ่านแล้วพบว่านำไปใช้ได้ไม่จำกัดเฉพาะ Startup เท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่แบรนด์ต่างๆ ต้องรู้ ถึงแม้ว่าจะจ้างเอเจนซี่มาช่วยดูแลแบรนด์บน Social Media ก็เถอะ
ความเชื่อ : Social Media เป็นของฟรี
ความจริง : ถึงแม้ว่าเราจะไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อที่จะได้เป็นเจ้าของ Social Media แต่การทำให้มันดีนั้นก็เป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่า Startup หรือธุรกิจขนาดเล็กอาจจะไม่มีงบระมาณสำหรับจ้างคนมาดูแล online community หรือเป็น Social Media Manager โดยตรง แต่ก็ต้องมีใครสักคนมาดูแลมันอยู่ดี อาจจะเป็น CEO หรือผู้ก่อตั้งก็ได้ ที่จะต้องมาเขียนบล็อกและเป็นแอดมินในทวิตเตอร์ ซึ่งนั่นก็ถือเป็นต้นทุนในแง่ของเวลาและศักยภาพที่ต้องใช้
ความเชื่อ : Social Media เป็นเครื่องมือที่ใช้สร้าง Brand Awareness และ Brand Loyalty ได้อย่างรวดเร็ว
ความจริง : การใช้ Social Media เพื่อสร้างแบรนด์นั้นต้องใช้เวลา เพราะคุณไม่ใช่คนเดียวที่ใช้มันในการแชร์เรื่องราวที่คุณอยากจะบอกกับผู้คน ดังนั้น ต้องใช้ความสม่ำเสมอในการพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมาย และอย่าคาดหวังผลลัพธ์ในช่วงเวลาเพียงข้ามคืน
ถึงแม้ว่าคุณจะค่อยๆ สร้างการรับรู้ในแบรนด์บน Social Media ไปอย่างช้าๆ แต่มันอาจจะไม่ได้นำมาซึ่งความจงรักภักดีในแบรนด์เลยก็ได้ สองอย่างนี้มันแตกต่างกัน ความจงรักภักดีต่อแบรนด์นั้นได้มาจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับสินค้าหรือธุรกิจของคุณ แต่ที่ปรากฏใน Social Media มันคือภาพลักษณ์ของสินค้าและธุรกิจเท่านั้น
และนอกจาก Social Media จะไม่ใช่เครื่องมือที่จะใช้ในการสร้างแบรนด์ได้อย่างรวดเร็วทันใจแล้ว ความจริงที่น่าเจ็บปวดอีกอย่างคือมันยังถูกทำลายได้ง่ายอีกด้วย มีหลายแบรนด์ที่ล่มจมเพราะการใช้ Social Media แบบผิดๆ เพราะฉะนั้น ต้องใช้อย่างใจเย็นและไม่ปล่อยปละละเลยมัน
ความเชื่อ : ไอเดียสุดเจ๋งของคุณจะเป็น Viral อย่างแน่นอน
ความจริง : เชื่อว่าเอเจนซี่หลายๆ รายต้องเคยเจอรีเควสท์จากลูกค้าประมาณว่าอยากจะได้อะไรที่มันกลายเป็น Viral ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากทำลายความฝันบรรเจิดของลูกค้าหรอก แต่อย่าลืมว่าปัญหาของยุคดิจิทัลนั้นไม่ใช่ประเด็นเรื่องมีข้อมูลน้อยเกินไป แต่มันเป็นเรื่อง Information overload ต่างหาก “เรื่องราว” มันมีมากซะจนการ go viral ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ขนาดนั้น
ถ้ายังพอจำกันได้ ในบ้านเราก็เคยมีกรณีที่แบรนด์พยายามจะ Go viral ด้วยการปล่อยคลิปแรงๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็นดาราโมโหหิววีนแตกใส่แฟนคลับ ครูขว้าง Blackberry ของนักเรียน ผลคือกระแสตีกลับ กลายเป็นโดนวิพากษ์วิจารณ์แบบ go viral แทน
หนึ่งในวิธีที่ได้ผลที่สุดในการที่จะทำให้ไอเดียของคุณไม่ go viral คือความพยายามทำให้มัน go viral นั่นแหละ เมื่อคุณเข้ามาอยู่ในโลกของ Social Media ก็เหมือนกับสื่ออื่นๆ ที่ควรจะให้ความสำคัญกับการเอาความถูกต้องหรืออะไรที่เป็นแก่นแท้ของแบรนด์มาขายมากกว่าจงใจวางแผนให้มันออกมาแบบหวือหวา เพราะมันอาจจะทำให้คนสนใจแต่ก็อาจทำให้ความน่าเชื่อถือถูกลดทอนลงได้เช่นกัน
ความเชื่อ : Social Media เป็นเรื่องง่ายๆ เพราะเราทุกคนก็ใช้มันเป็นประจำอยู่แล้ว
ความจริง : มันง่ายแบบนั้นซะที่ไหน คอนเทนต์ที่คุณเอามาใช้ล้วนต้องมีการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นทวิต โพสต์ และรูปภาพ infographic และวิดีโอ อาจจะไม่ต้องจ้างช่างภาพมืออาชีพหรือนักออกแบบมาผลิตงานเพื่อใช้ใน Social Media เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการวางแผนเกี่ยวกับสิ่งที่อยากจะแชร์บน Social Media ซึ่งต้องแน่ใจว่ามันสะท้อนคุณค่าของแบรนด์ เพราะมันคือตัวแทนของคุณและธุรกิจของคุณที่จะอยู่ในการรับรู้ของผู้คน แน่นอนว่ามันเป็นคนละเรื่องกับการถ่ายรูป Selfie โพสต์รูปอาหาร รีวิวเสื้อผ้าให้เพื่อนอ่าน
ความเชื่อ : ต้องใช้ให้ครบทุก Social Media
ความจริง : ไม่มีความจำเป็นที่จะเอาตัวเองไปปรากฏในทุก Social Media ที่มีอยู่ในตลาด ถึงแม้มันจะเป็นของฟรีก็เถอะ และในความเป็นจริงแล้ว คุณก็ทำแบบนั้นไม่ได้ด้วย ลองย้อนกลับไปอ่านข้อแรก มันไม่มีอะไรฟรีจริงๆ ทุกอย่างจะก่อให้เกิดต้นทุนเสมอ โดยหลักๆ แล้วก็จะมี Facebook, Twitter และ LinkedIn แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าสิ่งที่คุณจะขายคืออะไร และใครที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โจทย์เหล่านี้อาจจะนำคุณไปสู่ Pinterest, Vimeo หรือ Vine ก็ได้