กระแส e-Commerce มาแรงนั้นถึงตอนนี้คงไม่มีใครบอกว่าไม่จริง แต่ในความฮอตของโลก e-Commerce นั้น “ไทย” ยังเป็นประเทศที่ช้อปผ่านโทรศัพท์มือถือสูงเป็นอันดับที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
โดยมีตัวเลขน่าสนใจจาก iPrice ผู้ให้บริการด้าน meta search ในตลาด e-Commerce ทั้ง 6 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จัดทำการศึกษาสภาพตลาดออนไลน์ภายใต้การศึกษาที่ชื่อว่า State of eCommerce โดยการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากร้านค้าพาร์ทเนอร์กว่า 1,000 ร้านค้า และพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยที่น่านำมาแบ่งปันกันดังต่อไปนี้
1. คนไทยใช้โทรศัพท์มือถือเบราซ์สินค้าออนไลน์มากกว่าคอมพิวเตอร์สูงเป็นอันดับสอง
หากเปรียบเทียบสัดส่วนการเบราซ์สินค้าผ่านทางโทรศัพท์มือถือเทียบกับคอมพิวเตอร์ พบว่าคนอินโดนีเซียมีสัดส่วนการเข้าชมสินค้าผ่านทางโทรศัพท์มือถือเทียบกับคอมพิวเตอร์เท่ากับ 87/13 คนไทยเป็นอันดับสอง มีสัดส่วนอยู่ที่ 79/21 อันดับสามคือคนฟิลิปปินส์ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 76/24
หนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเบราซ์สินค้าผ่านทางโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องมาจาก 90% ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยมาจากสมาร์ทโฟน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นเทรนด์การเติบโตของโทรศัพท์มือถือที่สูงขึ้นเรื่อยๆในทุกๆประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการเติบโตนี้จะส่งผลให้สัดส่วนของคอมพิวเตอร์ลดลง จนมีค่าน้อยกว่า 30% ในทุกประเทศ
2. คนไทยค้นหาออนไลน์แต่ซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า – Conversion Rate ต่ำสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตีคู่ฟิลิปปินส์
Conversion Rate คือดัชนีวัดผลที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เข้าชมเว็บไซต์ที่มีแนวโน้มจะซื้อสินค้า จากการศึกษาพบว่าเวียดนามมี Conversion Rate สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย Conversion Rate ในเวียดนามสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30% ในทางกลับกันประเทศไทยมี Conversion Rate ต่ำที่สุดในแถบนี้ โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 20%
อย่างไรก็ดี ถ้าหากเปรียบเทียบ Conversion Rate ระหว่างโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ พบว่าคอมพิวเตอร์คือราชาแห่ง Conversion Rate กล่าวคือเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เข้าชมเว็บจากคอมพิวเตอร์มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าสูงกว่าผู้ที่เข้าชมผ่านโทรศัพท์มือถือ สาเหตุอันเนื่องมาจากระบบคอมพิวเตอร์ที่เสถียรมากกว่าและสะดวกในการจ่ายค่าสินค้ามากกว่าการซื้อผ่านสกรีนเล็กๆ บนโทรศัพท์มือถือนั่นเอง
3. คนไทยจ่ายเงินซื้อสินค้าออนไลน์ต่อครั้งเป็นอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Basket Size หรือราคาเฉลี่ยต่อการซื้อสินค้าหนึ่งครั้งเป็นอีกหนึ่งดัชนีที่ร้านค้า e-Commerce ใช้เป็นเกณฑ์ เนื่องจากเป็นดัชนีที่ส่งผลต่อกำไรของธุรกิจโดยตรง จากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า Basket Size แปรผันตรงกับ GDP per capita ซึ่งเป็นรายได้ต่อหัวของประชากรในแต่ละประเทศ
สิงคโปร์เป็นประเทศที่มี Basket Size สูงที่สุดในแถบนี้ โดยราคาอยู่ที่ 91$ ซึ่งมากกว่าไทยถึงสองเท่า (42$) โดยสิงคโปร์มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร 90,000$ สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยอยู่ในอันดับที่สามด้วยรายได้เฉลี่ยตัวหัวประชากร 17,000$
หากเปรียบเทียบ Basket Size ระหว่างโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ พบว่า Basket Size ของคอมพิวเตอร์มีค่าสูงกว่าโทรศัพท์มือถือเล็กน้อย ประเทศไทยมี Basket Size บนโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 39$ และมี Basket Size บนคอมพิวเตอร์อยู่ที่ 47$ ซึ่งมีความคล้ายกันในทุกประเทศ สรุปได้ว่าคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมซื้อสินค้าที่มีราคาแพงและจำนวนที่มากกว่าบนคอมพิวเตอร์
4. คนไทยนิยมช้อปออนไลน์ก่อนเลิกงาน และก่อนเดินทางกลับบ้าน
หากใช้วันจันทร์เป็นค่าเฉลี่ย เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่วันพุธเป็นวันที่มียอดการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดในสัปดาห์ สำหรับประเทศไทย วันพุธมียอดสั่งซื้อมากกว่าวันจันทร์ 8% แต่จำนวนยอดสั่งซื้อลดลงในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โดยลดลงเกือบ 20% เนื่องจากคนนิยมออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน จึงทำให้ยอดการสั่งซื้อสินค้าลดลง
อย่างไรก็ตามถึงแม้ยอดสั่งซื้อจะลดลง แต่คนยังให้ความสนใจในการเบราซ์สินค้าผ่านทางโทรศัพท์ในช่วงวันหยุด โดยเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นกว่า 10%
เวลาที่คนไทยนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดคือ 15.00 น. คือช่วงการทำงานและเตรียมตัวก่อนกลับบ้าน ซึ่งมียอดสั่งสินค้าของคนไทยมากกว่าค่าเฉลี่ย 69% โดยยอดการสั่งซื้อจะลดต่ำลงและสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงค่ำ 21.00 – 22.00 น.
5. โอนเงินค่าสินค้าผ่านทางธนาคารและเคาน์เตอร์เซอร์วิสเป็นที่นิยมที่สุดในประเทศไทย
ช่องทางการชำระค่าสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในประเทศไทยได้แก่บัตรเครดิตและโอนเงินผ่านธนาคาร โดย 90% ของร้านค้า e-Commerce ในประเทศไทยให้บริการชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตและ 81% มีช่องทางการชำระค่าสินค้าผ่านธนาคาร
อีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยคือเคาน์เตอร์เซอร์วิสในประเทศไทยที่มีมากกว่าในประเทศอื่นๆ โดยประเทศไทยมีบริการนี้ถึง 46% ซึ่งมากกว่าอีก 4 ประเทศยกเว้นเวียดนาม เนื่องจากคนไทยยังขาดความรู้และความเข้าใจในตลาด e-Commerce ความเชื่อใจในการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์จึงไม่ดีนัก ดังนั้นการจ่ายค่าสินค้าโดยมีคนกลางในระบบ จะช่วยเพิ่มความไว้วางใจในการซื้อสินค้าออนไลน์ได้มากขึ้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ State of eCommerce in Southeast Asia 2017