การดูแลหน้า Facebook Page สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการและเจ้าของแบรนด์นั้นหากใครที่ไม่ได้ลงมาดูแลด้วยตัวเองก็คงจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ มีอะไรอยากเขียนก็เขียน อยากบอกโปรโมชันหรือแคมเปญต่างๆ ก็แจ้งพอหมดเวลาช่วงนั้นก็หมดไป ปล่อยให้หน้านั้นร้าง เมื่อถึงเวลานั้นอีกทีก็กลับมาทำกันอีกรอบ
ซึ่งที่จริงแล้วนั้นการที่จะดูแลหน้า Page ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ึคิด แต่ก็ไม่ได้ยากหากจะเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง บทความแปลนี้เลยจะนำเสนอสิ่งที่ผู้ที่ดูแลหน้า Page รวมไปถึงผู้ที่มีความคิดจะเข้ามาดูแลว่ามีอะไรบ้างที่น่าจะคิดถึง ระลึกถึงอยู่เสมอเมื่อจะเขียนข้อความและดูแลจัดการข้อความนะครับ
เวลาที่เหมาะสมในการโพสต์ข้อความ
ช่วงเวลาที่คนเดินทางไปที่ทำงานช่วงเช้า ถือเป็นช่วงที่คนที่หยิบเอาโทรศัพท์ขึ้นมาอ่านหรือมาเชคข่าวสารต่างๆ ผ่านเครื่องมือที่เขามา ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่ประจำในรถไฟฟ้า หรือแม้แต่เวลารถติด จากจุดนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการที่ผู้ดูแลจะนำเสนอหรือบอกเล่าข่าวสารของแบรนด์ให้กับกลุ่มลูกค้าที่ติดตามแบรนด์ของเราได้
มีผลการศึกษาผลว่า หากเขียนข้อความไปในช่วงเวลา 9 โมงเช้า จะสามารถดึงคนให้เข้ามาดูได้มากที่สุด และวันที่มีคนเข้ามาดูและใช้งาน Facebook มากที่สุดได้แก่วันอังคาร, วันพุธ และเสาร์-อาทิตย์ ดังนั้นให้เอาข้อมูลตรงนี้ไปช่วยในการคิดและพิจารณาที่จะเลือกข้อมูลเพื่อมาเขียนและแชร์บน Facebook ครับ
สำหรับในไทยแล้ว ช่วงเวลาที่เหมาะสมนั้นก็คงไม่ต่างกัน ก็คือช่วงก่อนเข้างาน, หลังเลิกงานและก่อนนอนครับ
นอกจากวันและเวลาที่เป็นข้อมูล อย่าลืมว่า เราต้องดูกลุ่มคนที่เราต้องการสื่อสาร รวมทั้งความถี่ในการโพสต์ข้อความด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วข้อความของคุณก็อาจจะสูญเปล่าหรือไม่ต้องกับกลุ่มที่ต้องการได้
ข้อมูลที่จะดึงดูดผู้ติดตามให้อยู่กับเราไปเรื่อยๆ
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ผู้ที่สนใจและอยากติดตามแบรนด์นั้นๆ คงไม่อยากจะรับรู้สิ่งที่เขาไม่สนใจหรือการขายตัวแบรนด์เองมากจนเกินไป ดังนั้นการเลือกข้อมูลหรือข้อความที่จะสร้างให้ผู้ที่เข้ามาอ่านนั้นได้อ่านและติดตามเราไปเรื่อยๆ นั้น
- ยึดสิ่งที่เราจะนำเสนอเกี่ยวกับแบรนด์ว่าอยากจะเสนออะไร
- ดูเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ ที่สามารถเชื่อมโยงกับแบรนด์และสินค้าได้
- ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับแบรนด์ก็ได้
- ข้อความหรือภาพที่ชวนขำ
ผมไล่เรียงลำดับความสำคัญ โดยอย่างแรกคือสิ่งที่ควรนึกถึงทุกครั้งเมื่อเวลาที่เราต้องทำเกี่ยวกับสินค้า เช่น เปิดตัวสินค้าใหม่, โปรโมชันใหม่ๆ หลังจากหมดช่วงก็เป็นตามลำดับด้านล่าง เพื่อไม่ให้หน้า Page นั้นนิ่งเกินไปครับ ส่วนอันสุดท้ายให้มีบ้างตามความเหมาะสมครับ
รูปภาพ (และการให้เครดิต)
ภาพเดียวแทนคำพูดได้ร้อยพัน วลีนี้ยังใช้ได้อยู่เสมอ
การหยิบเอาคำพูดที่ต้องพิมพ์ยาวๆ มาเรียบเรียงให้อยู่ในรูปภาพนั้นย่อมดึงดูดให้คนอ่านและสนใจมากกว่าการไล่อ่านทุกคำทุกข้อความ หรือถ้าจะให้ดีก็ใช้รูปภาพนั้นๆ แทนสิ่งที่เราต้องการจะบอกไปเลย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสินค้า, ข้อมูลโปรโมชัน การใช้ภาพจะช่วยให้คนจดจำแบรนด์หรือสินค้าได้ง่ายขึ้นครับ
อีกสิ่งที่อยากบอกก็คือการให้เครดิต หากว่ามีการใช้รูปจากเว็บไซต์อื่นๆ หรือข้อมูลจากเว็บอื่นๆ อย่าลืมที่จะบอกที่มาด้วยนะครับ ถือว่าเป็นการให้เครดิตกับเจ้าของที่คิดออกมาก่อนด้วยครับ
และสุดท้ายหลีกเลี่ยงการนำรูปที่ไม่สมควรมาแชร์เพื่อเรียก Like หรือเรียกความสนใจอย่างที่หลายๆ แบรนด์ทำนะครับ
ฉลาดในการเลือกรูป Cover
พื้นที่ด้านบนของหน้า Facebook Page เป็นพื้นที่เปิดเพื่อเอาไว้ใส่รูปที่เราต้องการ สำหรับแบรนด์แล้ว ที่นี่ก็เปรียบเสมือนแผงที่จะไว้นำเสนอสินค้า
การเลือกรูปกลายเป็นสิ่งที่สำคัญขึ้นมาทันที พื้นที่ตรงนี้สามารถที่จะนำเสนอธุรกิจของตนว่าทำอะไรอยู่ รวมทั้งสามารถบอกได้ถึงโปรโมชันและข่าวสารต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ได้อย่างง่ายดายในรูปภาพนี้เลย และในรูปนั้นก็สามารถที่จะใส่ข้อความเพื่อบอกข้อมูลหรือเป็นการเชิญชวนได้่
แต่ Facebook เองก็มีกติกาสำหรับการใส่ข้อความในรูปภาพ Cover โดยที่จะต้องมีปริมาณข้อความไม่เกิน 20% ของรูปภาพทั้งหมด ตรงนี้อยากให้ระวังกันไว้ด้วยครับ
สำหรับขนาดของรูปที่ใช้งานบน Facebook สามารถอ่านบทความ รวมขนาดของรูปที่ต้องใช้บน Facebook Page สำหรับ Timeline ได้เลยครับ
ซักถามความเห็นและตอบคำถามอยู่เสมอ
ผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่มักจะชอบให้ความคิดเห็นที่เกี่ยวกับแบรนด์และผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ ดังนั้นแล้วการใช้ Facebook Page เป็นที่ที่จะได้รับข้อมูลในส่วนนี้ถือเป็นข้อที่ดีมากๆ ของ Facebook เพราะนอกจากจะไม่มีค่าใช้จ่ายแล้ว ยังได้กลุ่มคนที่ตรงกลุ่มและสนใจสินค้าหรือแบรนด์ของเราจริงๆ
นอกจากนั้น เครื่องมือที่ Facebook มีให้อยากการทำโพลหรือแบบสำรวจเป็นสิ่งที่เจ๋งมากๆ ที่จะช่วยให้เราซักถามกลุ่มลูกค้าได้ก่อนที่จะมีการเปิดตัวสินค้า หรือแม้แต่สามารถรับข้อคิดเห็นหลังจากที่สินค้าตัวนั้นวางขายแล้วว่า คนที่เคยได้ใช้รู้สึกอย่างไรที่ได้ใช้ไป
และอีกอย่างที่หลายๆ แบรนด์เพิกเฉยกับสิ่งที่เป็นประโยชน์มากๆ ก็คือ การได้รับคำถามจากลูกค้าโดยที่ไม่มีการตอบข้อสงสัย ซึ่งตรงนี้ Facebook ก็คือเป็นเครื่องมือในการทำ CRM ที่จะช่วยอุดรอยรั่วหรือแก้ไขปัญหาเบื้องต้นให้กับลูกค้าได้ จุดนี้ต้องยอมรับว่าหลายๆ แบรนด์พลาดจริงๆ และแบรนด์ใหญ่ๆ ก็มีพลาดจุดนี้ให้เห็นอยู่เสมอ
5 ข้อที่บอกไปข้างต้นเป็นแค่สิ่งที่จะช่วยเตือนให้ผู้ที่สวมบทบาทเป็นผู้ดูแล Facebook Page ต้องทำและระลึกอยู่อย่างเสมอ ซึ่งจริงๆ แล้ววิธีการในการดูแลจัดการของแต่ละคนนั้นต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วปลายทางในการดูแล Facebook Page นั้นก็เหมือนๆ กัน นั่นก็คือ การสื่อความออกไปให้คนที่เข้ามาอ่านได้รับรู้แบรนด์และรู้จักแบรนด์ รวมทั้งการทำให้คนที่เข้ามาอ่านได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งนั่นก็คือคนที่ติดตามอ่านทั้งในปัจจุบันและอนาคตนั่นเองครับ
ดัดแปลงจากบทความ business2community