การเริ่มต้นธุรกิจไม่ใช่งานง่าย ไม่อย่างนั้นทุกคนก็คงจะประสบความสำเร็จกันหมด นอกจากการมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว ก็ยังต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ (พูดเหมือนจะไปวิ่งมาราธอนเลยนะ แต่ก็คงคล้ายๆ กันนั่นแหละ) นี่คือสิ่งสำคัญ 5 อย่างที่คุณควรจะเช็คดีๆ ว่าตัวเองมีครบหรือยังก่อนจะก้าวเข้าสู่โลกของสตาร์ทอัป
1. งบประมาณส่วนตัวที่ใช้ได้จริง
การเริ่มทำสตาร์ทอัป คุณต้องจ่ายเงินให้คนอื่นก่อนที่จะจ่ายให้ตัวเอง ถ้าธุรกิจไม่มีเงินมาหล่อเลี้ยงในช่วงเริ่มต้น ซึ่งเป็นช่วงที่ยังทำรายได้ไม่มากนัก (โดยทั่วไปแล้วก็จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี กว่าจะอยู่ตัว) ก็มีโอกาสที่ธุรกิจจะพังได้ง่ายมาก เพราะสตาร์ทอัปเล็กๆ ไม่มีเงินถุงเงินถังเหมือนธุรกิจเชนใหญ่ๆ ที่พูดกันถึงเงินหลักหลายล้าน
นั่นแปลว่าคุณจะต้องลดการใช้จ่ายส่วนตัวลงไปให้อยู่ในจำนวนที่น้อยที่สุดที่ทำให้ดำรงชีพอยู่ได้ เช่น จ่ายหนี้ให้หมด ใช้รถสาธารณะ เป็นต้น เรียกว่าทำยังไงก็ได้ให้มีค่าใช้จ่ายส่วนตัวน้อยที่สุด หรือใช้เฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
2. เงินในบัญชีธนาคาร
จำนวนเงินที่นอนนิ่งๆ ในบัญชีธนาคารควรจะมีพอให้นำมาใช้จ่ายในช่วงคับขันได้สัก 6 เดือนเป็นอย่างน้อย สำหรับคนที่ได้รับการสนับสนุนเรื่องเงินหรือมีงานประจำทำควบคู่ไปด้วยก็อาจจะไม่ต้องกังวลเรื่องนี้มากนัก
3. แผนการตลาด
สตาร์ทอัปหลายๆ แห่งเริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทั้งที่ยังคิดไม่ออกว่าคนกลุ่มไหนบ้างที่จะมาเป็นลูกค้า หรือมีใครบ้างที่ต้องการผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ซึ่งมันทำให้ธุรกิจตกอยู่ในความเสี่ยง
ดังนั้น อย่าลืมเตรียมงบไว้สำหรับทำการตลาด ในระยะแรกมันอาจจะไม่ต้องเป็นเงินก้อนใหญ่มากนักก็ได้ แต่มันต้องไม่ใช่ศูนย์ ถ้าอยากให้ธุรกิจเป็นที่สนใจของกลุ่มเป้าหมาย
4. กลยุทธ์การขาย
ทันทีที่ผู้คนรู้จักธุรกิจของคุณ หรือเริ่มสนใจอยากเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ คุณต้องมีกลยุทธ์ที่ว่าด้วยเรื่องวิธีปิดการขาย รวมไปถึงสร้างระบบที่รองรับการขาย เช่น วิธีแนะนำผลิตภัณฑ์ สัญญาซื้อขาย ข้อเสนอการขาย และอะไรก็ตามที่จะช่วยส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้ไปอยู่ในมือของคนที่ยินดีจ่ายเพื่อมัน
เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะเคยเห็นโฆษณาสินค้าหรืออาจจะเคยได้ยินคนรอบตัวพูดถึงสินค้าบางอย่างที่เร้าความสนใจของเรา แต่เมื่อลองไปค้นข้อมูลดูแล้วพบว่าหาซื้อไม่ได้ง่ายๆ แบบนี้ก็ถือว่าเสียโอกาสทางการตลาดไปแบบเต็มๆ
5. ความอึด
คุณจะต้องทำงานหนักมากเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ไม่มีคำว่าเสาร์อาทิตย์ และคุณคงจะไม่ตื่นเต้นกับ Friday night เหมือนมนุษย์เงินเดือนทั่วไป เพราะทั้ง 7 วันคือวันทำงาน ดังนั้น ถ้าคุณยังต้องรับมือกับปัญหาอื่นๆ (เช่น ครอบครัว) หรือยังไม่พร้อมที่จะโหมงานหนัก ก็อย่าเพิ่งเริ่มมันเลยดีกว่า
แน่นอนว่าการเริ่มทำธุรกิจต้องทำให้คุณไม่ค่อยว่าง เพราะต้องวุ่นวายกับการขยายธุรกิจ และการตลาด คุณจะต้องอุทิศตนและเสียสละ เช่น ทำงานรวดเดียว 12 ชั่วโมงต่อวัน หรือการนั่งซดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูประหว่างนั่งทำงานไปด้วยทุกวัน อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ มันก็มีโอกาสที่ธุรกิจจะทำรายได้สูงขึ้น ความพยายามที่ทุ่มเทลงไปตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจะให้ผลตอบแทนที่มีคุณค่าอย่างแน่นอน
ที่มา : Inc