อาจจะดูซ้ำๆ ซากๆ สักนิดที่จะเขียนเรื่องของ Influencer Marketing แต่สิ่งที่ thumbsupers ถามต่อๆ กันมาจนแทบจะทำเป็น FAQ แล้วก็คือ แล้วจะเริ่มต้นค้นหาผู้ทรงอิทธิพลที่ว่าได้อย่างไร? มีเครื่องมืออะไรไหม? วันนี้ผมเลยสรุปรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ผมเคยทำให้อ่านกัน ถ้าคุณมีเกร็ดอื่นๆ ที่เวิร์คก็มาแชร์กันได้ครับ
1. เปิดสารบาญเว็บไทย truehits เพื่อค้นหา Influencer ในเว็บบอร์ด – truehits ยังคงเป็นแหล่งรวมสถิติเว็บไทยที่น่าเชื่อถือที่สุดแห่งหนึ่ง และมีการแบ่งหมวดหมู่ความสนใจไว้อย่างละเอียดเช่นที่เคยเป็นมา ผมชอบที่จะเข้าไปดูสารบาญเว็บไทย ที่แบ่งไว้ 20 หมวดหลัก และมียิบย่อยอีกเพียบ รวมแล้วเกือบๆ หมื่นเว็บไซต์ แถมยังมีการบอกสถิติเชิงปริมาณให้อีกด้วย หรือไม่ก็เข้าไปที่จัดอันดับ Blog ของประเทศไทย ที่รวบรวมมาจาก Blog provider ดังๆ เช่น Bloggang, Exteen, OKNation
บางคนอาจจะบอกว่า truehits นั้นเป็นการจับสถิติจากสมาชิกเท่านั้น ใครไม่ได้เป็นสมาชิกก็จะไม่ได้จับสถิติ ไปพวก Alexa ก็ได้ แต่ผมว่า Alexa บางทีก็ดูมั่วๆ เพราะหลักการของ Alexa ก็ยังขึ้นกับพวก Alexa toolbar บางคนก็เลยเล่นเกมกับมันเสียเลย ซึ่งอันนี้ไม่ควรทำนะครับ
เมื่อเราเห็นเว็บไซต์ที่น่าสนใจแล้ว ให้ตรงเข้าไปที่เว็บนั้นๆ และมองในส่วนที่เป็นชุมชนของเขา เช่นบริเวณเว็บบอร์ด หรือบริเวณความคิดเห็นของสมาชิกที่อยู่ใต้บทความ แล้วคอยดูว่ามีคนเข้ามาพูดคุยโต้ตอบปฎิสัมพันธ์กันบ่อยแค่ไหนอย่างไร เวลาคุณมองเข้าไปในเว็บบอร์ด ให้มองหา Moderator หรือคนคุมบอร์ดก่อน ถ้าเว็บบอร์ดนั้นๆ ไม่มีคนคุมบอร์ด ให้คุณมองหาสมาชิกที่ค่อนข้างได้รับการยอมรับจากสมาชิกในที่นั้นๆ ก่อน แล้วทยอยศึกษาโปรไฟล์ทีละนิดๆ จนได้ตัวคนที่เราต้องการแล้วจัดเก็บไว้ในไฟล์ของคนที่เราต้องการพูดคุยด้วย
2. ค้นหาจาก Social Monitoring Tool – บริการพวกนี้มีทั้งฟรีและไม่ฟรี ผมเคยแนะนำเอาไว้บ้างแล้ว แนะนำให้ใช้ของไทย เพราะของเมืองนอกอ่านภาษาไทยไม่เข้าใจ (ระยะหลังภาครัฐเองก็ยังสนับสนุนบริการของคนไทยกลุ่มนี้ด้วยการสร้างเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานร่วมกับ Social Monitoring เหล่านี้ด้วย) ผมลองใช้ของเมืองนอกแล้วไม่ค่อยเวิร์คกับเนื้อหาภาษาไทยด้วยครับ จากนั้นทำเหมือนเดิมทยอยศึกษาโปรไฟล์ทีละนิดๆ จนได้ตัวคนที่เราต้องการแล้วจัดเก็บไว้ในไฟล์ของคนที่เราต้องการพูดคุยด้วย
3. ใช้ FollowerWonk ค้นหา – FollowerWonk เป็นเครื่องมือค้นหา Influencer ที่ทำงานอยู่บน Twitter ซึ่งเป็นแหล่งรวมของ Online Influencer ผมเคยเขียนวิธีการใช้ไปแล้ว แต่หลักๆ ก็คือการเสิร์ชด้วยคำที่เราต้องการค้นหา เช่น เราต้องการคนที่เป็น Blogger ท่องเที่ยว ก็ลองค้นหา “ท่องเที่ยว” ก็จะได้คนที่ใส่คำว่า “ท่องเที่ยว” เอาไว้ในโปรไฟล์ขึ้นมา แต่พวกนี้ก็จะมีข้อเสียตรงที่ไปจับแต่ Twitter แต่อย่างน้อย Twitter ก็เป็นแหล่งรวมคนที่มีอิทธิพลออนไลน์พอสมควร จากนั้นก็คอยดูว่าคนที่มีโปรไฟล์เหล่านี้มี Social authority เท่าไหร่
4.ค้นหาจากเว็บรวบรวมสถิติ Social Media ZocialRank และ SocialBakers และ Klout ซึ่งทั้ง 2 เว็บจะมีการรวบรวมสถิติผู้ติดตามของแต่ละแพลตฟอร์มไว้ค่อนข้างครบ เช่น Facebook Fans, Twitter Followers, Instagram Followers ฯลฯ พวกนี้จะมีการเรียงลำดับเชิงปริมาณเอาไว้ ผมชอบใช้ตัวเลขพวกนี้ไปอ้างอิงอยู่เป็นประจำ
5. เสิร์ชมันถึกๆ นี่แหละ – อีกวิธีคือการค้นหาจาก Google, Facebook, Twitter นี่แหละครับ
ท้ายสุดอยากจะขายของสักนิดว่า 5 วิธีข้างบนนี้เป็นวิธีง่ายๆ แต่สิ่งที่สำคัญคือคุณต้องทำการบ้านสักหน่อยว่าคนออนไลน์ค้นหาคำว่าอะไรแล้วมาเจอคุณ ลองค้นใน Keyword Planner ของ Google ก็ได้ จากนั้นค่อยมาคัดกรองคุณภาพกันอีกที ซึ่งจะมีกระบวนการอีกเยอะเลย ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีแชร์อยู่ในคอร์ส Social Media & Online PR วันที่ 12-13 มิถุนายนนี้ ของ Sharpener ที่ได้รับลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องจาก Econsultancy ชุมชนนักการตลาดดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลกครับ