ไม่ว่าคุณจะอยู่ในธุรกิจอะไร ก็หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมฟังสัมมนา การประชุม หรืองานแสดงสินค้าไปไม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ยิ่งมีการเจริญเติบโตมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งมีหัวข้อสัมมนาให้เข้าร่วมมากขึ้นเท่านั้น และอาจจะมากกว่าจำนวนวันในปฏิทินซะอีก
การประชุมสัมมนาส่วนมากอาจจะไม่คุ้มค่ากับเงินและเวลาที่เราลงทุนไปเลยแม้แต่น้อย เป็นต้นว่า มีความเป็นกลุ่มเฉพาะมากเกินไป ราคาสูง เป็นหัวข้อซ้ำ ๆ เน้นอวยสปอนเซอร์ หรือเป็นแค่งานสัมมนาบังหน้าเพื่อปาร์ตี้สังสรรค์เท่านั้นเอง
อันที่จริงผู้เขียนบทความนี้ก็ไม่ได้รังเกียจงานปาร์ตี้ เพียงแต่ก่อนที่คุณจะจ่ายเงินเป็นพันเหรียญและยอมอุทิศเวลาอันมีค่าไปกับงานประชุมสัมมนาสักงานหนึ่ง นี่คือ 5 เคล็ดลับในการเข้าร่วมสัมมนาที่คุ้มค่า โดยไม่ต้องไปยังสถานที่นั้นจริง ๆ หรืออย่างน้อยก็สามารถตรวจสอบคุณภาพของงานนั้นได้ด้วยตัวเองก่อน
1. ของฟรีที่ตอบโจทย์
คุณค่าที่แท้จริงของการเข้าร่วมประชุมสัมมนานั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณไปพบใคร พฤติกรรมทั่ว ๆ ไปอย่างการสนทนาขณะจิบกาแฟตอนเช้า หรือดื่มด้วยกันในตอนเย็นกับกลุ่มคนใหม่ ๆ อาจจะไม่มีประโยชน์มากเท่ากับการทำความรู้จักกับผู้คนในงานสัมมนา ซึ่งอาจจะกลายมาเป็นผู้ให้คำชี้แนะ ลูกค้า หรือคู่ค้าในอนาคต เราสามารถพบปะผู้คนใหม่ ๆ เหล่านี้ได้ในการประชุมออนไลน์ เช่นเว็บไซต์ MeetUp ซึ่งการประชุมในลักษณะนี้จะมีความกดดันที่น้อยกว่า และที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่าย ช่วยให้เปิดบทสนทนาได้ง่ายขึ้น
2. หัวข้อที่คุณสนใจไม่ได้หายากขนาดนั้น
หัวข้อบรรยายที่ถูกนำเสนอในงานสัมมนามักไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้บรรยายอาจจะเคยพูดเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง แน่นอนว่าผลงานและพรีเซนเทชั่นของเขาอาจจะอยู่ในเว็บใดเว็บหนึ่ง ลองเข้าไปเช็คผลงานเก่า ๆ ดูใน YouTube, TED Talks และ Slideshare ถ้าหากผู้บรรยายคนนั้นมี Blog เป็นของตัวเอง และในนั้นก็มีรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับผลงานของเขาก็ถือเป็นโชคดีของคุณ เพราะมันอาจจะให้ข้อมูลปลีกย่อยได้มากกว่าการบรรยายในห้องบอลรูมให้คนจำนวนมากฟังก็ได้
3. ดูให้แน่ใจว่าไม่ใช่งาน Tie-in
แน่นอนว่าการประชุมสัมมนาย่อมต้องการสปอนเซอร์ ดังจะเห็นได้ว่างานสัมมนาหลาย ๆ งานเลือกที่จะให้น้ำหนักกับสปอนเซอร์มากกว่าเนื้อหาที่คุณคาดหวัง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีงานเสวนาเป็นจำนวนมากที่โฟกัสเฉพาะการนำเสนอมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญและข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคนฟัง การพิจารณาสักเล็กน้อยก่อนจะลงทะเบียนเข้าร่วมงานว่า “ใคร” คือผู้บรรยายของงานนี้ และ “ใคร” ที่เป็นสปอนเซอร์ ก็อาจทำให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้น
4.ถามคนที่เคยไปมาแล้ว
เพราะงานประชุมเสวนาส่วนมากจะถูกจัดขึ้นเป็นประจำ การหาผู้ที่เคยเข้าร่วมก็คงไม่ใช่เรื่องยากนัก โดยคุณอาจจะถามเพื่อนร่วมงานใกล้ ๆ ตัวก็ได้ รวมทั้งลองใช้ Social media ให้เป็นประโยชน์ด้วยการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมสัมมนาที่คุณสนใจผ่านทาง Twitter และ Linkedin ก็อาจจะช่วยให้คุณประหยัดทั้งเงินและเวลาได้เช่นกัน
5. ดูให้ดี ปาร์ตี้หรือสัมมนา
งานสัมมนาใหญ่ ๆ อาจจะไม่ใช่งานสัมมนาจริง ๆ แต่เป็นอีเวนต์ที่เน้นการปาร์ตี้สังสรรค์เพื่อแลกนามบัตรกันมากกว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้หรือการบรรยาย แต่อันที่จริงมันก็เป็นตัวเลือกที่ไม่ได้แย่นักหากคุณไม่ต้องรัดเข็มขัดประหยัดงบ เพราะบางครั้งโอกาสดี ๆ อาจจะไม่ได้อยู่ในลักษณะของการแลกเปลี่ยนความรู้ที่จริงจังเสมอไป แต่ก็ขอเตือนไว้ก่อนว่างานดี ๆจะเปิดให้เข้าร่วมเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น อย่าเพิ่งกระโดดขึ้นเครื่องบินข้ามน้ำข้ามทะเลแล้วคาดหวังว่าจะตรงดิ่งเข้าไปกินดื่มได้เลยโดยยังไม่ได้ลงทะเบียน เพราะมันอาจจะไม่คุ้มค่าถึงแม้จะเป็นการลงทุนเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เถอะ
ที่มา : Entrepreneur