“นายจ้างในฝัน” คำ ๆ นี้ไม่ได้ได้มาง่าย ๆ ยิ่งเป็นธุรกิจดิจิทัลด้วยแล้ว ยิ่งทำให้หลายคนนึกถึงภาพของออฟฟิศที่มีแต่วิศวกรซอฟต์แวร์นั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันทั้งคืนด้วยซ้ำ แต่ถึงวันนี้ ภาพของนายจ้างในธุรกิจดิจิทัลได้กลายเป็นภาพที่คุ้นเคยกับคนไทยมากขึ้น และผลจากความคุ้นเคยนั้นได้ทำให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า สามารถจัดอันดับธุรกิจดิจิทัลที่คนไทยอยากทำงานด้วยได้สำเร็จในที่สุด
โดยการจัดอันดับของนิด้าได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 376 คน เป็นเพศชาย 57.71% เป็นเพศหญิง 42.29% ครอบคลุมทั้งกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา และพนักงานสายไอที-เทคโนโลยี โดยคำถามหลัก คือ ให้กลุ่มตัวอย่างบรรยายลักษณะที่ทำงาน “ในฝัน” และระบุชื่อองค์กรด้านเทคโนโลยีที่อยากทำงานด้วย โดยบริษัทนั้นๆ ต้องมีทีมวิศวกรพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอยู่ในไทยด้วย
ผลสำรวจเผยว่า LINE ประเทศไทย ได้รับการโหวตเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนนนิยม 65.69% ตามมาด้วย Kaidee ที่ 50.8%, Pantip 45.74%, Wongnai 38.83% และ Tencent (Thailand) ชื่อเดิม Sanook! ที่ 37.23% โดยทั้ง 5 บริษัทถือเป็นนายจ้างยอดนิยมจากบรรดาธุรกิจดิจิตอลที่อยู่ในการสำรวจจำนวน 17 แห่งเลยทีเดียว
การสำรวจครั้งนี้ยังเปิดเผยด้วยว่าพนักงานอยากทำงานในองค์กรที่มีคุณสมบัติน่าสนใจ อาทิ มุมทำงานสงบๆ พร้อมโซฟาที่นั่งสบายๆ โซนบาร์สำหรับนั่งพักผ่อน และโซนบันเทิงให้เล่นผ่อนคลายกับเพื่อนร่วมงาน ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าบรรยากาศในที่ทำงานมีผลต่อการดึงดูดและรักษาบุคลากรคุณภาพของบริษัทด้านเทคโนโลยี
“สำหรับคนที่อยากหางานที่รักหรือร่วมงานกับบริษัทในฝัน องค์กรเหล่านี้คือตัวเลือกที่โดดเด่นที่สุดเพราะมีสภาพแวดล้อมการทำงานตลอดจนวัฒนธรรมองค์กรที่น่าสนใจดีเลิศ” ศาสตราจารย์ ดร. กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวเสริม
อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ที่ธุรกิจดิจิทัลกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ การรับฟังมุมมองจากผู้บริหารของทั้ง 5 บริษัทว่าพนักงานแบบไหนกันที่พวกเขาอยากร่วมงานด้วยมากที่สุด ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ
โดยคุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีจากเว็บไซต์ Pantip.com เผยว่า มองหาคนจาก Passion ในการทำงาน โดยเขายกตัวอย่างของ Pantip ที่เมื่อกว่า 10 ปีก่อน เคยรับพนักงานที่อาจไม่มีวุฒิสายตรงทางด้านเทคโนโลยี แต่มี Passion ในการทำงานเต็มเปี่ยม ซึ่งปัจจุบันพนักงานเหล่านี้ได้กลายเป็นแม่ทัพหลักของ Pantip ไปแล้วเรียบร้อย
ขณะที่คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทยเผยว่า LINE นั้นไม่ได้หาคนมารันบิสซิเนท แต่มองหาคนที่ทำได้ทั้งรันและบิวท์บิสซิเนทในคราวเดียวกัน พร้อมยกตัวอย่างตำแหน่งงานใหม่ที่ LINE เปิดรับสมัครอย่าง Head of Sticker ซึ่งคุณอริยะบอกว่า เป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และยังเป็นการสะท้อนถึงตัวตนของ LINE ว่า เราอยู่ในธุรกิจที่สร้างงาน สร้างโปรดักซ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น คนทำงานจึงต้องเป็นคนที่เสนอได้ ไม่ใช่คนที่จะมาถามผู้บริหารว่าผู้บริหารจะทำอย่างไร หรือมารอการตัดสินใจจากผู้บริหารทุกๆ เรื่องดังเช่นในอดีต
นอกจากนั้น LINE ยังได้มีการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งจาก Product Manager มาเป็น Product Owner ด้วย เพื่อให้คนที่มาทำงานรู้สึกเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ อย่างเต็มตัว
ส่วนของคุณทิวา ยอร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Kaidee กล่าวว่า มุมมองในการรับคนเข้าทำงานของเขาคือต้องเป็นคนที่กล้าเสี่ยง ล้มได้ แต่ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น ๆ ด้วย เพราะเป้าหมายของเขานั้นคือการสร้างคนไทยให้ไปสู่ระดับโลกนั่นเอง
ด้านคุณกฤติธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า บรรยากาศในการทำงานของบริษัทเทคโนโลยีก็สำคัญ เราทำงานที่ไหนก็ได้ ดังนั้นคนทำงานจึงไม่ชอบการตอกบัตร และการจะทำธุรกิจดิจิทัล ต้องเริ่มจากการสร้างทีมงาน ไม่ใช่บรรยากาศที่จะเร่งปั่นงานจากพวกเขาอย่างเดียว ต้องสร้างบรรยากาศให้คนทำงานมีไอเดียด้วย
และสุดท้ายกับคุณยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Wongnai กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าที่หลายคนอยากมาทำงานกับ Wongnai เพราะเป็นผู้ใช้งานของเราเป็นประจำอยู่แล้ว และผลงานของเราก็สะท้อนตัวตนของพนักงาน Wongnai ได้ดีว่าเราคือกลุ่มคนที่สนุกกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเนื้อหาและบริการที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทย”
หมายเหตุ: การจัดทำสำรวจครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนที่ บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559