Site icon Thumbsup

5 วิธีพัฒนา Empathy สำหรับผู้นำ เพื่อให้เป็น ‘หัวหน้าที่มีหัวใจ’

Empathy คือ ความเห็นอกเห็นใจ เป็นคำสั้นๆ ที่มีความหมายหลายอย่าง เพราะจับต้องได้ผ่านการแสดงออก ซึ่งบางครั้งเพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกล ก็ทำให้เราลืมเข้าใจคนที่ทำงานร่วมกัน แต่หากเป็นหัวหน้าก็ต้องใส่ใจเรื่องนี้ เพราะจริงๆ แล้ว Empathy คือ Soft Skill ที่มีผลอย่างมากต่อการทำงาน และเราคงไม่อยากถูกเรียกว่าเป็นหัวหน้าที่ ‘ไม่มีหัวใจ’ ที่ลูกน้องทยอยพากันลาออกไปหมด

การฝึกทักษะการใส่ใจผู้อื่น มีคือดีคือช่วยในการสร้างทีม เพราะจะทำให้ลูกน้องในทีมของเรากล้าเข้าหา และขอคำแนะนำเพื่อพัฒนาตัวเอง หรือทำให้ทีมของคุณแข็งแกร่งขึ้น และทำงานได้ดีขึ้นนั่นเอง

1. ฟังอย่างตั้งใจ เพื่อค้นหาสิ่งที่ไม่ได้พูด

เวลาลูกทีมมาคุยกับคุณ ให้พยายามฟังสิ่งที่ไม่ได้พูด หรือฟังประโยคนี้ว่าเขาต้องการที่จะสื่ออะไร เช่น ถ้าพนักงานขายมือทองทำ KPI ยอดขายตกแบบน่าแปลกใจ หรือ Content Creator มือฉมังเขียนงานผิดมากกว่า 10 จุด แล้วเดินมาขอโทษ ถ้าเราไม่ถามต่อก็จะได้ยินแค่ว่าเขาทำงานพลาด แล้วมาขอโอกาสใหม่

แต่ถ้าถามเรื่อยๆ ลงไปให้ลึกอาจพบสาเหตุที่แท้จริง เช่น เลิกกับแฟน คนสนิทเสีย หรือมีปัญหาทางบ้าน โดยคำพูดที่แสดงออกมาตื้นๆ อาจจะเป็นพี่ครับ ผมขอโอกาสแก้ตัวใหม่อีกรอบแต่สิ่งที่ไม่ได้พูดออกมาคือพี่ครับ ผมขอเวลาไปพักใจแล้วกลับมาเริ่มใหม่ เพราะตอนนี้สภาพจิตใจยังไม่พร้อมจะทำงานจริงๆ

เพราะจริงๆ แล้วเรื่องงานกับชีวิตส่วนตัวนั้นค่อนข้างมีความสัมพันกัน ถึงบางคนจะเถียงว่าให้พยายามแยกงานกับชีวิตส่วนตัวออกให้ได้ แต่ลองคิดว่าถ้าสมมติว่าเราเพิ่งถูกหักอกมาหมาดๆ ก็ย่อมต้องส่งผลกับขวัญกำลังใจ และทำให้ประสิทธิภาพงานตกลงไปอย่างน่าประหลาดใจ เมื่อเทียบกับการทำงานปกติที่ผ่านมา

2. ให้คำตอบ & ทางเลือก ที่มีความเห็นใจ

จากข้อด้านบน สิ่งที่หัวหน้าทีมต้องทำคือพูดกลับไปว่าเดี๋ยวเราให้ไปพัก แล้วหาคนมาดูแลส่วนนี้ต่อ อยากได้เวลากี่วัน หรืออยากให้เราช่วยอะไรบ้าง ไปทะเลสักอาทิตย์ไหมเดี๋ยวจองโรงแรมที่ชอบให้

แค่นี้เราก็ได้ใจลูกทีมไปจากการฟังให้ถูกจุด และตอบสนองด้วยความเข้าใจของเรา รับรองว่าคุณจะได้ใจลูกทีมไปอย่างแน่นอน

3. ซื้อของมาฝากบ้าง

การซื้อของติดมือมาฝากทีมเมื่อไปไหนมาไหน ก็จะทำให้คุณดูเป็นคนที่นึกถึงทีมงาน ซึ่งสามารถทำได้บ่อยๆ เพราะการแสดงความใส่ใจ เพียงแค่นี้ทีมงานของคุณก็รู้สึกดีแล้ว ไม่ว่าจะออกไปทำงานนอกสถานที่แล้วซื้อมาฝากก็ได้ โดยอยากแนะนำว่าให้เป็นอาหารทานเล่น เพราะช่วยสร้างบรรยากาศยิ้มแย้มแจ่มใสในที่ทำงานได้ดี และทำให้ทีมงานได้พูดคุยกันระหว่างทาน

4. จำวันสำคัญของเขาให้ได้

อาจฟังดูเหมือนไม่สำคัญ แต่เรามองว่าสำคัญอย่างมาก อย่าง ‘วันเกิด’ นั้นมีแค่เพียงปีละครั้งเท่านั้น และทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าหัวหน้าใส่ใจ ตัวเขาเองมีตัวตน ไม่ใช่แค่เครื่องจักรที่มานั่งทำงานแล้วตอนเย็นกลับบ้านเพียงอย่างเดียว

5. มองว่า ‘ความผิดพลาด’ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

‘เพราะมนุษย์ทุกคนไม่ได้สมบูรณ์แบบ’ อย่าลืมให้โอกาสลูกน้องล้มเหลวบ้าง อย่าตึงจนเกินไป เพราะหัวหน้าบางคนมีมาตรฐานในใจว่าห้ามพลาด พอรู้ตัวอีกทีก็นั่งทำงานอยู่คนเดียวแล้ว เพราะลูกน้องอยู่ไม่ไหว แต่ก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม (ไม่ส่งผลกระทบต่อผลกำไร หรือความมั่นคงของบริษัท) เพราะจริงๆ แล้วการล้มเหลว อาจจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในอนาคต

 

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางพัฒนา Soft Skill ที่เรียกว่า Empathy ที่น่าหยิบไปใช้เล็กๆ น้อยๆ ทุกวัน ที่เพื่อคุณจะได้เป็นทั้งหัวหน้าที่ ‘ทำงานเก่ง’ และ ‘นิสัยน่ารัก’ กันค่ะ 😀

Macbook โน๊ตบุ๊คที่ลงตัวทั้งพกพาและการทำงาน คลิกเลย