Site icon Thumbsup

5 วิสัยทัศน์ของ “New York Times” การปรับตัวอีกครั้งบนสังเวียนดิจิทัล

art-attachment-background-boat-40906

ถึงคราวที่สื่อยักษ์ใหญ่จากซีกโลกตะวันตกอย่าง New York Times จะปรับตัวกันอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ความน่าสนใจของ NY Times ก็คือการหันมาโฟกัสด้านการเติบโตของรายได้บนโลกดิจิทัลอย่างจริงจัง

แนวคิดดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านรายงาน Innovation Report 2017 ของทาง New York Times  ที่เน้นการปรับปรุงรูปแบบการทำงานของผู้สื่อข่าวให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่มากขึ้น เช่น แทนที่จะสื่อสารผ่านตัวหนังสือแบบในอดีต  ผู้สื่อข่าวอาจต้องถ่ายเป็นคลิป หรือมีลูกเล่นต่างๆ เพื่อให้การเสนอข่าวโดนใจคนรุ่นใหม่นั่นเอง

เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะ Times ตระหนักได้ว่า ข่าวของบริษัทที่มีการเผยแพร่กว่า 200 ชิ้นต่อวันนั้น ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีพอ แถมบทความบางชิ้นที่ดีมากๆ ก็ถูกเผยแพร่ไปทั่วบนโลกอินเทอร์เน็ตจนดูเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่า หรือไม่ใช่สิ่งที่ต้องรีบอ่านอีกต่อไป ในทางตรงกันข้าม หากข่าวเหล่านี้สามารถสร้างความสนใจจากผู้อ่านได้ สุดท้ายก็จะกลายเป็นเม็ดเงินรายได้หมุนกลับไปยัง Times อีกครั้ง

ประการที่สองที่ Times จะโฟกัสให้มากขึ้นก็คือ รวมถึงการสร้างรายได้จากการสมัครสมาชิกให้เติบโตมากขึ้นกว่านี้ สิ่งที่ Times ต้องทำก็คือ พยายามเจาะใจคนรุ่นใหม่ให้ได้ เพราะทุกวันนี้หากเอ่ยชื่อ Times ออกไป เด็กรุ่นใหม่อาจรู้สึกไม่คุ้นเคยแล้ว และเมื่อไม่คุ้นเคย โอกาสที่จะทำรายได้จากกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงน้อยตามไปด้วยนั่นเอง

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ Times เหินห่างจากกลุ่มคนรุ่นใหม่อาจเพราะที่ผ่านมา Times อาจมองว่าตนเองเป็น Paper of Record ซึ่งแนวคิดนั้นใช้จับใจคนรุ่นใหม่ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ Times จึงหันมาตั้งเป้าว่า ในปีนี้ Times จะทำให้รายได้จากการสมัครสมาชิกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือก็คือต้องไม่ต่ำกว่าเดิมที่ 500 ล้านเหรียญสหรัฐสหรัฐนั่นเอง และคู่แข่งที่ Times ต้องโฟกัสจะไม่ใช่แค่ Washington Post หรือ The Guardian อีกต่อไป เพราะในวันหน้า BuzzFeed ก็อาจกลายมาเป็นคู่แข่งของ Times บนสังเวียนดิจิทัลด้วย

ส่วนประเด็นที่รองลงมาก็คือเรื่องการมองหาดาวรุ่งดวงใหม่ที่มีเอกลักษณ์บนโลกดิจิทัล และการหาตัวชี้วัดใหม่สำหรับนักโฆษณานอกเหนือจาก Page View เพราะการมี Page View  แต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถการันตีความสำเร็จของข่าวหรือบทความชิ้นนั้น ๆ ได้อีกต่อไป รวมถึงไม่สามารถดึงดูดนักโฆษณาได้มากนักด้วย

ข้อสุดท้ายที่ Times มองว่าต้องปรับตัวก็คือการแยกระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่อดิจิทัล เนื่องจากทักษะที่จำเป็นสำหรับผลิตสื่อทั้งสองแบบนี้ “แตกต่างกัน” ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดี ที่ผ่านมา เรามักจะเห็นเทรนด์การควบรวมสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่อดิจิทัลเข้าด้วยกันมาตลอด แต่จริงๆ แล้ว สื่อทั้งสองอย่างนี้มีเสน่ห์ของการนำเสนอที่แตกต่างกัน และคนที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์ได้ดี ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมาทำสื่อดิจิทัลได้ดี การรู้จุดอ่อนจุดแข็งของพนักงานและนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์จึงน่าจะเป็นการดีกว่าสำหรับ New York Times ในยุคนี้นั่นเอง

ที่มา: DigiDay