หนึ่งในหลายคำถามกลางวงสนทนาของผมมักจะมีคำถามว่า “พี่เอาเวลาที่ไหนเขียน Blog” ซึ่งผมมักตอบคู่สนทนาแบบกำปั้นทุบดินว่า “จัดเวลาเขียนครับ” และคู่สนทนาก็มักจะแอบกระโดดถีบผมในใจด้วยความหมั่นไส้ แต่จะถีบก็คงต้องปล่อยพี่เขาไป เพราะผมมองว่าการเขียน Blog เป็นเรื่องสำคัญของผม ผมจึงให้เวลากับมัน
ท่ามกลางความสะใจวันนี้ พอผมกลับมาถึงบ้าน ก็รู้สึกว่าผมจะตอบคำถามยียวนกวนประสาทคู่สนทนาแบบนี้ต่อไปบ่อยๆ คงไม่ดี จึงคิดว่าต้องให้คำแนะนำที่มันเป็นขั้นเป็นตอนจับต้องได้สักหน่อย เผื่อมันจะมีประโยชน์กับคนที่ชอบการเขียน Blog หลายๆ คน
1. ประหยัดเวลาคิดหัวข้อด้วยการจดโน้ต – ปัญหาของการเขียน Blog ส่วนใหญ่เรามักจะหมดเวลาราว 80 – 90% ไปกับการคิดประเด็น ลงมือเขียนจริงๆ แค่ 10-20% ของเวลาเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ผมจะไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีแอปพลิเคชั่นจดบันทึกความทรงจำต่างๆ มากมาย ส่วนตัวผมชอบใช้ Evernote เพราะมันซิงค์กับคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนที่ผมใช้อยู่ เวลามี “ไอเดียปิ๊งแว๊บ” ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็จดเอา และพอถึงเวลาเขียนจริงๆ ก็แค่เปิดขึ้นมาอ่านว่าเราอยากจะเขียนอะไร และเราจะใช้เวลาไม่นานสำหรับบทความนั้นๆ
2. ฝึกให้เป็นนิสัย ด้วยมุข “ที่เก่าเวลาเดิม” – ถ้าเราสร้างนิสัยให้ตัวเราคุ้นเคยว่า เดี๋ยววันจันทร์ พุธ ศุกร์เวลาห้าทุ่ม เราจะใช้เวลาราวๆ 1 ชั่วโมงในการเขียน และนั่งตรงนี้ที่เดิมที่เก้าอี้ที่เราคุ้นเคย ทำสภาพแวดล้อมให้เหมือนเดิม มันก็จะเอื้อให้เราเขียนงานได้สะดวกขึ้น เพียงคุณจัดเวลาที่คุณพร้อมแล้วทำซ้ำเรื่อยๆ จนเป็นนิสัย ถ้าคุณทำได้ ต่อไปคุณจะเขียนได้คล่องเองโดยไม่ต้องมานั่งคิดงานนานๆ
3. ประหยัดเวลาหารูปภาพ – หนึ่งในกระบวนการเขียน Blog คือการค้นหารูปภาพมาประกอบบทความ ถ้าเราทำเนื้อหาเอง ถ่ายภาพเอง อันนี้ก็จะง่าย แต่สำหรับใครที่คิดและเขียนออกมาโดยยังไม่มีรูปภาพประกอบ ผมแนะนำว่าให้คุณซื้อภาพประกอบมาใช้เลยครับ เช่น iStockPhoto, 123RF เราค้นๆ ไปรูปแนวที่อยากได้ก็มักจะออกมาเอง ทางทีมงานเขาจัดไว้ให้แล้ว
4. ปิด Notification – เวลาเขียนหนังสือบางคนชอบเขียนเงียบๆ บางคนชอบฟังเพลงไป เขียนไป แต่มันคงน่ารำคาญพิลึกถ้าหากเราไม่ปิด Social Network ของเราที่คอยส่ง Notification ออกมาดังติ๊งๆๆๆๆๆๆๆๆ ผมมักจะปิดไปเลย มือถือก็ปิด Notification ครับ เคยลองแล้วเวิร์คกว่าการเปิดให้ทุกคนส่งข้อความหาเราได้ ผมเขียนเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว
5. วางแผนปฎิทินการเขียนระยะยาว – Blog ที่ผมเขียนจะมี 2 แบบคือแบบที่เขียนสต๊อกเอาไว้ได้ กับแบบที่ต้องเขียนขึ้นเดี๋ยวนั้นเลย เพราะมันเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น ถ้าไม่รีบนำเสนอตอนนี้ตลาดจะวาย ผมเลยชอบวางแผนเรื่องที่จะเขียน (editorial calendar) เอาไว้ล่วงหน้านานๆ บางทีเป็นเดือนก็มีครับ เมื่อเราวางแผนดีแล้ว พอถึงเวลาถ้าเราไม่มีเรื่องใหม่ๆ เสียก่อน เราก็ยังทำตามแผนที่วางไว้ได้
หวังว่าจะพอนำไปใช้ได้นะครับ
เกี่ยวกับคอลัมน์ Digital tips: สมัยนี้เวลาคนเราน้อยลง การอ่าน Best Practice ต่างๆ ใน thumbsup จะช่วยให้คุณทำงานได้ดีขึ้น แต่ Best Practice ที่เขียนกันมาทีนึงก็ย๊าวยาว (ใครจะมีเวลาอ่านอะไรยาวๆ ถ้าอย่างนั้น?) จะดีไหมถ้ามีคอลัมน์รายสะดวก (รายสัปดาห์ ถ้าเป็นไปได้) ในการแชร์ประสบการณ์เชิง tips & tricks ของคนทำงานธุรกิจดิจิทัลแบบสั้นๆ อ่านได้ง่ายจบในไม่กี่อึดใจ ไม่เยิ่นเย้อ แต่ตกตะกอนมาแล้ว ก็คงจะเป็นประโยชน์กับ thumbsupers ไม่มากก็น้อย