Site icon Thumbsup

ทำความรู้จัก China Mobile กับเทคโนโลยี 5G ที่ TRUE จะถอดบทเรียนมาใช้งานในไทย

เรื่องของ 5G นั้น ไม่ว่าจะประเทศมหาอำนาจรายใดต่างก็พยายามจะตัดริบบิ้นประกาศให้โลกรู้ว่าเรามาก่อน แต่ก็ยังไม่ภาพชัดว่าจะเดินหน้าไปในทางไหน ทีมงาน thumbsup ได้รับเกียรติจากทาง TRUE และ China Mobile ไปรับชมนวัตกรรมและการเดินหน้า 5G ของประเทศจีนที่มีการทดสอบและค่อยๆ ปรับใช้งานบ้างแล้วในบางเมืองกับบางเทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชนชาวจีนคุ้นเคยกับการผสมผสานเทคโนโลยีกับชีวิตประจำวัน

ทำความรู้จัก China Mobile

หากเปรียบ China Mobile กับบริษัทโทรคมนาคมในไทยต้องเรียกว่าเป็นพี่ใหญ่ของประเทศจีนที่มีสัดส่วนลูกค้ากว่า 925 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 1,397 ล้านคน มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 70% ส่วนคู่แข่งทางธุรกิจของไชน่าโมบายมีอีก 2 รายคือ China Unicom ที่มีจุดเด่นด้าน CDMA, Wireless Paging, GSM Mobile Operator ล่าสุดกับ 4GTDD และเทคโนโลยีต่างๆ มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 20% อีกรายคือ China Telecom ที่เน้นการให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 10%

อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลจีนนั้นจัดสรรการทำงานของทั้ง 3 โอเปอร์เรเตอร์ให้มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน คล้ายจะแข่งขันกันแต่จะไม่แย่งซีนกัน ทำให้การวางกลยุทธ์ทางธุรกิจของทั้ง 3 โอเปอร์เรเตอร์นั้น ต้อง “ปรึกษา” คณะรัฐบาลก่อนเพื่อให้ทุกธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและควบคุมได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุใดๆ ขึ้น

นอกจากนี้ ทั้ง 3 โอเปอร์เรเตอร์ยังไม่ต้องกังวลเรื่องใบอนุญาตค่าคลื่นความถี่เหมือนในไทย เพราะรัฐบาลจัดสรรให้แต่ละช่วงความถี่ให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้งาน เช่น ย่านความถี่ 2600 MHz ได้คลื่นจำนวน 160 MHz หรือ ย่านความถี่ 4900 MHz ได้คลื่นจำนวน 100 MHz เพื่อนำไปใช้พัฒนา 5G เป็นต้น (อ่านตารางคลื่นของไชน่าโมบายที่นี่)

ดังนั้น แต่ละโอเปอร์เรเตอร์ก็ต้องพยายามงัดทุกความสามารถออกมาพัฒนาสินค้าแรงบริการให้ลูกค้าใช้งานและธุรกิจเติบโตได้เร็ว ตามที่คณะรัฐบาลได้ตั้งความหวังไว้ เพื่อให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีได้อย่างแท้จริง ลบภาพความเป็นสินค้าของก็อปและเมืองที่ล้าหลังให้ได้

หากใครที่ได้ไปประเทศจีนในช่วงนี้ จะพบว่าภาพรวมการคมนาคม การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ และสินค้าด้านเทคโนโลยีภายในประเทศจีนไม่ได้คร่ำครึหรือลอกเลียนแบบอีกต่อไปแล้ว

ตัวอย่างเคสที่เฉิงตู-เซี่ยงไฮ้

ทางผู้เขียนได้เดินทางไปที่เมืองเฉิงตูเพื่อดูการพัฒนาและเดินหน้าเมืองนี้ด้วย 5G ของทางไชน่าโมบาย ด้านข้อมูลคร่าวๆ ของเฉิงตู คือ เฉิงตูมีประชากรราว 55 ล้านคน อยู่ในภาคตะวันตกของประเทศจีน เช่นเดียวกับอีกสองเมืองคือ ฉงชิ่งและซีอาน ขนาดของพื้นที่ในเฉิงตูนั้น อยู่ที่ 14,378 ตารางกิโลเมตร

สำหรับการลงทุนของไชน่าโมบายที่เมืองเฉิงตูนั้น มีการเริ่มต้นติดตั้งเสาสัญญาณเพื่อการทำงานของ 5G อยู่ที่ 3,000 จุด แต่ก็มีเสาสัญญาณของ 4G ครอบคลุมกว่า 1.6 แสนสถานีฐานแล้ว ซึ่งเสาเหล่านี้ใช้ทำงานร่วมกันได้ การเลือกติดตั้งเสาสัญญาณเพิ่มนั้น จะดูที่ความหนาแน่นในการใช้งานและความเหมาะสมในการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ทำให้ในบางจุดของเมืองมีความเร็วเพิ่มขึ้น 20 เท่าเมื่อเทียบกับ 4G

โดยการใช้งานเครือข่ายนั้น จะเป็นการทำงานแบบผสมผสานระหว่างหลายคลื่นหลายเทคโนโลยี จากภาพนี้จะเห็นว่าทุกนวัตกรรมต้องใช้งานร่วมกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น 4G+5G, 5G+AICDE, 5G+Ecology ซึ่ง 5G สามารถทำงานร่วมกับหลายๆ เทคโนโลยีเพื่อประกอบกันให้ได้ขีดความสามารถในการทำงานที่สูงสุด

ทางด้านกลยุทธ์ของไชน่าโมบายที่จะเดินหน้าเรื่อง 5G นั้น จะเน้นการทำงานผ่าน 5 เทคโนโลยี คือ AI, IoT, Cloud, Big Data และ Edge ซึ่งจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Transportation, Healthcare, Financial, Education, Smart Farmer เป็นต้น

ด้วยความสามารถของสมาร์ทโฟนในยุคนี้ จึงเปรียบได้กับ 1 คนคือ 1 สัญญาณ ทำให้จำนวนผู้ถือสมาร์ทโฟนกว่า 15 ล้านคนในเฉิงตูเทียบเท่ากับ 15 เสาสัญญาณเคลื่อนที่ ซึ่งระบบหลังบ้านจะมีการเก็บข้อมูลว่าผู้ใช้งานแต่ละคนกำลังเดินทางไปที่ไหน ใช้เส้นทางใด มีพฤติกรรมการเข้าใช้งานเครือข่ายมากน้อยแค่ไหน ทำให้ทราบว่าพื้นที่ใดมีกลุ่มผู้ใช้งานหนาแน่น ช่วงเวลาใดมีคนใช้งานเครือข่ายสูงสุด ทำให้ไชน่าโมบายสามารถเลือกเข้าไปติดเสาสัญญาณเพิ่มเติม เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้าได้อย่างเหมาะสม และไม่ติดปัญหาเข้าใช้งานเครือข่ายไม่ได้ รวมทั้งภาคธุรกิจยังสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้วิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าได้ด้วยว่า เช่น ห้างสรรพสินค้าจะทราบว่าช่วงเวลาไหนมีคนเดินทางมาที่ห้างเยอะสุด สามารถจัดโปรโมชั่นที่เหมาะสมให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ด้วย

ภาพนี้คือตัวอย่างการทำงานของไชน่าโมบายร่วมกับรัฐบาลในการทำ Analytic ที่เขาเหลียงซานโดยทำร่วมงาน 7 หน่วยงานรัฐบาล เน้นที่ 4 เรื่องหลักคือ ช่วยเหลือคนยากจน, ดูแลความปลอดภัย, สาธารณสุขและการเงิน โดยมีการค้นหาประชากรในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลทราบว่าภายในเขาเหลียงซานว่ามีชุมชนอยู่ที่จุดใดบ้าง ความหนาแน่นของแต่ละหมู่บ้าน ความเป็นอยู่ของประชากร เพื่อให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด และพบว่ามีจำนวนประชากรในเขาเหลียงซานกว่า 75,595 คนกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ มีกลุ่มคนยากจนกว่า 1.6 หมื่นครัวเรือน ซึ่งโครงการนี้ทำมาแล้ว 2 ปีแล้ว และรัฐบาลจีนก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชากรให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่า 45 ตำบลแล้ว

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การติดตั้งกล้องไว้ที่หมวกสำหรับคนงานที่ต้องเข้าไปสำรวจในพื้นที่งานต่างๆ โดยหมวกนี้จะมีซิม 5G ใส่ไว้พร้อมเป็น Walkie Talkie ให้หน่วยงานส่วนกลางคอยสั่งงานพนักงานที่เข้าไปในพื้นที่จริง โดยซิมจะเชื่อมกับเสาสัญญาณที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทำให้คุยกันได้เหมือนโทรศัพท์และไม่รบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย

นอกจากนี้ ระบบหลังบ้านยังเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทำให้หน่วยงานส่วนกลางสามารถแจ้งให้พนักงานในพื้นที่ที่ต้องเข้าไปตรวจสอบในกรณีต่างๆ ปลอดภัยและไม่ต้องเข้าไปเสี่ยงในพื้นที่ที่มองไม่เห็นได้ด้วย

ตัวอย่างในระบบโรงไฟฟ้าพลังงาน ที่จะมีการตรวจสอบพื้นผิวใบพัดให้ราบรื่นและปั่นมาผลิตไฟให้เรา ถ้าผิวใบพัดไม่เรียบพอ เมื่อโดนน้ำบ่อยๆ ปริมาณมากๆ ใบพัดก็ย่อมที่จะสึกหรอได้ ดังนั้นก่อนการใช้งาน จะมีการเช็คว่าผิวใบพัดเนียนเรียบดีไหม

สมัยก่อนหากใช้แรงงานคนตรวจสอบจะใช้เวลา 2-3 วันกว่าจะเสร็จ ตอนนี้ใช้กล้องคุณภาพสูงมาเช็คและเปรียบเทียบจากไม่กี่วันเป็นไม่กี่นาที จริงๆ จะนำอุปกรณ์นี้ไปเช็คอะไรก็ได้ แต่การใช้ AI เข้ามาช่วยเช็ค สามารถช่วยลดเรื่องต้นทุนในการทำงาน

พอมาใช้ 5จี ระบบจะสามารถบอก status ของอุปกรณ์ที่ไหลผ่าน ถ้ามี accident กดปุ่มปิดหรือเปิดปุ่มคอนโทรลได้ทันทีจากส่วนกลาง มีเซนเซอร์ วาล์ว ปั๊ม สามารถสร้างและซ่อมผ่านระบบส่วนกลางทันที การทำงานแบบนี้ต้องมีแบนด์วิธที่สูงมากเพื่อให้การสั่งงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ทางด้านของการจราจร อันนี้เป็นตัวอย่างระบบตรวจจับการเดินรถบนท้องถนน และคำนวณว่าขณะนั้นมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง โดยกล้องจะจับภาพบนถนน ระบบ AI จะวิเคราะห์และบอกว่า subject ที่ปรากฏในภาพขณะนั้นคืออะไร ในช่วงเวลานั้นๆ บ้าง เพื่อคำนวณช่วงเวลานั้น ปริมาณรถบนท้องถนนหนาแน่นแค่ไหน และสามารถปล่อยสัญญาณไฟได้เหมาะสมกับปริมาณรถสะสมบนท้องถนน หรือกำลังเกิดเหตุการณ์ใดที่ต้องชะลอการปล่อยสัญญาณไฟ ทำให้สามารถปล่อยสัญญาณไฟได้แบบไดนามิค ซึ่งมีการใช้งานจริงแล้วที่เมืองซูโจว

ด้านเอนเตอร์เทนเม้นท์นั้น ในเฉิงตูมีผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นของไชน่าโมบายเพื่อดูทีวีกว่า 12 ล้าน Subscriber เป็นกลุ่มคนที่ดูทีวีกว่า 1,150,000 ครอบครัว เป็นการดูผ่านจอทีวี 201,000 เครื่อง ดูผ่านระบบ 4K มากถึง 2,000,000 คน และมีรีโมทที่สามารถสั่งงานด้วยเสียงและภาพแบบเปลี่ยนช่องตามการใช้งานได้ทันที รองรับสำเนียงภาษาจีนแมนดาริน จีนเสฉวนและภาษาอังกฤษได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร สำเนียงแบบไหนก็ตาม

ซึ่งทางไชน่าโมบายมีประเภทคอนเทนต์ที่เหมาะกับแต่ละกลุ่มธุรกิจให้นำไปใช้งาน

ล่าสุดก็ได้มีการเข้าถือหุ้น MIGU บริษัทสตาร์ทอัพด้านคอนเทนต์รายใหญ่ของจีน ที่มีประเภทคอนเทนต์ครอบคลุมทุกด้านไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ ซีรี่ส์ การแสดงสด กีฬา การ์ตูน คอนเสิร์ต เป็นต้น โดยจำนวนคอนเทนต์ทั้งหมดจะรับชมผ่านแอพพลิเคชั่นของ MIGU ซึ่งจะแยกเนื้อหาเฉพาะตามความสนใจของผู้ใช้งาน ทำให้ตอนนี้ MIGU มีกว่า 9 แอพพลิเคชั่นแล้ว

โดยประเภทของคอนเทนต์อาจจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่ความสามารถหลังการมี 5G ของไชน่าโมบายเข้ามาคือ ผู้ชมจะสามารถรับชมเนื้อหาได้ในความละเอียดแบบ 8K ถ่ายทอดความรู้สึกของนักแสดงได้ชัดเจนและละเอียดมากขึ้น ความมีส่วนร่วมของผู้ชมในคอนเทนต์ประเภทคอนเสิร์ตและกีฬาจะชัดเจนและใกล้ชิดมากขึ้น

จากบทความนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศจีนเต็มที่ในการผลักดันเรื่อง 5G อย่างแท้จริงและเข้าถึงในทุกอุตสาหกรรมเลยทีเดียว อยู่ที่ว่าใครจะปรับตัวได้เร็วและนำไปใช้งานได้ก่อน บทความหน้าเราค่อยมาติดตามกันว่า TRUE พาร์ทเนอร์อีกรายหนึ่งของไชน่าโมบายจะหยิบเทคโนโลยีใดมาใช้งานในไทยบ้าง