วันนี้คนส่วนใหญ่สื่อสารบนเครือข่ายสังคม ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน ข้อความเนื้อหาจำนวนมหาศาลบนโลกโซเชียลทำให้เราเห็นความผิดพลาดมากมายที่ทำให้การสื่อสารบนเครือข่ายสังคมไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร สะท้อนบทเรียนว่า 6 ข้อต่อไปนี้คือสิ่งที่นักการตลาดควรหลีกไกลเพื่อไม่ต้องช้ำใจกับภาวะทำตลาดผ่าน social media ไม่สำเร็จ
1. content เดียวเปรี้ยวทุกงาน
content ไม่ใช่สิ่งที่สามารถเรียกได้ว่า one-size-fits-all เพราะต่างคนต่างก็ต้องการเสพ content ที่ต่างกัน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การเขียนหรือสร้าง content ขึ้นใหม่เพื่อใช้กับแพลตฟอร์ม social media แต่ละแห่งจึงเป็นทางออกทำให้มั่นใจได้ว่า เหล่า follower จะไม่เบื่อหน่ายกับข้อความเดียวกันที่ปรากฏในหลายช่องทาง
2. เนื้อหาไม่เหมาะสม
เรื่องราวที่เราคิดว่าตลก หลายคนอาจไม่คิดแบบนั้น ขณะที่เรื่องราวที่เราคิดว่าดีงาม หลายคนอาจไม่เห็นด้วยเช่นกัน ดังนั้นขอให้ทุกคน “Think before you tweet” คิดก่อนโพสต์ข้อความใดโดยต้องไม่ลืมว่าคนร้อยคนสามารถคิดเห็นได้ร้อยทาง ซึ่งบางข้อความแทนที่จะถูกเชิดชูในแง่บวก ก็อาจถูกพลิกขึ้นมาเป็นเรื่องดราม่าได้ตลอดเวลา
3. วางแผนกำลังคนผิด
ต้องยอมรับว่าทุกแผนงานสามารถมีช่องโหว่ได้ตลอดเวลา และเมื่อลงมือทำตามแผนก็พบว่ามีหลายปัจจัยทำให้ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เหตุนี้หลายบริษัทจึงไม่เพียงวางแผนเฉพาะไอเดีย แต่ต้องมีการกำหนดนโยบาย ตารางประชาสัมพันธ์ content ที่ต่อเนื่อง รวมถึงการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบของทีมงาน ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ความขลังของ content สามารถต้องตาต้องใจเหล่า follower ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
4. ไม่ยอมลงทุน
หลายองค์กรเลือกที่จะไม่จ้างมืออาชีพขึ้นมาทำ social media แต่เลือกใช้คนที่ไม่มีประสบการณ์ที่สามารถถ่ายรูปแล้วโพสต์บน Instagram แล้วจบไป จุดนี้มีความเป็นไปได้สูงที่องค์กรนั้นจะไม่สามารถสร้าง impact ได้ดีเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับคนที่ยอมจ้างทีมการตลาด ทีมพีอาร์ ทีมบริการลูกค้า หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องอื่นซึ่งเชี่ยวชาญวิธีการบอกเล่าเรื่องให้โดนใจ
5. ตอบสนองไม่ทั่วถึง
หลายครั้งที่แคมเปญ social media เป็นไปตามเป้าหมายทุกอย่าง แต่กลับมาตายตอนจบเรื่องการตอบสนองผู้สนใจในแคมเปญนั้น การสอบตกเรื่องการโต้ตอบนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เนื่องจากนักการตลาดสื่อสารควรรู้ว่าหัวใจของการสื่อสารบน social media ก็คือการโต้ตอบที่รวดเร็วทันใจ
6. โพสต์แบบโยนหินถามทาง
หลายบริษัทรู้ดีว่า target audience หรือกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร แต่บริษัทจำนวนไม่น้อยยังสับสนในเรื่องนี้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่นักสื่อสารของทุกบริษัทควรรู้ คือใครที่ใช่และไม่ใช่ลูกค้าของบริษัท เมื่อทราบแล้วจะได้ไม่ต้องเสียเวลากับการโพสต์แบบสุ่มมั่ว ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ follower บางรายสับสนไปด้วย
ที่มา: PRDaily